Covid-19 พังธุรกิจ ฮึดสู้แจ้งเกิด ‘Jelly Belly’ เบเกอรี่สวยสั่งได้ SME D Bank ไม่ทอดทิ้ง เดินเคียงข้าง พาข้ามผ่านวิกฤต

จากสถานการณ์ Covid-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้ประกอบการ SMEs อย่างมาก และหนึ่งในนั้นคือ  “มนัษนันท์  วรัทธ์วรานนท์”  หรือ “พัช” ซึ่งต้องยอมบอกลาธุรกิจเดิม  ท้อแต่ไม่ถอย ฮึดสู้  ปรับตัวนำพื้นฐานความชำนาญในธุรกิจเดิม มาแจ้งเกิดธุรกิจใหม่   ‘Jelly Belly Bakery’ เบเกอรี่โฮมเมด ที่รู้ใจเจ้าของคาเฟ่ ทั้งเรื่องรสชาติ รูปโฉม และราคา โดยมี SME D Bank ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย  เป็นเพื่อนแท้ ไม่ทอดทิ้ง แม้ยามลำบาก คอยกุมมือเดินเคียงข้าง พาก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกัน

 

“มนัษนันท์  วรัทธ์วรานนท์”  อดีตมนุษย์เงินเดือนในองค์กรใหญ่ระดับประเทศ  มีฝันอยากเป็นเถ้าแก่  ซึ่งย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเทรนด์คาเฟ่มาแรง  เธอและสามีตัดสินใจไปศึกษาหาความรู้เรื่องกาแฟและเบเกอรี่ เพื่อมาลงทุนและลงแรงปลุกปั้นธุรกิจคาเฟ่  ย่าน จ.นนทบุรี

ด้วยบรรยากาศร้านโดดเด่นสวยงาม มีมุมให้ถ่ายภาพเช็กอินหลากหลาย ประกอบกับกาแฟและเบเกอรี่รสเยี่ยมมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ส่งให้ร้านประสบความสำเร็จอย่างสูง ขึ้นแท่นคาเฟ่ชื่อดัง จ.นนทบุรี

 

ธุรกิจที่ดำเนินมาด้วยดีต้องประสบวิกฤตเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่ต่อเนื่องและยาวนานกว่า 3 ปี แม้จะพยายามปรับตัว ด้วยหลากหลายวิธีการ ทั้งเปลี่ยนมาขายผ่านออนไลน์ และบริการเดลิเวอรี่  แต่ด้วยพฤติกรรมลูกค้าที่นิยมมานั่งที่ร้านมากกว่า ทำให้รายได้ลดไปมากกว่า 75%  ประกอบกับมีรายจ่ายต่าง ๆ ต่อเนื่อง  ทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน  แม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย แต่ด้วยบาดแผลทางธุรกิจที่สาหัส  จำเป็นต้องตัดสินใจขายธุรกิจคาเฟ่ที่ปลุกปั้นมากับมือ เพื่อเริ่มต้นธุรกิจใหม่

“ตอนตัดสินใจขายร้าน และมองหาธุรกิจใหม่  พัชย้อนกลับมาดูตัวเองว่า มีจุดแข็งและถนัดอะไรที่สุด   จากที่เคยเป็นเจ้าของคาเฟ่  เลยรู้ใจคนทำคาเฟ่ว่า อยากมีเบเกอรี่ที่มีเอกลักษณ์ประจำร้าน ซึ่งพัชมีความรู้การทำเบเกอรี่อยู่แล้ว และจากประสบการณ์ที่เคยเปิดคาเฟ่ สัดส่วนรายได้จากเบเกอรี่ถึง 60% สูงกว่าส่วนกาแฟที่อยู่ประมาณ 40% เลยเป็นไอเดียทำธุรกิจใหม่เป็นเบเกอรี่โฮมเมด นำเสนอบริการเป็นตัวนำสินค้า” มนัษนันท์ เล่าถึงแนวคิดในการสร้างธุรกิจใหม่

 

ธุรกิจเบเกอรี่โฮมเมด แบรนด์ ‘Jelly Belly Bakery’ บริษัท ริช แอสเซท ดีวีลอปเมนท์ จำกัด เจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มเจ้าของธุรกิจคาเฟ่ และหน่วยงานต่าง ๆ มอบบริการ “เบเกอรี่ครีเอท” ให้คำปรึกษา ออกแบบ และผลิตเบเกอรี่ที่มีลักษณะเฉพาะตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย มีทั้งขนมปัง เค้ก ในสไตล์ยุโรป หรือเอเชีย รสชาติอร่อย รูปโฉมสวยงามโดดเด่น ภายใต้งบประมาณที่ลูกค้าเลือกได้ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของร้าน และที่สำคัญ ผลิตภายใต้มาตรฐานสะอาดปลอดภัยควบคุมได้

คุณพัช ขยายความให้ฟังว่า ‘Jelly Belly Bakery’ สามารถสร้างสรรค์เมนูเบเกอรี่ได้หลากหลาย รวมกว่า 50 รายการ ภายใต้งบประมาณต่าง ๆ ที่จะหารือร่วมกับลูกค้า  เพื่อจะได้ดีไซน์เบเกอรี่ให้เหมาะสมกับปัจจัย ทั้งทำเล และลูกค้าเป้าหมายของร้าน การผลิตใช้ระบบ “ครัวกลาง” ทำเสร็จสมบูรณ์จากจุดเดียวสดใหม่ วันต่อวัน แล้วกระจายไปส่งตามจุดต่าง ๆ ปัจจุบัน กำลังผลิตประมาณ 300 ชิ้นต่อวัน  นอกจากนั้น ยังมีบริการ “เบเกอรี่ บ็อกซ์เซ็ต” เพื่อเป็นอาหารว่างในงานประชุม สัมมนาต่าง ๆ   รวมถึง ส่งสินค้าผ่านระบบเดลิเวอรี่ด้วย

 

ในการทำธุรกิจ หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะขาดไม่ได้ คือ แหล่งเงินทุน ตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจคาเฟ่ คุณพัช ระบุว่า ใช้บริการจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank  สิ่งที่ประทับใจสถาบันการเงินแห่งนี้อย่างมาก คือ ในยามที่ธุรกิจประสบความยากลำบากจากสถานการณ์โควิด-19  SME D Bank ไม่เคยทอดทิ้งลูกค้า คอยเข้ามาถามไถ่และช่วยเหลือเสมอ  ตั้งแต่แนะนำปรับโครงสร้างการเงินให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ช่วยเติมความรู้การทำตลาดออนไลน์ รวมถึงพาไปออกบูทขายสินค้าตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อสร้างรายได้เข้ามาประคับประคองธุรกิจและรักษาการจ้าง

แม้กระทั่ง เมื่อเปลี่ยนมาทำธุรกิจใหม่ SME D Bank ยังช่วยเหลือต่อเนื่อง ล่าสุด พาออกบูทขายเบเกอรี่ในงาน SME D Market ณ สำนักงานใหญ่ SME D Bank เมื่อวันที่ 25-26 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับตอบรับจากลูกค้าดีมาก

 

การทำธุรกิจอาจเปรียบได้กับการแล่นเรือไปในมหาสมุทร  ย่อมต้องเจอทั้งวันที่ท้องทะเลเงียบสงบ อากาศสดใส และวันที่คลื่นลมพัดโหมกระหน่ำจนแทบจะไม่สามารถไปต่อได้  แต่หากไม่ย่อท้อ ปรับหางเสือให้เรือเดินต่อไปได้ในทิศทางถูกต้อง  วันหนึ่งจะไปถึงฝั่งได้สำเร็จ เช่นเดียวกับเอสเอ็มอี ‘Jelly Belly Bakery’ ที่ไม่ย่อท้อกับอุปสรรคที่เกิดขึ้น มุ่งมั่นปรับตัว จนวันนี้ กลับมาเดินหน้าธุรกิจได้อีกครั้ง