แนวคิดยุโรป ผู้ผลิต EV ต้อง รีไซเคิล เอง Volkswagen เปิดโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรีแล้ว

รายงานจากเว็บข่าวบีบีซี เขียนโดย Emma Woollacott เผยแพร่ 27 เมษายน 2021 ระบุว่าสหภาพยุโรปได้วางแผนให้มีการผลิตรถไฟฟ้า 30 ล้านคันภายในปี 2030 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นความจริงที่ว่ารถไฟฟ้าจะช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศได้ แต่ใน 10 – 15 ปีข้างหน้าจะมีขยะแบตเตอรีที่เป็นพิษต้องการจัดการอย่างถูกต้อง
.
ด็อกเตอร์ Paul Anderson จากมหาวิทยาลัย University of Birmingham ซึ่งรั้งตำแหน่งผู้อำนวยการร่วมของศูนย์ Birmingham Centre for Strategic Elements and Critical Materials ให้สัมภาษณ์บีบีซีว่า “แบตเตอรีของรถไฟฟ้ามีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากกว่าแบตเตอรีรถที่ใช้ในปัจจุบัน และประกอบด้วยเซลล์ลิเธียมไอออนที่แยกกันจำนวนมาก ต้องมีการถอดแยกออกมาซึ่งต้องทำอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันการระเบิดและสารที่เป็นอันตราย”
.
ด็อกเตอร์ Anderson กล่าวว่าขณะนี้ตัวเลขเกี่ยวกับการรีไซเคิลแบตเตอรีลิเธียมไอออน ค่อนข้างหายากโดยในบางส่วนของโลกไม่มีความชัดเจนว่ามีการจัดการอย่างไร ในกรณีของสหภาพยุโรปประเมินว่าน่าจะอยู่ที่ 5%ของมูลค่าแบตเตอรีทั้งหมดที่ผลิตขึ้น โดยแนวคิดของสหภาพยุโรปคือให้ผู้ผลิตรถยนต์เป็นผู้รับภาระรีไซเคิลแบตเตอรีที่ใช้แล้ว
.
บริษัทรถยนต์ที่ประกาศแผนการจัดการกับแบตเตอรีรถ EV ของตัวเองที่หมดอายุการใช้งานในขณะนี้ อาทิ Nissan ที่นำแบตเตอรีหมดอายุของรถ Leaf ไปใช้กับรถขับเคลื่อนอัตโนมัติในโรงงานประกอบรถยนต์ของตัวเอง ขณะที่ Volkswagen เปิดโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรีใช้แล้วที่เยอรมนีเป็นโครงการนำร่องมีการรีไซเคิลแบตเตอรีเก่า 3,600 ชุดต่อปี
.
บริษัทเรโนลต์ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถ EV ขนาดเล็กที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุโรปมียอดขายแซง Tesla ในปี 2020 ได้ร่วมกับกลุ่มบริษัทกำจัดของเสีย Veolia ของฝรั่งเศสและ Solvay ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ของเบลเยี่ยม เริ่มรับรีไซเคิลแบตเตอรีรถ EV แล้วโดยในขณะนี้มีจำนวนไม่มาก
.
เขียน : วิชัย สุวรรณบรรณ
.