ประเทศคู่ค้าหลักครองโสดเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุ!! กดยอดส่งออกเครื่องประดับไทยฝืด แนวโน้มฟื้นตัวยาก ‘สิงคโปร์-ฮ่องกง’ ลดการนำเข้า สวนทาง ‘ลาว’ ยังต้องการสูง

สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นสินค้าที่ทั่วโลกชื่นชอบ แต่ก็อยู่ในประเภทสินค้าฟุ่มเฟือย นั่นเป็นสาเหตุให้การเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตลาดส่งออกที่จะต้องมองเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเป็นหลัก

ดังนั้น เมื่อตลาดส่งออกหลักของไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอย จึงส่งผลให้การส่งออกไปยังประเทศดังกล่าวหดตัวลง ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ประเทศคู่ค้าหลักลดการนำเข้าจากไทยเป็นจำนวนมาก

แต่ก็ยังมีบางประเทศที่ยอดส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากไทย เติบโตอย่างผิดหูผิดตา นั่นคือ ‘สปป.ลาว’

แต่ก่อนจะเจาะเข้าไปรายประเทศ เรามาพูดถึงตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวมกันสักหน่อย สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ถูกผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ถึงแม้ยังถูกมองว่าเป็นธุรกิจที่จะฟื้นตัวได้ในโลกหลัง COVID-19 จากกำลังซื้อจะฟื้นกลับมาอีกครั้ง

แต่จากข้อมูลการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยไปตลาดโลกนั้น หากดูภาพรวมในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา (2562-2564) ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับก็ซบเซาลง

โดยปี 2562 มูลค่าส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เติบโต 26.63% YoY ต่อมาปี 2563 เหลือการเติบโต 16.62% YoY มีการเติบโตแบบถดถอย สาเหตุหนึ่งมาจาก COVID-19 ทำให้คนต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น และอีกสาเหตุคือสังคมในปัจจุบันมีจำนวนคู่แต่งงานลดลง

ทีนี้มาดูข้อมูลการส่งออกช่วง 7 เดือนของปี 2564 กันบ้าง
การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยไปตลาดโลกมีมูลค่า 169,906.71 ล้านบาท หดตัว 54.80% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้วมีมูลค่า 375,904 ล้านบาท

สาเหตุมาจากตลาดที่เป็นคู่ค้าหลักของไทยหดตัวอย่างรุนแรง โดยสิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดที่ไทยส่งออกไปมากที่สุดเป็นอันดับ 1 หดตัว 64.18% และฮ่องกง ซึ่งไทยส่งออกมากเป็นอันดับ 2 หดตัว 31.25% นอกจากนี้การส่งออกไปอีกหลายประเทศหดตัวรุนแรง เช่น สวิตเซอร์แลนด์ หดตัว 89.34% ออสเตรเลีย หดตัว 71.07% และกัมพูชา หดตัว 71.07%

แต่เมื่อหันมามองตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ที่ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด กลับเป็นตลาดส่งออกไปยัง สปป.ลาว โดย 7 เดือนแรกของปีนี้มูลค่าการส่งออกจากไทยไปลาวสูงถึง 6,042.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43,236% จากช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 อยู่ที่ 13.94 ล้านบาท (ถือเป็นจุดต่ำสุด) และเมื่อเทียบกับปี 2563 ทั้งปีมีมูลค่า 285.70 ล้านบาท และในปี 2562 มีมูลค่าการส่งออกเพียง 294.52 ล้านบาท เท่านั้น และนั่นทำให้ประเทศลาวขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 6 จากเดิมไม่ติด Top 15 ด้วยซ้ำ

โดยสาเหตุที่คาดว่า สปป.ลาวนำเข้าจากไทยมากขึ้น เป็นเพราะแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2564 ของสปป.ลาว ค่อนข้างดี ซึ่งก่อนหน้านี้ สํานักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ประจํา สปป. ลาว ได้กล่าวว่า เศรษฐกิจของ สปป. ลาวจะขยายตัวในระดับ 4% ในปี 2564 และ 4.5% ในปี 2565 สวนกับ COVID-19

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากข้อมูลไตรมาส 1 ปี 2564 สัดส่วนของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับจากไทยไปสปป.ลาว คิดเป็นเพียงแค่ 6.95% เมื่อเทียบสัดส่วนการส่งออกกับ 4 ประเทศที่ไทยส่งออกไปสูงสุด คือ สิงคโปร์ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีสัดส่วนรวมกันถึง 41.85% ดังนั้นจะเห็นว่า ถึงแม้มูลค่าการส่งออกไปสปป.ลาวจะเติบโตก้าวกระโดด แต่ก็ไม่อาจชดเชยมูลค่าส่งออกที่ปรับตัวลดลงจาก 4 ประเทศหลักได้

นอกจากนี้ สัดส่วนของคนโสดในสิงคโปร์ (ไทยส่งออกไปมากเป็นอันดับ 1) เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มอายุในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็วที่สุดในหมู่ชาวสิงคโปร์อายุ 25-34 ปี ซึ่งระหว่างปี 2553 ถึง 2563 สัดส่วนผู้ชายเป็นโสดในช่วงอายุ 25-29 ปีเพิ่มขึ้นจาก 74.6% เป็น 81.6% และคนโสดผู้หญิงเพิ่มเป็น 69% จาก 54%

และเมื่อมองที่ประชาชนที่แต่งงานแล้วในสิงคโปร์ก็ปรับตัวลดลงจาก 60.1% เหลือเพียง 58.8% ซึ่งนั่นก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ความต้องการอัญมณีและเครื่องประดับสำหรับแต่งงานลดน้อยลง

และถึงแม้จะเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า ประเทศไทย นั้น มีชื่อเสียงในเรื่องของงานฝีมือ แถมอัญมณีและเครื่องประดับจากไทยก็ได้รับการยอมรับในระดับสากล จากความละเอียด ความคงทน และเทคนิคพิเศษทางอัญมณีของไทย และตลาดอัญมณีและเครื่องประดับยังมีโอกาสขยายตัวหลังจาก COVID-19 คลี่คลาย

แต่เจ้าของกิจการจะต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่เช่นเดียวกัน เพื่อทำให้สินค้าตอบโจทย์ในทุกช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างตราสินค้าให้โดดเด่น และที่สำคัญต้องมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ใช้ในการผลิต เพื่อให้ประหยัดต้นทุน ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้เกิด ‘ความได้เปรียบเชิงแข่งขัน’

รวมไปถึงดีไซน์ให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าหลากหลาย เช่น ปัจจุบันหากเป็นวัยรุ่น และวัยกลางคน จะเน้นเครื่องประดับที่เรียบหรู แบบมินิมอล ในขณะที่เรื่องของราคาต้องมีความเหมาะสมกับชิ้นงาน เพราะผู้บริโภคยุคใหม่นั้น มีตัวเลือกจากการซื้อสินค้าออนไลน์ ที่มีข้อมูลและราคาให้เปรียบเทียบ อีกทั้งยังมีความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพแต่ต้องคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปกับการซื้อสินค้านั่นเอง

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : ditp , tradereport ,กรมศุลกากร ,straitstimes.com

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #อัญมณี #เครื่องประดับ #ส่งออก #อัญมณีและเครื่องประดับ