เม็ดเงินโฆษณาในกลุ่มสื่อออนไลน์สะพัด

ความหลากหลายของสื่อออนไลน์ในยุคปัจจุบัน ที่มีทั้งโซเชียลมีเดีย โปรแกรมสำหรับแชท บล๊อก และเว็บไซต์ต่างๆ รวมถึงสื่อออนไลน์แต่ละประเภทยังพัฒนาคุณสมบัติให้ครอบคลุม

ตั้งแต่การติดต่อสื่อสาร การรับชมคอนเทนต์ ไปจนถึงการซื้อขายสินค้าและบริการ ประกอบกับพฤติกรรมของผู้คนที่ใช้เวลากับสื่อออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีแนวโน้มกระจายงบประมาณโฆษณามาสู่กลุ่มสื่อออนไลน์มากขึ้น และเม็ดเงินโฆษณาในกลุ่มสื่อออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

  • การพัฒนาแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ ประกอบกับความหลากหลายของคอนเทนต์ น่าจะขยายฐานผู้ชมวิดีโอออนไลน์ให้กว้างขึ้น รวมถึงผู้คนใช้เวลารับชมวิดีโอออนไลน์นานขึ้น โดยโฆษณารูปแบบวิดีโอออนไลน์มีความใกล้เคียงกับโฆษณาทางโทรทัศน์ อีกทั้งมีค่าโฆษณาในระดับที่ต่ำกว่า ไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เฉพาะเจาะจง รวมถึงมีทางเลือกในการโฆษณาหลายรูปแบบ
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาคธุรกิจมีแนวโน้มกระจายงบประมาณโฆษณามาสู่แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์มากขึ้น และโฆษณารูปแบบวิดีโอออนไลน์น่าจะมีบทบาทแข่งขันกับโฆษณาทางโทรทัศน์มากขึ้น
  •  เม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ในปี 2560 น่าจะคิดเป็นมูลค่า 12,000-12,500 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 21-26 จากในปี 2559 ที่คิดเป็นมูลค่า 9,882 ล้านบาท
  • การเข้าสู่ยุค Internet of Things ที่การดำเนินชีวิตของผู้คนเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตมากขึ้น สะท้อนถึงโอกาสในการยกระดับการโฆษณาออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในขณะที่ความท้าทายของกลุ่มสื่อออฟไลน์ในปี 2560 อยู่ที่การนำเสนอแพ็คเกจโฆษณาที่มีความคุ้มค่า เพื่อดึงดูดการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาจากภาคธุรกิจ

 

 

ปี’60 สื่อออนไลน์รุกแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์คาดโฆษณารูปแบบวิดีโอออนไลน์มีบทบาทแข่งขันกับโฆษณาทางโทรทัศน์มากขึ้นขยายฐานผู้ชม และใช้เวลารับชมยาวนานขึ้น

 

จากพฤติกรรมของผู้คนที่ใช้เวลากับสื่อออนไลน์มากขึ้น ทั้งการติดต่อสื่อสาร การรับชมคอนเทนต์ รวมถึงการซื้อขายสินค้าและบริการ ที่เริ่มเปลี่ยนผ่านมาสู่การทำกิจกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีแนวโน้มกระจายงบประมาณโฆษณามาสู่กลุ่มสื่อออนไลน์มากขึ้น

 

โดยทิศทางของกลุ่มสื่อออนไลน์ในปี 2560 ต่างมุ่งเน้นการแข่งขันช่วงชิงเม็ดเงินโฆษณา ด้วยการให้ความสำคัญกับการพัฒนาแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ โดยโซเชียลมีเดีย ทั้ง Facebook, Instagram และ Line รวมไปถึงเว็บไซต์ และผู้ผลิตคอนเทนต์ต่างๆ ได้เสริมฟีเจอร์การรับชมวิดีโอออนไลน์ ในขณะที่สื่อออนไลน์ที่ให้บริการรับชมวิดีโอออนไลน์เป็นหลัก อย่าง YouTube ได้พัฒนาฟีเจอร์การรับชม ทั้งการยกระดับความคมชัดของภาพ การถ่ายทอดสดวิดีโอ 3 มิติ และ 360 องศา การพัฒนาระบบเสียงรอบทิศทาง รวมถึงการนำเทคโนโลยีสตรีมมิ่งมาช่วยให้การรับชมการถ่ายทอดสดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การรุกพัฒนาแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ของกลุ่มสื่อออนไลน์ในปี 2560 ประกอบกับความหลากหลายของคอนเทนต์วิดีโอออนไลน์ ทั้งจากผู้ผลิตคอนเทนต์รายย่อยที่มีความคิดสร้างสรรค์ และจากผู้ประกอบการโทรทัศน์ที่นำรายการในระบบโทรทัศน์มาแพร่ภาพในรูปแบบวิดีโอออนไลน์ซ้ำ น่าจะขยายฐานผู้ชมวิดีโอออนไลน์ให้กว้างขึ้น รวมถึงผู้คนใช้เวลารับชมวิดีโอออนไลน์ยาวนานขึ้น ก่อให้เกิดรายได้ค่าโฆษณาที่เพิ่มสูงขึ้นสำหรับกลุ่มสื่อออนไลน์ที่พัฒนาแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ตามมา

 

ภาคธุรกิจกระจายงบโฆษณามาสู่แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ … คาดโฆษณารูปแบบวิดีโอออนไลน์มีบทบาทแข่งขันกับโฆษณาทางโทรทัศน์มากขึ้น

 

การโฆษณารูปแบบวิดีโอออนไลน์มีความใกล้เคียงกับการโฆษณาทางโทรทัศน์ในด้านการนำเสนอโฆษณาในรูปแบบภาพเคลื่อนไหว อีกทั้งการโฆษณารูปแบบวิดีโอออนไลน์มีข้อได้เปรียบการโฆษณาทางโทรทัศน์ ทั้งค่าโฆษณาในระดับที่ต่ำกว่า การไม่มีข้อจำกัดในด้านระยะเวลาการโฆษณา การเข้าถึงผู้ชมกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเฉพาะเจาะจง รวมถึงมีทางเลือกในการโฆษณาหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การเป็นสปอนเซอร์ ภาพนิ่งในตำแหน่งต่างๆ ของหน้าจอ ไปจนถึงภาพเคลื่อนไหวที่ผู้ชมสามารถเลือกรับชม หรือกดข้ามได้ โดยสามารถกำหนดการนำเสนอโฆษณาให้อยู่ตั้งแต่เริ่มต้น ระหว่าง หรือหลังการรับชมวิดีโอออนไลน์ได้

 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาคธุรกิจมีแนวโน้มกระจายงบประมาณโฆษณามาสู่แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ และโฆษณารูปแบบวิดีโอออนไลน์น่าจะมีบทบาทแข่งขันกับโฆษณาทางโทรทัศน์มากขึ้น โดยคาดว่า ในปี 2560 เม็ดเงินโฆษณาผ่าน YouTube ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์หลัก น่าจะอยู่ในกรอบ 2,200-2,400 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นได้ถึงเกือบสามเท่าตัวในระยะเวลาสามปี โดยภาคธุรกิจมีแนวโน้มกระจายงบประมาณโฆษณามาสู่ YouTube มากขึ้น สอดคล้องกับการใช้เวลารับชมวิดีโอออนไลน์ผ่าน YouTube ของคนไทยโดยเฉลี่ยต่อคนที่มากถึง 1.9 ชั่วโมงต่อวัน

 

 

ในขณะที่เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์น่าจะมีแนวโน้มลดลงอยู่ในกรอบร้อยละ 8-12 หรือคิดเป็นมูลค่าอยู่ในกรอบ 62,000-65,000 ล้านบาท โดยนอกจากสื่อโทรทัศน์จะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มที่ภาคธุรกิจกระจายงบประมาณโฆษณาไปสู่กลุ่มสื่อออนไลน์มากขึ้นในปี 2560 แล้ว ในภาวะที่มีจำนวนช่องรายการโทรทัศน์มากขึ้นในยุคทีวีดิจิตอล ยังส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณากระจายตัวไปตามทีวีดิจิตอลช่องต่างๆ อัตราค่าโฆษณาทางโทรทัศน์จึงยังอยู่ในระดับไม่สูงนักเมื่อเปรียบเทียบกับยุคทีวีอนาล็อก ส่งผลให้ผู้ประกอบการโทรทัศน์เผชิญความท้าทายยิ่งขึ้นในปี 2560 นี้

 

 

คาดเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ปี’ 60 แตะ 12,000 ล้านบาท ยุค Internet of Things สะท้อนโอกาสยกระดับโฆษณาออนไลน์ … ความท้าทายของสื่อออฟไลน์อยู่ที่การนำเสนอแพ็คเกจโฆษณาที่คุ้มค่า
คาดเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ปี’ 60 มูลค่า 12,000-12,500 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 21-26 … ยุค Internet of Things สะท้อนโอกาสในการยกระดับการโฆษณาออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพ

 

 

เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเข้าถึงโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยม อย่าง Facebook และ YouTube ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน พบว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีอัตราการเข้าถึง Facebook และ YouTube สูงเป็นลำดับต้นๆ ของภูมิภาค ซึ่งสะท้อนถึงอัตราการทำกิจกรรมต่างๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีแนวโน้มกระจายงบประมาณโฆษณามาสู่กลุ่มสื่อออนไลน์มากขึ้นในปี 2560 และส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาในกลุ่มสื่อออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเม็ดเงินโฆษณาในภาพรวม

 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ในปี 2560 น่าจะคิดเป็นมูลค่า 12,000-12,500 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 21-26 จากในปี 2559 ที่คิดเป็นมูลค่า 9,882 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาผ่าน Facebook และ YouTube คิดเป็นสัดส่วนรวมกันร้อยละ 47 ของเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์โดยรวม สะท้อนให้เห็นถึงการใช้งบประมาณโฆษณาออนไลน์ของภาคธุรกิจอย่างกระจุกตัวในสื่อออนไลน์ต่างชาติ

 

 

ซึ่งส่งผลให้มีหลากหลายประเด็นที่ยังต้องติดตามในระยะต่อไป ประกอบกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ ซึ่งเป็นผลมาจากการติดต่อสื่อสาร การรับชมคอนเทนต์ ไปจนถึงการซื้อขายสินค้าและบริการ ที่มีแนวโน้มทำกิจกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ยังส่งผลให้กลุ่มสื่อออนไลน์ของไทย เช่น ผู้ให้บริการ E-Commerce เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น เป็นต้น จำเป็นต้องเร่งพัฒนาคุณสมบัติ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันกับกลุ่มสื่อออนไลน์ต่างชาติ

 

 

ทั้งนี้ แนวโน้มการเข้าสู่ยุค Internet of Things ที่การดำเนินชีวิตของผู้คนในหลากหลายด้านเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ประกอบกับการพัฒนาอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ ทั้งรถยนต์ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน รวมถึงอุปกรณ์พกพาติดตัว เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต นาฬิกาข้อมือสมาร์ทวอทช์ เป็นต้น น่าจะส่งผลให้สื่อโฆษณาสามารถเข้าถึงข้อมูลเฉพาะบุคคลในเชิงลึกได้อย่างแม่นยำ

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กลุ่มสื่อออนไลน์สามารถนำข้อมูลเฉพาะบุคคลดังกล่าว มารวบรวมข้อมูลเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อนำมาวิเคราะห์และประมวลผล แล้วนำเสนอโฆษณาผ่านสื่อโฆษณาต่างๆ ในจังหวะเวลาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคลอย่างเฉพาะเจาะจง ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสในการยกระดับการโฆษณาออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถสร้างความคุ้มค่าในสายตาภาคธุรกิจ และกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายงบประมาณโฆษณาเพิ่มสูงขึ้นได้

 

กลุ่มสื่อออฟไลน์ปรับกลยุทธ์นำเสนอคอนเทนต์ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ความท้าทายอยู่ที่การนำเสนอแพ็คเกจโฆษณาที่คุ้มค่า ดึงดูดเม็ดเงินโฆษณาจากภาคธุรกิจ

 

กลุ่มสื่อออนไลน์ยังมีอัตราค่าโฆษณาที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจในปี 2560 น่าจะส่งผลให้ภาคธุรกิจใช้งบประมาณโฆษณาอย่างระมัดระวัง แนวโน้มเม็ดเงินโฆษณาในภาพรวมในปี 2560 จึงน่าจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ส่งผลให้กลุ่มสื่อออฟไลน์ ทั้งทีวีดิจิตอล สื่อวิทยุ และสื่อสิ่งพิมพ์ อย่างหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร มีแนวโน้มปรับกลยุทธ์นำเสนอคอนเทนต์ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นอย่างสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้คนในยุคปัจจุบัน
โดยผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลนำรายการที่ป้อนสู่ช่องต่างๆ ในระบบโทรทัศน์ มาแพร่ภาพผ่านช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางเสริม เพื่อตอบโจทย์ผู้ชมที่มีข้อจำกัดในการรับชมรายการโทรทัศน์ในช่วงเวลาปกติ หรือต้องการรับชมรายการโทรทัศน์ซ้ำ สำหรับสื่อวิทยุ และสื่อสิ่งพิมพ์ อย่างหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการโยกย้ายเม็ดเงินโฆษณาไปสู่สื่อออนไลน์

 

 

โดยผู้ประกอบการคลื่นวิทยุบางรายลดต้นทุนการประกอบธุรกิจด้วยการจัดรายการวิทยุผ่านช่องทางออนไลน์เพียงช่องทางเดียว สำหรับผู้ประกอบการสื่อสิ่งพิมพ์ปรับกลยุทธ์การประกอบธุรกิจหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การนำเสนอคอนเทนต์ผ่านช่องทางออนไลน์ การลดจำนวนการผลิต การขยายระยะการออกสื่อสิ่งพิมพ์ให้ยาวนานขึ้น ไปจนถึงการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์แจกฟรี ในขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์หลายรายปิดตัวลง เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนการประกอบธุรกิจไว้ได้
ในส่วนของสื่อโฆษณานอกบ้าน ทั้งสื่อเคลื่อนที่ ป้ายโฆษณา สื่ออินสโตร์ และสื่อในโรงภาพยนตร์ นำเทคโนโลยีมายกระดับคุณสมบัติสื่อโฆษณา เช่น การใช้หน้าจอโฆษณา LED ที่คมชัดระดับสูง การใช้หน้าจอโฆษณาระบบสัมผัสที่ผู้ชมเลือกรับชมโฆษณาได้ การใช้สื่อผสม ทั้งภาพเคลื่อนไหว กลิ่น และเสียง กระตุ้นการซื้อ ณ จุดขาย เป็นต้น เพื่อดึงดูดความสนใจจากกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงสร้างการรับรู้และจดจำสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนให้ภาคธุรกิจน่าจะยังคงกระจายงบประมาณโฆษณามาสู่กลุ่มสื่อโฆษณานอกบ้านในปี 2560
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความท้าทายของกลุ่มสื่อออฟไลน์ในปี 2560 อยู่ที่การนำเสนอแพ็คเกจโฆษณาที่มีความคุ้มค่า เพื่อดึงดูดการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาจากภาคธุรกิจ โดยเจ้าของพื้นที่โฆษณาที่มีสื่อโฆษณาหลากหลายประเภท ทั้งสื่อออนไลน์ และสื่อออฟไลน์ อย่างทีวีดิจิตอล คลื่นวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อนอกบ้าน มีข้อได้เปรียบในการนำเสนอแพ็คเกจโฆษณาที่ผสมผสานสื่อต่างๆ เข้าด้วยกัน