พลังงานไฮโดรเจน มาแน่!! Shell-BP-Exxon ตบเท้าเข้าลงทุนครั้งใหญ่

ตลาดน้ำมันโลกกำลังทยอยเดินหน้าฟื้นตัวจากการพังทลายของราคาในช่วงต้นปี 2020 จากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ซึ่งทำให้น้ำดิบล้นทะลักจนไม่มีที่เก็บ เพราะเนื่องจากอุตสาหกรรมทั้งหมดหยุดชะงัก รวมไปถึงการที่แรงงานถูกบังคับให้ทำงานจากที่บ้านในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน และแม้แต่จะตัดการกันสำรองทางกลยุทธ์ออกไปแล้วก็ตาม แต่ในระยะสั้นหลายฝ่ายเชื่อว่าระดับการใช้น้ำมันทั่วโลกจะยังไม่กลับไปอยู่ในจุดเดียวกับช่วงก่อนเกิดการระบาดภายในปี 2021 อย่างแน่นอน

โดยรายงานจากองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เผยว่า COVID-19 ได้บังคับให้คนทั้งโลกต้องเปลี่ยนพฤติกรรม ตั้งแต่การทำงานที่บ้าน การเดินทางข้ามประเทศไม่ได้ แม้แต่ข้ามจังหวัดภายในประเทศก็ตาม นอกจากนี้รัฐบาลทั่วโลกก็กำลังมุ่งไปสู่การฟื้นตัวอย่างยั่งยืนที่มีเป้าหมายอยู่ที่การก้าวเข้าสู่คาร์บอนต่ำในอนาคต ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้คุกคามความต้องการน้ำมันให้ต่ำลง และอาจจะต่ำลงเร็วกว่าที่คาดการณ์หากภาครัฐทั่วโลกเร่งผลักดันนโยบายการมุ่งเข้าสู่พลังงานสะอาดอย่างแข็งขัน

นั้นทำให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันจะเจอกับปัญหาใหญ่ รวมไปถึงบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้จำต้องฝืนใจทิ้งแหล่งพลังงานรวมไปถึงโอกาสที่จะค้นพบแหล่งผลิตน้ำมันแห่งใหม่ ซึ่งตรงนี้จะนำไปสู่การลดปริมาณการลงทุนลงในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งมองในทางนัยยะเชิงภูมิรัฐศาสตร์แล้วเท่ากับเพิ่มความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำมันหลังจากนี้

การฟื้นตัวยืนอยู่บนเส้นทางที่ยากคาดเดา  

ความต้องการน้ำมันตอนนี้อยู่ที่ราว 9 ล้านบาร์เรลต่อวันซึ่งต่ำกว่าระดับปี 2019 และจะไม่กลับไปอยู่จุดเดิมจนกว่าจะปี 2023 พร้อมกับการไม่มีนโยบายเข้าแทรกแซงและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป การขับเคลื่อนในระยะยาวของการเติบโตจะผลักให้ความต้องการน้ำมันขึ้นสูง โดยปี 2026 บริโภคน้ำมันถูกคาดการณ์ว่าจะพุ่งแตะ 104 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับระดับปี 2019 ซึ่งจะเพิ่มขึ้นถึง 4.4 ล้านบาร์เรลต่อวันเลยทีเดียว ซึ่งปี 2025 คาดว่าความต้องการน้ำมันจะเหลืออยู่แค่ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือต่ำกว่าที่ทาง IEA เคยทำนายไว้ก่อนหน้านี้ ในรายงานภาพรวมอุตสาหกรรมน้ำมันปี 2020 ซะอีก

ขณะเดียวก็คาดการณ์ว่าความต้องการน้ำมันที่เติบโตขึ้นทั้งหมดจะมาจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่และกำลังพัฒนา สืบเนื่องจากอัตราการการเกิดของประชากรและรายได้ โดยเฉพาะในเอเชียความต้องการจะเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง แต่อัตราการเพิ่มจะไม่เร็วเท่ากับในอดีตอีกแล้ว ด้านความต้องการน้ำมันกลุ่มประเทศที่อยู่ในองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) นั้นตรงกันข้ามซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าจะไม่กลับไปอยู่ในระดับเดียวกับปี 2019 อีก

ด้านความเร็วและลึกในการฟื้นตัวมีความเป็นไปได้ว่าจะไม่คงที่สม่ำเสมอ โดยสาเหตุมาจากสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศทั่วโลก รวมไปถึงเงื่อนไขของแต่ละกลุ่มและผลิตภัณฑ์ อย่างน้ำมันเบนซินทาง IEA มองว่าไม่น่าจะกลับไปอยู่ในจุดเดียวเหมือนในปี 2019 อีก เนื่องจากการมาของรถยนต์ไฟฟ้าที่กลายเป็นเทรนด์สำคัญของโลก รวมไปถึงอุตสาหกรรมการบินที่อยู่ในสภาวะวิกฤตซึ่งกว่าจะกลับไปอยู่ในระดับเดิมคงต้องรอไปจนถึงปี 2024 รวมไปถึงการมาของเทรนด์การประชุมทางไกลก็มีส่วนสำคัญต่อรูปแบบธุรกิจการท่องเที่ยว ด้านฝากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีถูกคาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นแก๊สอีเทน แอลพีจี และแนฟทา (ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ) ซึ่งทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นรวมกัน 70% ในปี 2026

แน่นอนว่าด้วยกระแสโลกที่เปลี่ยนไปทำให้บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมน้ำมันต้องประสบกับความไม่แน่นอนมากขึ้นกว่าในอดีต นั้นทำให้พวกเขาจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงของธุรกิจตัวเองออกไปเพื่อหาโอกาสใหม่ ซึ่งจะเป็นการสร้าง New S-Curve ใหม่ พร้อมกับรักษาการเติบโตให้คงที่หรือสูงขึ้นในอนาคต

BP มอง ไฮโดรเจน เชื้อเพลิงแห่งอนาคต

นายเบอร์นาร์ด ลูนี่ย์ ประธานกรรมการบริหารของบีพี บริษัทน้ำมันและแก๊สยักษ์ใหญ่สัญชาติอังกฤษ ได้พูดถึงโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ของอุตสาหกรรมน้ำมัน ผ่านการประชุมทางออนไลน์ที่เขาถูกเชิญให้ไปบรรยายว่าโดยมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในช่วงเดือนพฤษภาคม 2021 ที่ผ่านมาว่า ไฮโดรเจนจะเป็นเชื้อเพลิงหลักในอนาคต และบีพีก็หวังว่าจะสามารถคว้าส่วนแบ่งตลาดนี้ได้สัก 10% เมื่อมันปรากฏขึ้น ซึ่งนายลูนี่ย์ เน้นไปที่ไฮโดรเจนเขียวกับไฮโดรเจนน้ำเงินว่าจะมีบทบาทสำคัญในอนาคตมากขึ้น โดยไฮโดรเจนน้ำเงินจะไม่มีการปล่อยคาร์บอนจากผลิตภัณฑ์ไปสู่ชั้นบรรยากาศ ขณะที่ไฮโดรเจนเขียวซึ่งจะมาจากพลังงานทดแทนซึ่งตอนนี้กำลังได้รับความสนใจในฐานะพลังงานทางเลือกที่จะมุ่งหน้าไปสู่ก๊าซธรรมชาติที่สามารถถูกใช้ในครัวเรือน อุตสาหกรรมหนัก และระบบการขนส่งต่อไป

นอกจากนี้ทางนายเบอร์นาร์ด ลูนี่ย์ ยังเพิ่มเติมอีกว่าหลายคนอาจไม่รู้ว่า บีพี ขายกาแฟ ด้วย ปีที่แล้งเราขายได้มากถึง 150 ล้านแก้ว ซึ่งร้านกาแฟของเราตั้งอยู่ในสถานีเติมน้ำมัน ต้องบอกว่ามันเป็นธุรกิจที่แข็งแกร่งมาก และมันจะเป็นธุรกิจที่เติบโตต่อไป นอกจากนี้ทางบีพียังได้ให้สัญญากับนักลงทุนว่าจะผลิตพลังงานไฟฟ้าให้ได้ 50 กิกะวัตต์ภายในปี 2030 ซึ่งตอนนี้ผลิตอยู่ที่ 2.5 กิกะวัตต์

ขณะเดียวกันช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2021 ที่ผ่านมาทางบีพี ก็ได้มีการประกาศจัดตั้ง ศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งใหม่ในเมืองปูเน่ประเทศอินเดีย เพื่อคอยสนับสนุนการทำงานของธุรกิจหลักของบริษัท และรวมไปถึงการสนับสนุนรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ อีกด้วย โดยศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งนี้จะเริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคม 2021 นี้ พร้อมพนักงานขั้นต้น 100 คน ประกอบไปด้วยวิศวกรดิจิทัล นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยด้านสารสนเทศ และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ

“ศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งนี้จะทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานด้านดิจิทัลของบีพี ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความยืดหยุ่นของไฮโดรคาร์บอน ลูกค้าของเราทั้งหมด ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้น และแก๊ส รวมไปถึงพลังงานที่มีคาร์บอนต่ำด้วยเช่นกัน เพื่อส่งมอบพลังงานใหม่ ๆ และการแก้ปัญหาด้านยานยนต์ ซึ่งทั้งสองเรื่องคือกลยุทธ์สำคัญของบีพีในการจะบรรลุเป้าหมายความทะเยอทะยานด้านคาร์บอนเป็นศูนย์”

ขณะที่รองประธานบริษัทบีพีและหัวหน้าฝ่ายนวัตกรรมและวิศวกรรมอย่างนาย David Eyton ได้ให้มุมมองต่อเรื่องนี้ว่า การเร่งให้ธุรกิจของบีพีและการดำเนินงานของบริษัทมีความเป็นดิจิทัลนั้นสำคัญอย่างมากต่อการเปลี่ยนผ่านของพวกเราเพื่อสร้างให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับบริษัทพลังงาน ซึ่งที่อินเดียมีผู้เชี่ยวชาญที่จะสามารถช่วยให้เราบรรลุสิ่งเหล่านี้ได้ ซึ่งพวกเราก็คาดหวังว่าจะสามารถดึงดูดให้คนเก่งระดับพรสวรรค์เข้ามาสู่ศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งนี้เพื่อรับหน้าที่ท้าทายอันสำคัญครั้งนี้

โดยนายเบอร์นาร์ด ลูนี่ย์ ปิดท้ายว่า ในปี 2019 กำลังการผลิตน้ำและแก๊สของบริษัทจะอยู่ที่ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ในปี 2030 กำลังการผลิตในส่วนนี้จะลดไปสู่ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน พร้อมย้ำว่าพลังงานทดแทนจะไม่ได้ถูกนำมาเติมเต็มในส่วนที่ขาดหายไปนี้

Royal Dutch Shell Plc หลากหลายอย่างยั่งยืน

Royal Dutch Shell Plc ถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทน้ำมันและแก๊สยักษ์ใหญ่ของโลกที่กำลังมีการปรับตัวเพื่อมองหาโอกาสเติบโตบนธุรกิจใหม่ ๆ ทั้งในกลุ่มพลังงาน และธุรกิจที่นอกเหนือกลุ่มพลังงาน โดยในปี 2021 แบรนด์ของ Shell ถือเป็นแบรนด์บริษัทด้านพลังงานน้ำมันและแก๊สที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก 42,156 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากรายงานฉบับล่าสุดที่ปล่อยออกมาของ Shell ในปีนี้พวกเขามีเป้าหมายในเรื่องของพลังงานทดแทนเป็นสำคัญ โดยทาง Shell ตั้งใจจะขายไฟฟ้าให้ 560 เทลาวัตต์ชั่วโมงต่อปีภายใน 2030 ซึ่งมากกว่าปัจจุบันนี้สองเท่า ซึ่งทางบริษัทคาดว่าจะสามารถรองรับลูกค้าที่เป็นธุรกิจและค้าปลีกทั่วโลกได้มากกว่า 15 ล้านราย

พร้อมกันนั้นพวกเขาเผยว่าจากนี้ไปจะมีการลงทุนของบริษัทปีละราว ๆ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐบนโครงการที่หลากลายเพื่อนำไปสู่การสร้างกำไรให้กับธุรกิจและช่วงเหลือลูกค้าของพวกเขาให้เข้าใกล้เป้าหมายเรื่องคาร์บอนเป็นศูนย์ให้มากที่สุด ด้านพลังงานไฮโดรเจน Shell มีเป้าหมายขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำด้านนี้เช่นกันซึ่งขณะนี้ทางบริษัทกำลังพัฒนาศูนย์กลางพลังงานไฮโดรเจนขึ้นมาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมหนัก ระบบคมนาคมจำนวนมาก เพื่อบรรลุเป้าหมายส่วนแบ่งยอดขายไฮโดรเจนสะอาดของโลกให้เติบโตในระดับตัวเลขสองหลักให้ได้

ด้านธุรกิจแก๊สทาง Shell ต้องการขยายความเป็นผู้นำในดานแก๊ส LNG ทั้งในมุมของยอดขายและส่วนแบ่งตลาด พร้อมตั้งเป้าจะเลือกลงทุนในการแข่งขันด้านสินทรัพย์ LNG เพื่อให้บริษัทสามารถส่งมอบให้ได้มากกว่า 7 ล้านตันต่อปีบนความสามารถของสายส่งแห่งใหม่ในช่วงกลางทศวรรษนี้ และพร้อนำเสนอ LNG คาร์บอนต่ำต่อไป

ล่าสุดทาง Royal Dutch Shell Plc และ Iberdrola SA บริษัทด้านพลังงานจากสกอตแลนด์ได้ร่วมจับมือกันประมูลเพื่อสร้างฟาร์มกังหันลมลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกบนทะเล โดยทั้งสองบริษัทมีการยื่นข้อเสนอสำหรับโครงการลอยน้ำจำนวนมากเหล่านี้นอกชายฝั่งของสหราชอาณาจักรซึ่งส่วนหนึ่งถูกดำเนินการโดยสกอตแลนด์ที่จะให้เช่าพื้นดินใต้ทะเลไปสู่ผู้พัฒนาโครงการพลังงานลมเหล่านี้

นั้นทำให้ในระยะสั้นกลยุทธ์ของ Shell จะมีการปรับสมดุลของพอร์ตฟอลิโอใหม่โดยพวกเขาลงทุนในธุรกิจใหม่รวมเป็นมูลค่ากว่า 5,000 – 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตรงนี้จะแบ่งเป็นเรื่องการตลาด 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และที่เหลือจะลงทุนในพลังงานทางเลือกและ Energy Solution ขณะที่การลงทุนในด้านกลุ่มธุรกิจแก๊สและปิโตรเคมีคาดว่าจะใช้เงินลงทุนมากถึง 8,000-9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และราว ๆ อีก 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในธุรกิจต้นน้ำและแผนงาน

ExxonMobil ผู้นำเทคโนโลยีการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน

มาปิดท้ายกันที่ ExxonMobil บริษัทผู้นำด้านน้ำมันและแก๊สของสหรัฐและใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกเมื่อวัดจากรายได้ในปี 2021 ที่ 180,990 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากรายงานที่ปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ที่ผ่านมาในเว็ปไซต์ของบริษัทได้เผยให้เห็นถึงทิศทางของ ExxonMobil จากนี้ที่จะหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องวิธีการลดคาร์บอน โดยขณะนี้พวกเขากำลังพัฒนาแผนสำหรับโอกาสอันมากมายในการดักจับและกักเก็บคาร์บอนใหม่ ๆ มากกว่า 20 แห่งทั่วโลก เพื่อที่จะนำไปสู่การลดคาร์บอนในระดับที่ใหญ่มาก

Exxon มีแผนที่จะลงทุนมากกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐบนวิธีการแก้ปัญหาพลังงานคาร์บอนต่ำในช่วง 4-5 ปีจากนี้ ซึ่งธุรกิจส่วนนี้จะถูกนำโดยคุณ Joe Blommaert รองประธานบริษัทซึ่งมีประสบการณ์มากกว่า 30 ปีในอุตสาหกรรมพร้อมบทบาทความเป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์การตลาด และการดำเนินงาน

โดยคุณ Joe Blommaert เผยว่า เทคโนโลยีการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage Technology) คือกระบวนการสำคัญในการดักจับก๊าสคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจากกิจกรรมทางอุตสาหกรรม และฉีดมันเข้าสู่รูปแบบทางธรณีวิทยาเพื่อความปลอดภัย มั่นคง และการจัดเก็บถาวร ซึ่งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลขององค์กรสหประชาชาติด้านสภาวะโลกร้อนและองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) เห็นห้องต้องกันว่าเทคโนโลยีการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอนเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการช่วยลดคาร์บอนเพื่อให้เกิดการบรรลุเป้าหมายด้านสภาวะโลกร้อน เทคโนโลยีนี้เป็นแค่หนึ่งในไม่กี่เทคโนโลยีที่จะสามารถทำให้อุตสาหกรรมทุกกลุ่มลดคาร์บอนลงมาได้

Exxon นั้นใช้เทคโนโลยีนี้มากว่า 30 ปีแล้ว และถือเป็นบริษัทแรกที่สามารถดักจับคาร์บอนได้มากกว่า 120 ล้านตัน ซึ่งเท่ากับการปล่อยมลพิษของรถยนต์ถึง 25 ล้านคันในหนึ่งปีเลยทีเดียว ซึ่งบริษัทมีส่วนแบ่งการดักจับคาร์บอนคิดเป็น 1 ใน 4 ของการดักจับได้ทั้งโลกเลยทีเดียว หรือคิดเป็น 40% ของการดักจับทั้งหมดที่เกิดจากมนุษย์ทั้งโลก

การแก้ปัญหาเพื่อลดคาร์บอนของบริษัทจะดำเนินการผ่านประสบการณ์ในการผลิตไฮโดรเจนซึ่งเมื่อมีการเชื่อมเข้ากับเทคโนโลยี CCS แล้ว เชื่อว่านี้จะเป็นหัวใจสำคัญของระบบพลังงานคาร์บอนต่ำ รวมไปถึงเทคโนโลยีอื่น ๆ ก็เช่นกันจะต้องเข้ามาช่วยบริษัทกระจายพอร์ตฟอลิโอด้านคาร์บอนต่ำเพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่การเติบโตเชิงพาณิชย์ในด้านนี้ต่อไป

เขียน : เอกพล มงคลพัฒนกุล