เข็มทิศลงทุนธุรกิจโรงแรมไซส์เล็ก

แม้ภาพรวมธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น แต่การแข่งขันก็รุนแรงเช่นกัน ไม่เฉพาะเชนโรงแรมใหญ่ ผู้ประกอบขนาดกลางและเล็กต่างมุ่งนำเสนอราคาห้องพักในราคาจับต้องได้ เพื่อรักษาระดับจำนวนลูกค้าเข้าพักตลอดทั้งปี

หลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นผู้ประกอบขนาดกลางและเล็กในธุรกิจโรงแรมพยายามปรับปรุงขีดความสามารถการแข่งขันในธุรกิจนี้เพื่อสร้างประสบการณ์เข้าพักที่ดีแก่ลูกค้า อย่างไรก็ตาม หากมองโอกาสและวิธีดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ย่อมมีสูตรการบริหารงานที่แตกต่างกันไป ทีนี้มาลองดูว่า 10 แนวทางที่ผู้ประกอบการน่าจะนำไปปรับใช้ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจต่อไป มีอะไรบ้าง

1. แน่นนอนว่า โอกาสความสำเร็จอยู่ที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มเข้ามาเรื่อย ๆ ในประเทศไทย ซึ่งตัวเลขการเติบโตของนักท่องเที่ยวก็มีมากขึ้นทุกปี ดังนั้นธุรกิจนี้จึงเชื่อมโยงกับลูกค้าที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในปริมาณที่มากขึ้น

2. นักท่องเที่ยวประเภทมาคนเดียว ฉายเดี่ยว มาเองแบบไม่ใช้ทัวร์มีมากขึ้น จากแต่เดิมมีแต่แบบ “Backpackers” แต่ในปัจจุบันมีความหลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะที่ใช้เงินแต่น้อยเท่านั้น นักท่องเที่ยวประเภทนี้ไม่ใช่มีเฉพาะชาวยุโรป แต่รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ในเอเชีย แม้แต่ประเทศจีนก็มีนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ที่เป็นอิสระมากขึ้น

3. ทำเลที่จะประสบความสำเร็จก็คือ ทำเลที่อยู่ในพื้นที่เมืองเก่า ที่มีเสน่ห์สำหรับนักท่องเที่ยว เช่น แม้แต่ในชุมชนแออัดเดิมหลังวัดราชนัดดา หรือชุมชนอื่น ๆ ก็สามารถดัดแปลงมาเป็นโรงแรมขนาดเล็ก ๆ ได้เช่นกัน กลิ่นอายของเมืองโบราณเป็นเสน่ห์สำคัญ ไม่ใช่ว่าต้องแปลงบ้านเก่า ๆ เดิม ๆ สมัยรัชกาลที่ 5 มาทำเป็นโรงแรมแล้ว แม้แต่บ้านไม้เก่า ๆ ในสลัม หรือแม้แต่ตึกแถวเก่า ๆ ก็สามารถดัดแปลงมาทำเป็นโรงแรมได้

4. ทำเลที่อยู่ติดรถไฟฟ้า แม้จะไม่ได้มีกลิ่นอายของเมืองเก่า แต่ทำให้การเดินทางไปตามจุดต่าง ๆ สามารถไปได้ง่าย ก็เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของธุรกิจโรงแรมขนาดเล็ก ๆ ได้เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันเราได้เห็นที่พักอาศัยบริเวณรถไฟฟ้าที่เปิดใช้แทบทุกสถานีมีโอกาสทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นบีทีเอส เอ็มอาร์ที หรือแม้แต่สายใหม่ ๆ อย่างสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว (บีทีเอส) ส่วนขยาย เป็นต้น แต่ยังไม่แนะนำให้ไปทำบริเวณสายสีม่วง ซึ่งยังไม่สะดวกในการเดินทาง

5. ชานเมืองที่ไม่มีระบบขนส่งมวลชน ไม่ควรไปทำโรงแรมอย่างเด็ดขาด เช่น มีนบุรี หนองจอก ลำลูกกา ทั้งนี้อาจมีบางคนคิดทำเป็นโรงแรมแบบรีสอร์ตบ้าง แต่หลายแห่งก็ปิดตัวไปแล้วมากมาย ดังนั้นโอกาสประสบความสำเร็จทำได้ยากมาก แม้แต่พวกโฮมสเตย์ในชุมชนชานเมืองก็ไม่น่าจะประสบความสำเร็จ มีกลุ่มลูกค้าที่คัดสรรจนเหลือปริมาณน้อยเกินกว่าที่จะประสบความสำเร็จได้ (ยกเว้นทำแก้เหงา) โรงแรมที่ทำได้คงเป็นโรงแรมม่านรูดที่ต้องการมีบรรยากาศแบบ “ลับ ๆ ล่อ ๆ” มากกว่า

6. ถ้าในต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวก็เป็นในเขตเมืองเก่า เขตที่มีแหล่งท่องเที่ยวมากก็สามารถดำเนินการได้ ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย ภูเก็ต ฯลฯ แต่ถ้าเป็นในเมืองที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดให้ชาวต่างชาติเดินทางไปเที่ยวได้จริง ๆ ก็ไม่ควรทำโรงแรมอย่างเด็ดขาด เมืองที่มีนักท่องเที่ยวไปน้อยและใจกลางเมืองไม่มีสิ่งดึงดูดนัก การทำโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยวจึงมีโอกาสน้อยมาก ยกเว้นโรงแรมสำหรับนักเดินทาง เช่น บรรดานักขายของสินค้ายี่ห้อต่าง ๆ เป็นหลัก

7. ความสำเร็จของโรงแรมที่จะดำเนินการสำหรับนักท่องเที่ยวนั้นสามารถแปลงอพาร์ตเมนต์ให้เช่าได้ หรืออาจแปลงตึกแถวมาแบ่งเป็นห้องเช่าแบบโรงแรมก็ยังทำได้เช่นกัน และบางครั้งยังสามารถแปลงเป็นห้องเช่ารวม (Dormitory) เป็นต้น

8. บทเรียนที่ผ่านมา การหวังทำธุรกิจแบบโฮมสเตย์ในพื้นที่การท่องเที่ยวที่ไม่ได้ติดอันดับต้น ๆ ของประเทศอาจทำได้ยาก ทำนองเดียวกับการทำโรงแรมแบบรีสอร์ตในแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ใช่อันดับ 1-10 ของประเทศ ก็มักไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน ดังนั้นการทำโรงแรมแบบ Conventional Hotel ให้มีการจัดงานประชุม-สัมมนา ต้องอาศัยเครือข่ายกับส่วนราชการ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ต้องต่อสู้ช่วงชิงมากเป็นพิเศษ โดยโรงแรมตามลักษณะเดิม ๆ อย่างนี้จึงไม่ควรทำ

9. ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ไม่เคยมีมาก่อนก็คือ การขายผ่านเว็บไซต์โรงแรมชื่อดังทั้งหลาย เช่น Agoda, Booking และอื่น ๆ ซึ่งทำให้เราสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทันที การที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายถึงประมาณ 16-20% เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น แต่ก็คุ้มค่ากับการใช้บริการเหล่านี้ เพราะโอกาสที่โรงแรมเล็ก ๆ จะประสบความสำเร็จในการเข้าถึงลูกค้าทั่วโลกมีโอกาสน้อยมาก และด้วยสื่อเหล่านี้ โรงแรมเล็ก ๆ จึงได้เปรียบโรงแรมใหญ่ในการหาลูกค้าด้วยซ้ำไป

10. ปัจจัยสุดท้ายก็คือตัวโรงแรมเอง ที่แม้จะทำแบบเรียบง่าย แต่ก็ควรเรียบหรู มีสิ่งที่น่าประทับใจตั้งแต่การออกแบบที่ดูเตะตา (แต่ไม่ต้อง Over) การต้อนรับขับสู้ที่ดี บริการพ่วงที่ดีเกินคาด เช่น บางแห่งมีบริการซักผ้าให้ฟรี สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการใช้ซ้ำและการบอกต่อ โดยที่เราจะได้เปรียบนอกเหนือจากการได้รับการแนะนำจากเว็บไซต์โรงแรมระดับโลกทั้งหลาย

การทำโรงแรมขนาดเล็กแบบ “เล็กพริกขี้หนู” จึงมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงตามปัจจัยทั้ง 10 ข้างต้น และผมมองว่าโอกาสแห่งความสำเร็จของโรงแรมไม่ได้พิสดารอะไร ทุกคนทำได้ถ้าตั้งใจ

 ดร. โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด
ผู้เขียน : ดร. โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด