เปิดวิสัยทัศน์แม่ทัพใหญ่ ‘เบทาโกร’ วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ กับข้อคิดที่ว่า “การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา”

 “การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นต้องมองไปว่าในอนาคตจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่ โดยใช้หลักดำเนินธุรกิจด้วยคำว่า Whats Next ซึ่งทั้งหมดนี้จะถูกถ่ายทอดออกมาเป็นความยั่งยืนขององค์กร

ปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้อย่างต้นทุนพลังงาน และภาวะขาดแคลนอาหารทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่ของการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการเกษตรต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้ยืดหยุ่นขึ้น เพื่อให้สามารถรับมือกับภาวะเหล่านี้ให้ได้ ซึ่งผู้ที่จะสามารถเติบโตได้ท่ามกลางวิกฤตต้องมีผู้นำที่เก่งกาจ เต็มไปด้วยกลยุทธ์ที่จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการทำกำไรระยะยาวเพื่อให้บริษัทฯ เติบโตได้อย่างยั่งยืน

‘เบทาโกร’ ผู้ประกอบธุรกิจอาหารและเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจรชั้นนำระดับ World-Class เป็นหนึ่งในบริษัทที่ประสบความสำเร็จทั้งแง่ของผลการดำเนินงานและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ที่ได้รับการยอมรับภายใต้การนำของ คุณวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ แม่ทัพรุ่นที่ 2 ของ ‘เบทาโกร’

คุณวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ ‘Business+’ ว่า ผลการดำเนินงานของเบทาโกรในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 มียอดขายรวมประมาณ 54,193 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตมากกว่า 26.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยสาเหตุที่ทำให้ยอดขายรวมเติบโตมาจากหลายปัจจัยที่เป็นตัวสนับสนุน ทั้งการปรับปรุงภายในองค์กร รวมไปถึงอุปสงค์ (Demand) ยังเพิ่มสูงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ หลังจากสถานการณ์เริ่มกลับมาอยู่ในภาวะปกติ ประกอบกับภาวะ Supply ของประเทศไทยเริ่มคงที่จึงทำให้ผลประกอบการโดยรวมถือว่าออกมาดีมาก

ขณะที่ในแง่ของการขยายธุรกิจนั้น บริษัทฯ สามารถทำได้ตามเป้าหมาย โดยทุกปีได้มีการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้การลงทุนในช่วง COVID-19 อาจจะชะลอตัวลงไปตามสถานการณ์ แต่เบทาโกรยังคงมี Output ที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจรชั้นนำระดับสากล

แนวทางในการบริหารธุรกิจแบบฉบับ เบทาโกร

คุณวสิษฐ กล่าวว่า ต้องเน้นการบริหารไปที่ประเด็นหลัก ๆ อาทิ

 

  • Purpose-driven การวางแผนเพื่อดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน และจำเป็นต้องสื่อสารกับพนักงานให้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์และความเชื่อขององค์กร
  • Data-driven โดยเบทาโกรจะเน้นเรื่องการเป็น Data-driven organization เป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้เบทาโกรมีจุดแข็งมากขึ้นจากการนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • Powering change โดยเบทาโกรได้ผนึกกำลังทั้งองค์กรในการสร้างการเปลี่ยนแปลงภายใน สร้างความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจ

 

โดยมีกรอบการขับเคลื่อนใน 5 ด้านสำคัญ ได้แก่

  1. Supply Chain Resilience คือการบริหาร Supply Chain เพื่อให้ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี ซึ่งที่ผ่านมาเบทาโกรมีระบบสนับสนุน Supply Chain มาโดยตลอด และต้องหา Initiative เพิ่ม เพื่อให้ระบบ Supply Chain อาหารมีความมั่นคง และส่งมอบอาหารคุณภาพสูงที่มากขึ้นให้กับผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง
  2. Digital Transformation โดยเบทาโกรมีกระบวนการ Digital Transformation จาก Concept ที่วางเอาไว้ตั้งแต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลังจากได้มองเห็นโอกาสของการนำ Digital เข้ามาปรับใช้กับกระบวนการจัดการตลอดทุกขั้นตอนและห่วงโซ่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถขับเคลื่อนด้วยฐานข้อมูลที่รวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น
  3. People Transformation โดยเบทาโกรต้องการเตรียมคนให้สามารถรองรับกับการที่องค์กรจะประยุกต์ใช้ Digital Technology เพื่อพัฒนาทักษะในด้านดิจิทัล และดึงศักยภาพของพนักงานออกมาให้เด่นชัดขึ้น รวมไปถึงการปรับโครงสร้างองค์กรด้วยการลดลำดับขั้นบันไดขององค์กรให้น้อยลง เพื่อให้เกิดการทำงานที่รวดเร็วขึ้น
  4. New Business ซึ่งเบทาโกรต้องการบริหารธุรกิจใหม่ ๆ หรือหา New S-curve ให้สอดคล้องตามความต้องการของตลาด เพื่อมองหาโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ ๆ
  5. Sustainability โดยเบทาโกรให้ความสำคัญในเรื่องของความยั่งยืน ด้วยการจัดการห่วงโซ่ให้มีความชัดเจนในเรื่องของการบริหารความยั่งยืน ทั้งในแง่ของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

ข้อคิดประจำตัวของคุณวสิษฐ

สำหรับข้อคิดประจำตัวของ คุณวสิษฐ มีอยู่ 2 เรื่องหลัก ๆ โดยข้อคิดข้อแรกคุณวสิษฐ ได้เรียนรู้มาจากคุณพ่อ นั่นคือ คุณชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ โดยข้อคิดที่ว่านี้คือปรัชญาที่จะต้องเน้นการดำเนินธุรกิจด้วยความถูกต้องมาก่อนกำไร

ซึ่งความถูกต้องหมายถึงการบริหารหรือตัดสินใจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การสร้างโรงงาน สร้างฟาร์ม หรือสร้างคน ซึ่งสิ่งเหล่านี้บริษัทฯ ต้องหาทางให้ลงทุนด้วยงบประมาณที่น้อย แต่สร้างกำไรได้เร็ว หรือหากเป็นกลยุทธ์ที่มีค่าใช้จ่ายสูงก็จะต้องสร้างกำไรให้บริษัทฯ ได้ในระยะยาว

เราไม่ได้มองว่า ต้องทำกำไรให้สูงตลอดเวลา ดังนั้นเราจึงไม่ได้มองแค่แผนระยะสั้น อย่างเรื่องของการลดต้นทุนเพื่อกำไรที่สูงขึ้นมากๆ แต่เราต้องมองไปว่า เราจะทำอย่างไรเพื่อเพิ่มความสามารถขององค์กร และผลักดันให้สินค้าของเรามีโอกาสตอบโจทย์ลูกค้าให้มากขึ้น ซึ่งสุดท้ายหากทำได้ตามแผนที่วางเอาไว้ทั้งหมดจะถูกสะท้อนไปที่ความสามารถในการทำกำไรเอง คุณวสิษฐ กล่าว

ข้อที่ 2 เป็นแนวคิดส่วนตัวของคุณวสิษฐที่มองว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นต้องมองไปว่าในอนาคตจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่ โดยใช้หลักดำเนินธุรกิจด้วยคำว่า What’s Next ตลอดเวลา ซึ่งทั้งหมดนี้จะถูกถ่ายทอดออกมาเป็น Core Values ขององค์กร ซึ่งค่านิยมองค์กรนี้เบทาโกรเรียกว่า PIPIQ

P คือ Professional รู้ลึก รู้จริง ซึ่งเบทาโกรเน้นการดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นมืออาชีพ โดยการใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริงและดิจิทัลในทุกภาคส่วนของธุรกิจ

I คือ Integrity ซื่อสัตย์ โปร่งใส เป็นธรรมบนความถูกต้องของหลักการและหลักธรรมาภิบาล เบทาโกรเป็นบริษัทที่เน้นความซื่อสัตย์ในการทำธุรกิจเป็นอย่างมาก โดยให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์ หรือความจริงใจในการทำธุรกิจร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า คู่ค้า หรือว่าคนที่เป็น Supplier สถาบันการเงิน หรือแม้แต่คนในองค์กร

P คือ People & Customer Centric ใส่ใจ รับฟัง ลูกค้าและเพื่อนร่วมงาน เคารพซึ่งกันและกัน​ โดยที่เบทาโกรต้องรับฟังคนขององค์กร รวมไปถึงการใส่ใจลูกค้า ซึ่งต้องใส่ใจทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กร

I คือ Innovation กล้าเปลี่ยน ท้าทายตัวเองทำสิ่งใหม่ ๆ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง​ โดยอุตสาหกรรมของเบทาโกรจำเป็นต้องใช้นวัตกรรมสูงมาก ทั้งในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่ม Values ของผลิตภัณฑ์ ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับการคิดค้นนวัตกรรมอยู่ตลอดเวลา

Q คือ Quality ยืนหยัดในคุณภาพ ใส่ใจทุกรายละเอียดและคำนึงถึงความยั่งยืน เบทาโกรเป็นบริษัทฯ ที่มี Core Values สำคัญคือเรื่องของคุณภาพ ซึ่งต้องคำนึงถึงคุณภาพตลอดทั้ง Value Chain ควบคู่กับการสร้างคุณค่าและศักยภาพการเติบโตที่ยั่งยืนร่วมกันทุกภาคส่วน

สิ่งแวดล้อม สังคม และพนักงาน Priority หลักของ เบทาโกร

คุณวสิษฐ กล่าวว่า พื้นฐานของเบทาโกรคือการจัดการเรื่องของ Food Value Chain ทั้งในส่วนของคุณภาพ และความปลอดภัย ซึ่งถือว่าเป็น Priority ที่สำคัญสำหรับเบทาโกรมาตลอดเวลา ซึ่งการให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนกลับมาตั้งแต่เรื่องของการจัดการ การลงทุน โดยเบทาโกรลงทุนโรงงานอาหารสัตว์ที่สะอาด ไม่มีกลิ่นรบกวน และมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคนทำงานต้องปลอดภัย

โดยเบทาโกรมีนโยบายที่สำคัญคือ S.H.E นั่นคือ Safety, Health and Environment โดยต้องคำนึงถึงมาตรฐานสากลในด้านวิศวกรรม ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม โดยใช้หลักการ 5 ส. เป็นตัวตั้ง รวมไปถึงการมุ่งสู่ World Class Branded Business อันเป็นเป้าหมายการเติบโตสู่ระดับสากล และจะสะท้อนออกมาด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย

นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงความพึงพอใจของลูกค้า ด้วยกระบวนการตรวจสอบโรงงานและอาหารให้ได้มาตรฐาน ขณะที่ในส่วนของพนักงาน เบทาโกรให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นอย่างมาก โดยที่ได้ใช้การบริหารจัดการในเรื่องของ HR Management ทั้งค่าใช้จ่ายและสวัสดิการ รวมไปถึงในแง่ของการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ของแต่ละส่วนงาน โดยที่จะมีการวาง Road Map เพื่อพัฒนาพนักงานอย่างชัดเจน

คุณวสิษฐ กล่าวถึงการพัฒนาแผนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) หรือ ESG ว่า เบทาโกรให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) จึงได้มีการบริหารเรื่องของการบำบัดน้ำเสีย เรื่องของขยะ และเรื่องของ Carbon footprint ซึ่งเป็นโครงการที่เบทาโกรจะทำต่อเนื่องไปในอนาคต

สำหรับโครงการที่เบทาโกรดำเนินการในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น โครงการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนถึง 40 เมกะวัตต์ ซึ่งให้สัดส่วนพลังงานกับบริษัทได้ถึง 6-8% ของการใช้ไฟฟ้าโดยรวมทั้งหมด และในอนาคตจะขยายไปถึง 52 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการเหล่านี้จะช่วยให้บริษัทฯ มีประสิทธิภาพด้านต้นทุนการใช้พลังงาน รวมไปถึงช่วยลด Carbon footprint ให้กับบริษัทได้

ขณะที่ในมุมของสังคม ทางเบทาโกรให้ความสำคัญกับเรื่องของผู้คนและชุมชนเป็นอย่างมาก โดยที่ผ่านมาได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เช่น ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ในระบบการผลิต โดยเบทาโกรมีผลิตภัณฑ์ เอสเพียว (S-Pure) ที่ได้รับการยอมรับ และได้รับการรับรองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะ จาก NSF เป็นรายแรกของโลกและของประเทศไทย

ซึ่งหากเบทาโกรสามารถลด Antibiotic ได้ต่อเนื่องจะส่งผลที่ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาว ขณะที่ในส่วนของ บรรษัทภิบาล (Governance) ทางเบทาโกรเน้นในเรื่องของความซื่อสัตย์และเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดเวลา

เป้าหมายของเบทาโกรภายใต้การนำทัพของคุณวสิษฐ

คุณวสิษฐ มองว่า เบทาโกรเองต้องเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการใหม่ ๆ ของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่ต้องให้ความสนใจกับความปลอดภัยและสุขภาพมากขึ้น โดยต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ออกมาตอบโจทย์เทรนด์การรักสุขภาพ นอกจากนี้ยังพุ่งเป้าหมายไปที่การเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ที่จะต้องทำควบคู่กันไป

นอกจากนี้ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ อย่างเช่น ภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งต้นทุนมีความผันแปรอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นบริษัทฯ จำเป็นต้องบริหารการจัดซื้อวัตถุดิบให้ดี ถึงแม้จะไม่สามารถควบคุมความผันแปรภายนอกเหล่านี้ได้ แต่ต้องอาศัยการเพิ่มประสิทธิภาพภายใน ด้วยการใช้เทคโนโลยีการผลิต และองค์ความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น

ขณะที่ต้องบริหาร Supply ให้มีความต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดความขาดแคลนในอาหาร เพื่อที่จะควบคุมไม่ให้เกิดภาระต่อผู้บริโภคหรือเกิดน้อยที่สุด

 

สำหรับใครที่ต้องการรับฟังบทสัมภาษณ์จากคุณสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สามารถรับชมได้ที่ : https://youtu.be/NlhtO1ZhhoY

 

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/o9fQ6fA

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

 

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #Betagro