‘เอสซีจี’ โชว์ตัวเลขกำไรไตรมาส 2 โตกระฉูด รับยอดขายธุรกิจเคมิคอลส์-แพคเกจจิ้งพุ่ง พร้อมแจกปันผล 8.50 บาท เอาใจผู้ถือหุ้น

เอสซีจี ประกาศผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 2 ปี 2564 สิ้นสุด 30 มิถุนายน 2564 มีกำไรสุทธิ 17,136 ล้านบาท ปรับตัวขึ้นร้อยละ 82.61 จากไตรมาส 2 ของปี 2563 มีกำไรสุทธิ 9,384 ล้านบาท

ส่งผลให้ผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 มีกำไรสุทธิ 32,050 ล้านบาท ปรับตัวขึ้นร้อยละ 95.96 จากครึ่งปีแรกของปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 16,355 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานไตรมาสดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจาก ในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ธุรกิจเคมิคอลส์ มีรายได้จากการขาย 60,740 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 75 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากราคาขายสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยมีกำไรสำหรับงวด 10,392 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 128 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากส่วนต่างราคาและส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากไตรมาสก่อน จากส่วนต่างราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 มีรายได้จากการขาย 29,895 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการซื้อสินค้าปรับเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ ในขณะที่ภาคการส่งออกของอาเซียนปรับตัวดีขึ้น

และธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 มีรายได้จากการขาย 46,416 ล้านบาท  เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากยอดการส่งออกสินค้าไปยังตลาดอาเซียนและตลาดอื่น ๆ นอกอาเซียนเพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการสินค้าผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเพิ่มขึ้นตามงานปรับปรุงและซ่อมแซมภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลงวดดำเนินงานวันที่ 1 ม.ค. 2564 ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2564 โดยจ่ายปันผลเป็นเงินสด 8.50 บาทต่อหุ้น วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) 13 ส.ค. 2564 และกำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 27 ส.ค. 2564

ด้านอัตราส่วนผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นมาที่ร้อยละ 15 จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 14 ขณะที่ในไตรมาสนี้ เอสซีจีมีหนี้สินสุทธิ 178,232 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,611 ล้านบาท จากไตรมาสที่ 1 ปี 2564 อ้างอิงจาก EBITDA ย้อนหลัง 12เดือน

ขณะที่ เอสซีจี มีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA เท่ากับ 1.9 เท่า คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA (ไม่รวมโครงการลงทุนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) เท่ากับ 0.9 เท่า เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ขณะที่อัตราส่วนสภาพคล่องเพิ่มขึ้นมาที่ 1.3 เท่า เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ 1.2 เท่า

ด้าน นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า งบการเงินรวมก่อนสอบทานของเอสซีจี ในไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2564 มีรายได้จากการขาย 133,555 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ตามการปรับตัวของราคาน้ำมันโลก และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากไตรมาสก่อน จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของทุกกลุ่มธุรกิจ

โดยมีปัจจัยหลักมาจากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีกำลังการผลิตส่วนเพิ่ม ทำให้ปริมาณขายยังอยู่ในระดับสูงซึ่งช่วยลดผลกระทบจากปัญหาเรื่องการขนส่ง โดยมีกำไรสำหรับงวด 17,136 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 83 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมที่เพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากไตรมาสก่อน จากส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้น

สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2564 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 255,621 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีกำไรสำหรับงวด 32,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 96 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ในครึ่งปีแรกของปี 2564 ทั้งสิ้น 112,272 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44 ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 มีมูลค่า 812,051 ล้านบาท โดยร้อยละ 39 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน

“สถานการณ์โควิด 19 ทั่วโลกมีความไม่แน่นอนสูงมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนที่เผชิญกับเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า จนทำให้มีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น หลายประเทศจึงบังคับใช้มาตรการคุมเข้มอีกครั้ง เอสซีจี จึงได้ยกระดับความเข้มข้นจากมาตรการ “ไข่แดง ไข่ขาว” ที่แยกพนักงานในสายการผลิตไม่ให้สัมผัสกับกลุ่มพนักงานทั่วไป สู่การทำ “Bubble & Seal” ในโรงงานทั้งในและต่างประเทศ ด้วยการตรวจเชิงรุกอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมพื้นที่ที่มีความเสี่ยง พร้อมจัดที่พักให้ภายในโรงงาน ควบคู่กับแนะนำให้พนักงานที่มีอาการป่วย กักตัวที่บ้านตามคำแนะนำของแพทย์ (Home Isolation) เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อโควิด 19″

และได้จัดเตรียม หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) สำหรับพนักงานที่ป่วย เพื่อให้เข้าถึงการรักษาที่ปลอดภัยอย่างรวดเร็วที่สุด จึงทำให้ เอสซีจีสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งยังได้ปรับแผนการดำเนินธุรกิจ ทั้งการปรับสัดส่วนการขาย กระจายสินค้าไปยังตลาดที่ได้รับผลกระทบน้อยทั้งในและต่างประเทศ และเน้นการขายผ่านช่องทางออนไลน์

อีกทั้ง ขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ (Merger & Partnership – M&P) รวมถึงการสร้างความร่วมมือใช้นวัตกรรมเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality Post-Consumer Recycled Resin – PCR) เปลี่ยนขวดบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนหมุนเวียนกลับมาผลิตเป็นขวดบรรจุภัณฑ์ใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย นับเป็นการเร่งธุรกิจเข้าสู่เทรนด์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่เติบโตสูง พร้อมรุกเข้าสู่ธุรกิจระบบอัตโนมัติ (Automation System) เพื่อนำเสนอโซลูชันด้านออโตเมชันแก่ลูกค้า ซึ่งจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถและยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory 4.0) จึงทำให้ผลประกอบการของเอสซีจีในไตรมาสที่ 2 และครึ่งปีแรกของปี 2564 ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว

.

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (หรือ “เอสซีจี เคมิคอลส์”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ SCC ถือหุ้นทั้งหมดเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน PT. Chandra Asri Petrochemical Tbk (หรือ “CAP”) ประเทศอินโดนีเซีย เป็นจำนวนเงิน 434 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 14,260 ล้านบาท) เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นใน CAP ที่ร้อยละ 30.57 โดยจะนำไปลงทุนในโครงการ Petrochemical Complex แห่งที่ 2 (CAP2) ทั้งนี้ บริษัทเล็งเห็นว่าการลงทุนใน CAP เป็นการลงทุนเชิงกลยุทธ์ เพื่อขยายธุรกิจปิโตรเคมีไปยังประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีตลาดสินค้าปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนและมีอัตราการเติบโตสูง

ขณะเดียวกัน เอสซีจีมีความห่วงใยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ใช้ประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญช่วยเหลือสังคมมาอย่างต่อเนื่องในทุกด้าน ทั้งเร่งช่วยเหลือคู่ค้า-คู่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ด้วยการขยายเวลาการชำระเงิน ให้คำปรึกษาเรื่องการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาบริหารจัดการภายในโรงงาน เพื่อให้ธุรกิจดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ร่วมกับคู่ค้าจัดตั้งศูนย์พักคอยสำหรับแยก-กัก-รักษาผู้ป่วยโควิด 19 สนับสนุนเครื่องใช้อุปโภคบริโภคสำหรับช่างภายในแคมป์ก่อสร้างของคู่ค้า รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยนำสินค้ามาจำหน่ายที่ร้านเอสซีจี โฮม SCGHOME.com และช่องทางของพันธมิตร เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และช่วยให้รักษาธุรกิจให้คงอยู่ต่อไปได้

เอสซีจีได้เร่งพัฒนานวัตกรรมป้องกันโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีการแพร่ระบาดมากขึ้น เกิดวิกฤตขาดแคลนเตียงสนามและห้องไอซียูสำหรับผู้ป่วยหนัก เอสซีจีได้มอบเตียงสนามกระดาษ กว่า 60,000 เตียงทั้งในไทยและต่างประเทศ และมอบห้องไอซียูโมดูลาร์ 60 เตียง รวมทั้งห้องผู้ป่วยฉุกเฉินโมดูลาร์ขนาด 10 เตียง เพื่อปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ บรรเทาความเดือดร้อนของผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) และชุมชนกว่า 300 ราย ให้สร้างรายได้ พัฒนาอาชีพ แปรรูปสินค้า และเพิ่มช่องทางการขาย ผมขอเชิญชวนทุกท่านช่วยกันสนับสนุนสินค้า SMEs หากพวกเราช่วยเหลือกัน ก็จะนำพาประเทศรอดพ้นวิกฤตครั้งนี้ได้”

ด้านธุรกิจเคมิคอลส์ ยังคงเติบโตและดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องทั้งในไทยและต่างประเทศ จากการใช้กลยุทธ์การปรับสัดส่วน การผลิตและการขายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ อีกทั้งได้เร่งการเข้าสู่ธุรกิจด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เติบโตสูง ให้สอดคล้องกับการดำเนิน “ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน” ตามแนวทาง ESG (Environmental, Social, Governance) ผ่านการนำเสนอสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) และโซลูชันครบวงจรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก่ผู้บริโภค โดยล่าสุด ธุรกิจได้ร่วมพัฒนาและเปลี่ยนขวดบรรจุภัณฑ์ของยูนิลีเวอร์จากพลาสติกชนิด HDPE เป็นพลาสติก HDPE รีไซเคิล (rHDPE) นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่นำพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนหมุนเวียนกลับมาผลิตเป็นขวดบรรจุภัณฑ์ใหม่ โดยใช้นวัตกรรมเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality Post-Consumer Recycled Resin – PCR) ภายใต้แบรนด์ “เอสซีจี กรีน พอลิเมอร์ (SCG Green Polymer™) ในส่วนของโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนามคืบหน้าตามแผนร้อยละ 83 โดยจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในครึ่งปีแรกของปี 2566

ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ได้รับผลกระทบจากความต้องการของตลาดที่ชะลอตัวลงจากมาตรการปิดเมือง ธุรกิจจึงปรับกลยุทธ์ด้วยการกระจายสินค้าไปยังตลาดที่ได้รับผลกระทบน้อยทั้งในและต่างประเทศ และเน้นการขายผ่านช่องทางออนไลน์ SCGHOME.com มากขึ้น อีกทั้งมุ่งนำเสนอสินค้า บริการ และโซลูชัน ที่มีมูลค่าเพิ่ม ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในการปรับปรุงที่อยู่อาศัย และตอบรับเทรนด์ด้านสุขอนามัยและความใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยธุรกิจยังคงให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมตามแนวทาง Industry 4.0 เพื่อควบคุมต้นทุน ลดการใช้ทรัพยากร และสร้างการเติบโตในระยะยาว

ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ยังคงดำเนินงานตามแผนสร้างการเติบโตต่อเนื่อง ด้วยกลยุทธ์การกระจายฐานลูกค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพิ่มพอร์ตบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม กระบวนการทำงาน และโมเดลธุรกิจ การบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ การขยายกำลังการผลิต และ Merger & Partnership (M&P) อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ Duy Tan Plastics Manufacturing Corporation (Duy Tan) เพื่อขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูปในเวียดนาม และอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าลงทุนใน 2 บริษัท ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ได้แก่ Intan Group เพื่อขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษในอินโดนีเซีย และ Deltalab, S.L. ในประเทศสเปน เพื่อเสริมศักยภาพของธุรกิจด้านวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตอบสนองเมกะเทรนด์การดูแลรักษาสุขภาพ

“ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจได้ยกระดับมาตรการ BCM ทั้งบริษัทในไทยและต่างประเทศให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ด้วยการบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งในกระบวนการจัดหาวัตถุดิบ กระบวนการผลิตและการขนส่ง รวมถึงการปรับแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น ปรับปรุงแผนการผลิตและขนส่งสินค้า รวมถึงการบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสามารถส่งมอบบรรจุภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าได้ทันต่อความต้องการ” นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กล่าว