Singapore Ecomomy

เมื่อชาติมหาอำนาจปรับนโยบายการเงินเร็วขึ้น คำถามคือ!! ไทยพร้อมรับมือแค่ไหน? ‘สิงคโปร์’ แกร่งสุดในอาเซียน!! เศรษฐกิจฟื้นตัวก่อนใคร

วันนี้ ‘Business+’ จะมาพูดถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินของประเทศขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐฯ จีน หรือสหภาพยุโรป ไม่ว่าจะเป็นนโยบายทางการเงินแบบปกติอย่างการเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ย หรือนโยบายการเงินแบบพิเศษ อย่างการทำ Quantitative Easing (QE) เพราะทั้งหมดนี้จะมีผลกระทบมายังประเทศเล็กอย่างบ้านเราทั้งหมด!!
เพราะประเทศใหญ่นั้น เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ความน่าเชื่อถือจึงมีมากกว่าประเทศเล็ก หากขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อไหร่ เม็ดเงินที่เคยเข้ามาลงทุนในประเทศเล็กก็จะถูกดึงออกไป (ธรรมชาติของการลงทุน เม็ดเงินจะไหลไปยังที่ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า น่าเชื่อถือกว่าอยู่แล้ว)
และเมื่อเม็ดเงินไหลออกไปเป็นจำนวนมากก็จะกระทบไปยังค่าเงินของประเทศเล็กคือทำให้ค่าเงินอ่อนค่า (เกอดจากการขายสกุลเงินของประเทศเล็ก เพื่อเข้าไปลงทุนในประเทศใหญ่แทน) แน่นอนว่าค่าเงินที่อ่อนค่ากระทบต่อผู้ประกอบการนำเข้า เพราะทำให้ต้นทุนในการนำเข้าสินค้าสูงขึ้น
นอกจากนี้ หากสหรัฐฯ ลดวงเงิน QE ก็จะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สูงขึ้น ซึ่งปกติแล้วประเทศเล็กจะรับมือด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม เพื่อดึงดูดให้เม็ดเงินไหลออกน้อยลง แต่การขึ้นดอกเบี้ยนั้น ก็ทำให้ต้นทุนการกู้ยืม (ดอกเบี้ย) สูงขึ้น
ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนลดลงเพราะไม่ต้องการแบกรับภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น โดนเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแบบตอนนี้
มาถึงจุดนี้น่าจะเริ่มมองเห็นแล้วว่า การขึ้นดอกเบี้ยตามประเทศใหญ่ไม่ใช่ผลดีสำหรับประเทศทุกประเทศ ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น ถ้าหากเศรษฐกิจยังไม่ดีก็จะเป็นการซ้ำเติมการลงทุนในประเทศ ส่งผลโดยตรงต่อตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP)
แต่ปัญหาในขณะนี้ที่ประเทศเล็กต้องเจอ คือ ในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศกลุ่มพัฒนาแล้วเริ่มเบาบางลง ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นกลับมาฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ที่ก่อนหน้านี้ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 0.0-0.25% และได้ใช้มาตรการ QE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดแม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และไม่ลดวงเงิน QE แต่หลายฝ่ายเริ่มเห็นสัญญาณของการปรับลด (คาดว่าเกิดช่วงปลายปี) รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งอาจจะเกิดช่วงกลางปี 2565 (เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้คือปี 2566) เพราะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และเริ่มเกิดภาวะเงินเฟ้อ
ทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของตลาดการเงินทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา
มีข้อมูลจาก ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ ที่ได้รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจของทิศทางนโยบายการเงินของอาเซียน
โดยมองว่า ‘สิงคโปร์’ น่าจะเป็นเศรษฐกิจแรกในอาเซียนที่มีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้อยู่ในระดับปกติมากขึ้น หลังจากที่เศรษฐกิจสิงคโปร์กลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและขนาดเศรษฐกิจกลับไปสูงกว่าระดับก่อนโควิดเป็นที่เรียบร้อย
จึงทำให้สิงคโปร์สามารถปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศเคลื่อนไหวตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินโลก
แต่สิงค์โปร์ พึ่งพาการค้าต่างประเทศมากกว่าในประเทศ ทำให้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงินเกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลัก โดยที่ผ่านมาใช้นโยบาย Zero Rate Of Appreciation คือ การจัดการค่าเงินไม่ให้แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินคู่ค้า
แต่เมื่อการลดวงเงิน QE ของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้สิงคโปร์ต้องกลับมาใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว แบบมีการจัดการ เพื่อไม่ให้ค่าเงินอ่อนเกินไป
สำหรับกลุ่มประเทศที่ใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการดำเนินนโยบายการเงิน อย่าง ‘ฟิลิปปินส์’ อาจเผชิญกับแรงกดดันในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดและอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแม้ว่าเศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่
ด้าน เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย น่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับเฟด
ส่วนประเทศไทยอาจเป็นประเทศท้าย ๆ ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สาเหตุมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ล่าช้า ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อที่จำกัด เป็นสาเหตุที่ทำให้คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางแห่งประเทศไทยเลือกที่จะคงนโยบายการเงินผ่อนคลายจนกว่าจะเห็นสัญญาณชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ซึ่งการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจไทยส่งผลให้ภาคการเงินไทยยังต้องอาศัยนโยบายดอกเบี้ยต่ำเพื่อลดภาระของผู้ประกอบการ ตลอดจนช่วยประคองคุณภาพหนี้เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวจากวิกฤติโควิดได้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยคงจะรอให้เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพก่อนที่จะพิจารณาความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
แต่ ‘กสิกรไทย’ มองว่า ข้อได้เปรียบของประเทศไทย คือ เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้แรงกดดันต่อการต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับธนาคารกลางสหรัฐฯ มีไม่มาก และไทยจะเป็นประเทศท้าย ๆ ในอาเซียนที่คงมาตรการการเงินผ่อนคลาย แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ตลอดจนธนาคารกลางในหลาย ๆ ประเทศในอาเซียนจะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ตาม
ในมุมของ ‘Business+’ มองว่า บ้านเราในปัจจุบันกำลังเจอกับ “กับดักสภาพคล่อง” โดยอัตราดอกเบี้ยตอนนี้ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี โดยข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า เดือนกรกฎาคมปี 2561 อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.5% และเดือนเดียวกันในปี 2564 (เจอโควิด-19) อัตราดอกเบี้ยลดต่ำลงมาที่ 0.5% แต่การลงทุนภาคเอกชนแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง (ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนของทั้ง 2 ปีคือ 140.9% และ 140.8%)
พูดง่าย ๆ คือ ต่อให้อัตราดอกเบี้ยต่ำแค่ไหนก็ไม่จูงใจให้คนนำเงินมาใช้ลงทุน เพราะเวลานี้มีเพียงความต้องการถือเงินเพื่อบริโภค และถือไว้ในยามฉุกเฉินเท่านั้น (เพราะคนขาดความมั่นใจในเศรษฐกิจของประเทศ)
ซึ่งตรงจุดนี้เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เราไม่สามารถใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะไม่ว่าจะเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยก็อาจไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
สิ่งที่ภาครัฐทำได้เพื่อรับมือกับปัญหา คือการใช้นโยบายการคลัง เช่น การลดภาษี การกระตุ้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นการลงทุน ควบคู่ไปกับการเพิ่มความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำเพื่อรับมือกับผลกระทบเอาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ข้อมูล : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เศรษฐกิจ #สหรัฐฯ #นโยบายการเงิน #QE #อาเซียน