ทำไมตลาด EV โลกโตไม่หยุด 2025-2035 ช่วงเวลาสำคัญของอุตสาหกรรม

นี่คือยุคเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างแท้จริงตลอดศตวรรษที่ 20 ยานยนต์เครื่องสันดาปภายใน (INTERNAL COMBUSTION ENGINE: ICE) ถือเป็นพระเอกในการขับดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แต่วันนี้ดูเหมือนภาพของพระเอกจะกลายเป็นอดีตไปซะแล้ว ภายใต้สถานการณ์สภาวะโลกร้อนที่กำลังคุกคามทุกชีวิตบนโลกใบนี้อย่างหนัก การเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านจึงต้องเกิดขึ้น ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Car กลายเป็นตัวเลือกที่ถูกพูดถึงอย่างหนักตลอดทศวรรษที่ผ่านมาว่าจะเข้ามาเป็นพระเอกตัวใหม่ที่จะแก้ปัญหาทั้งในมิติของเศรษฐกิจ และสภาวะโลกร้อนไปพร้อม ๆ กัน

ความนิยมของยานยนต์ไฟฟ้าตอนนี้มากขนาดไหน ดูได้จากการแข่งขันซูเปอร์โบวล์ 2022 ที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากทาง BloombergNEF เผยว่า ปริมาณการโฆษณาของยานยนต์ไฟฟ้าที่อยู่ในการแข่งขันครั้งนี้มากถึง 7 โฆษณา ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 4 ปี และเทียบเท่ากับจำนวนโฆษณาของยานยนต์สันดาปในปี 2019 เลยทีเดียว และนับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมาโฆษณาของยานยนต์ไฟฟ้าก็สูงกว่ายานยนต์เครื่องสันดาปมาโดยตลอด และหากลงลึกไปอีกนิดจะพบว่า ค่าใช้จ่ายโฆษณายานยนต์ไฟฟ้าเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ทั้งหมดของโฆษณายานยนต์ในสหรัฐฯ ปี 2021 ตัวเลขการใช้จ่ายพุ่งขึ้นกว่า 3 เท่าจาก 2.0% ในปี 2020 มาอยู่ที่ 7.5% ในปี 2021 เลยทีเดียว นั่นทำให้ตอนนี้น่าจะพอพูดได้แล้วว่ายานยนต์ไฟฟ้าจะกลายเป็น พระเอกคนใหม่ ของการขับดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจากนี้

ภาพรวมยานยนต์ไฟฟ้าในระยะสั้น

ตอนนี้ยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกที่วิ่งอยู่บนถนนมีอยู่ราว 12 ล้านคัน และกว่า 1 ล้านคันในนั้นเป็นกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เช่น รถบัส รถตู้แวน รถบรรทุก ขณะที่รถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก (น้อยกว่า 50 ซีซี) มีอยู่ราว 260 ล้านคันทั่วโลก พร้อมกับราคาแบตเตอรี่ที่ราคาถูกลงอย่างต่อเนื่อง ตบท้ายด้วยนโยบายภาครัฐที่ออกมาสนับสนุนเพื่อกระตุ้นให้เรามุ่งไปสู่การเป็น ‘Net Zero Emission’ ในหลายประเทศ ยิ่งทำให้เกิดแรงกระตุ้นจากผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังทยอยปล่อยของเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก นั่นทำให้ปี 2022 ถูกมองว่าจะเป็นปีที่มีการเพิ่มขึ้นของยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกอย่างมีนัยยะสำคัญ
โดยยอดขายยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2025 ถูกคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 3.1 ล้านคันในปี 2020 ไปสู่ 14 ล้านคัน ซึ่งคิดเป็น 16% ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลกในปี 2025 ขณะที่ประเทศเยอรมันจะกินส่วนแบ่งตลาดมากกว่าใครเพื่อนคิดเป็นราว ๆ 40% ของยอดขายที่เกิดขึ้นทั้งหมดในปี 2025 ขณะที่ประเทศจีนจะอยู่ที่ 25% นี้แสดงให้เห็นว่าจีนและยุโรปจะครอบครองตลาด EV ของโลกนี้ในปี 2025 โดยตัวผลักดันของยุโรปคือ Europe’s Vehicle CO2 Regulations หรือมาตรฐานการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของยานยนต์ที่ใช้ในยุโรป ด้านจีนก็จะมีกฎเกณฑ์ด้านเชื้อเพลิงของจีน และระบบเครดิตยานยนต์พลังงานรูปแบบใหม่เป็นตัวขับดัน

โดยจากมุมมองของทาง BloombergNEF เผยว่า ยานยนต์ไฟฟ้าแบบ Plug-In Hybrid (PHEV) จะมียอดขายที่เติบโตรวดเร็วในระยะสั้นสำหรับประเทศยุโรป โดยมีสาเหตุมาจากเป้าหมายด้าน CO2 ที่เข้มงวด แต่จากนั้นจะค่อย ๆ เลือนหายไป พร้อมกับราคาแบตเตอรี่ที่ถูกลงอย่างต่อเนื่อง นโยบายที่หนุนยานยนต์ไฟฟ้าแบบ Plug-In Hybrid (PHEV) จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากยุโรปและญี่ปุ่นแล้ว PHEV จะไม่สามารถครองส่วนแบ่งตลาดใด ๆ ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยยอดขายเกือบ 80% ทั่วโลกในปี 2025 จะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า

ปัจจุบันยานยนต์ไฟฟ้ามีแค่ 12 ล้านคันบนโลกนี้เท่านั้น หรือคิดเป็น 1% ของยานยนต์ทั้งโลก แต่ในปี 2025 จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่ามาอยู่ที่ 54 ล้านคัน โดยการเติบโตไม่ได้เกิดขึ้นกับรถยนต์ส่วนบุคคลเท่านั้น เพราะนาทีนี้กลุ่มยานยนต์อื่น ๆ ก็ได้มีการนำเอาพลังงานไฟฟ้าไปปรับใช้งานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กลุ่มยานยนต์ 2 ล้อ และ 3 ล้อ มีมากถึง 44% ของโลกที่เป็น EV โดยประเทศจีนถือเป็นตลาดใหญ่สำหรับกลุ่มนี้ แต่ในช่วง 3-4 ปีจากนี้อัตราการเติบโตจะต่ำลงเนื่องจากตลาดเริ่มอิ่มตัว ก่อนจะกลับมาคึกคักอีกครั้งอย่างรวดเร็วในช่วง 2025 การกลับมาคึกคักในครั้งนี้จะอยู่ในฐานะผู้ผลิตไม่ใช่ผู้ใช้อีกแล้ว โดยประเทศที่กำลังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในกลุ่มนี้คือ ไต้หวัน เวียดนาม และอินเดีย เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้น่าจะเป็นผู้ซื้อใช่หรือเปล่า?

ปัจจุบันมีรถบัสไฟฟ้าบนถนนกว่า 600,000 คันทั่วโลก และเป็นยอดขายใหม่ถึง 39% และคิดเป็น 16% ของฝูงยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก โดยประเทศจีนมีสัดส่วนใหญ่ที่สุดในกลุ่มนี้ปี 2020 มียอดขายกว่า 74,000 คัน ซึ่งตอนนี้ตลาดจีนในกลุ่มนี้ก็เป็นอีกกลุ่มที่เริ่มอิ่มตัวเช่นกัน และทาง BloombergNEF ประเมินว่าการเติบโตในกลุ่มยานยนต์ประเภทนี้หลังจากนี้จะไปอยู่ที่ประเทศอื่น ๆ แทนอย่าง ทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ เกาหลีใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และอเมริกาใต้ พร้อมคาดการณ์ว่ายอดขายรถบัสไฟฟ้านอกประเทศจีนจะพุ่งแตะ 14,000 คันในปี 2025 จาก 5,000 คันในปี 2020 สำหรับตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ รถบัสไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้า 2 และ 3 ล้อ จะถือเป็นโอกาสที่ใหญ่มากสำหรับกลุ่มนี้ในระยะสั้น ด้านรถแวนไฟฟ้าและรถบรรทุกเชิงพาณิชย์จะยังโตช้า แต่ประเด็นคุณภาพอากาศจะทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มนี้โตในหลายปีจากนี้ โดยมีสาเหตุสำคัญอื่น ๆ นอกจากคุณภาพอากาศ เช่น ราคาแบตเตอรี่ที่ต้นทุนถูกลง ตรงนี้นำมาสู่การวิ่งได้ไกลมากขึ้นต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตลาด EV จีนโต 100% เรื่องปกติ

ประเทศจีนนั้นเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลก โดยรถยนต์ไฟฟ้าครึ่งหนึ่งของที่ผลิตและขายบนโลกใบนี้ในปี 2018 มาจากจีน ขณะที่จีนถือเป็นผู้ผลิตรถบัสไฟฟ้า 99% ของโลกใบนี้อีกด้วย ที่จริงแล้วพัฒนาการของจีนด้านนี้มีมาตั้งแต่ปี 2001 หรือกว่า 20 ปีที่แล้ว ซึ่งทางการจีนได้เริ่มโครงการ the “863 EV Project” ที่มุ่งพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์ประเภทไฮบริด และอื่น ๆ และในปี 2004 ทางคณะกรรมาธิการด้านการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติของจีน (National Development and Reform Commission – NDRC) ได้มีการตีพิมพ์นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ขึ้นอย่างเป็นทางการ และในปีเดียวกันนั้นรัฐวิสาหกิจของจีน 17 แห่งก็จับมือกันก่อตั้งสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในกรุงปักกิ่ง โดยเป้าหมายของสมาคมผสมผสานมาตรฐานเทคโนโลยี และสร้างกลไลผ่านผู้มีส่วนได้เสียในการแบ่งปันข้อมูล เพื่อที่จะพัฒนาตลาดยานยนต์ไฟฟ้าอันแข็งแกร่งให้เกิดขึ้น ซึ่งบริษัทเหล่านั้นได้มีการลงทุนร่วมกันรวมเป็นเงินกว่า 14,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐจนถึงปี 2012 (ในปี 2007 ภาครัฐมีการลงทุน 300 ล้านดอลาร์สหรัฐในการพัฒนายานยนต์ทางเลือก)

นี่คือพื้นฐานการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในจีน ซึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกันของภาครัฐและเอกชนอย่างหนักตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี เพื่อจะมาเห็นผลลัพธ์กันในวันนี้ ตอนนี้ประเทศจีนได้กลายเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อยแล้วในทุก ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็น แบตเตอรี่ โครงสร้างพื้นฐาน และแม้แต่การออกแบบ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ดูได้จากยอดส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าของจีนในปี 2021 ที่ผ่านมา 5 บริษัทอันดับแรกที่ขายดีที่สุดทำยอดขายรวมกันไปมากกว่า 1,883,815 คันเลยทีเดียว โดยตัวเลขจากสมาคมยานยนต์ของจีน เผยว่า ยอดขายยานยนต์พลังงานทางเลือกพุ่งขึ้นถึง 18% ในเดือนพฤศจิกายน 2021 เมื่อเทียบกับตุลาคม 2021 ขณะที่ยอดการส่งมอบรถทั้งในชนิด EVs และ Plug-In Hybrids เพิ่มขึ้น 121% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าขึ้นไปแตะที่ 378,000 คัน (ตุลาคม 2021 อยู่ที่ 321,000 คัน) โดย 11 เดือนแรกของปี 2021 ยอดขายปลีกยานยนต์ไฟฟ้าประเภท NEV พุ่งไปอยู่ที่ 2.81 ล้านคันทั่วประเทศ

แม้ทางการจีนในวันนี้จะมีการลดเงินอุดหนุนอุตสาหกรรมนี้ลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีหลัง (ภาครัฐจีนมีการลดเงินอุดหนุนอุตสาหกรรมนี้ลงตลอด 3 ปีหลังคือ 2020-2022 ; 10%, 20% และ 30% ตามลำดับ) รวมไปถึงสถานการณ์ขาดแคลนชิปเซ็ตซึ่งเป็นหัวใจของอุตสาหกรรมนี้ จากสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และราคาแร่วัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ที่มีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการประเมินกันว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในภาพรวมจะสูญเสียกำไร คิดเป็นมูลค่ากว่า 14,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2021 และนั่นทำให้ยอดขายรถยนต์โดยภาพรวม (อันนี้รวมทั้งรถยนต์เครื่องสันดาปภายใน รถยนต์ไฟฟ้า และอื่น ๆ) ตกลง 12.5% ในเดือนพฤศจิกายน 2021 ที่ผ่านมา แต่คุณวิลเลียม หลี่ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท NIO บอกว่าตัวเขาเชื่อว่า ในทศวรรษนี้รถยนต์อัจฉริยะจะมีสัดส่วนคิดเป็นตัวเลขมากกว่า 90% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ในปี 2030

ยุโรป โตดีแค่บางส่วน คาดต้องลงทุนอีกกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตลาดยุโรปเป็นอีกตลาดที่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยในปี 2020 มีการเติบโตในยอดขายมากถึง 143% จากปี 2019 และนั่นทำให้ปี 2020 กลายเป็นปีที่ยุโรปมียอดขายแซงหน้าประเทศจีนเลยทีเดียว แม้ภาพรวมยอดขายรถยนต์ใหม่ในยุโรปจะตกลงกว่า 20% แต่ถ้านับเฉพาะ EV ตอนนี้มันกินส่วนแบ่งตลาดไปถึง 11% การเติบโตเหล่านี้ถูกกระตุ้นจากความจำเป็นที่ค่ายผู้ผลิตยานยนต์ทั้งหลาย จำเป็นต้องตอบสนองต่อมาตรการด้านการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เข้มงวดต่อรถยนต์และรถแวนใหม่ตั้งแต่เดือนมกราคม 2020 ของทางสหภาพยุโรป (European Union CO2 emission standards)

โดยในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าของยุโรปก็เป็นไปตามที่ BloombergNEF วิเคราะห์เอาไว้ว่าในระยะสั้นกลุ่ม PHEVs (ไฮบริด) จะขายดีกว่า BEV (แบตเตอรี่ไฟฟ้า 100%) ซึ่งตัวเลขในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ยานยต์ไฟฟ้าแบบ PHEVs ขายได้ 65,000 คัน เมื่อเทียบกับ BEV ที่ 50,000 คัน โดยรุ่นที่ขายดีที่สุดคือ Volvo xc40 ตรงนี้เหล่าผู้ผลิตชั้นนำไม่ว่าจะเป็น BMW, Toyota, Renault และ Volvo ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่ายานยนต์ไฟฟ้าแบบ PHEVs น่าจะยังสามารถขายได้ต่อไปอีกสักพักใหญ่ สืบเนื่องจากสาเหตุโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้สนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ยังไม่เพียงพอนั่นเอง โดยการผลิต PHEVs จะหยุดในช่วงราว ๆ ปี 2026 โดยประเทศอย่างเนเธอร์แลนด์ได้มีการหยุดให้เงินสนับสนุนการผลิตรถยนต์ประเภทนี้มาตั้งแต่ปี 2016 พร้อมคาดการณ์หากสหภาพยุโรปเดินหน้าตามแผนเพื่อบรรลุค่าคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นกลาง BEV น่าจะขึ้นมาครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 50% ในช่วง 2035 และ 60% ในช่วง 2050 โดยช่วง 2025-2035 จะโตแบบก้าวกระโดดที่สุด

หลายเมืองในยุโรปมีการเติบโตของการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2020 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะยุโรปทางตอนเหนือที่นำโดย ประเทศนอร์เวย์ที่มีอัตราการใช้รถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่มากกว่า 50% ขณะที่ประเทศสวีเดน และฟินแลนด์ต่างก็มีการใช้งานมากถึง 25% เลยทีเดียว แต่แม้จะมีการเติบโตอย่างมากสำหรับตลาดยุโรป แต่โดยภาพรวมต้องบอกว่าตลาด EV ของยุโรปโตแบบคนขาดสารอาหาร หรือโตเป็นบางส่วนเท่านั้น เพราะถ้าขยับไปดูอย่างกรุงโรมของประเทศอิตาลียอดการใช้งาน EV ขึ้นจาก 1% ในปี 2019 มาอยู่ที่ 5.5% ในปี 2020 เท่านั้น สาเหตุตรงนี้ส่วนหนึ่งมาจากการที่โครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่างที่ชาร์จยังถือว่าไม่เพียงพอ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ เช่น สถานีชาร์จไฟที่ยังน้อย รวมไปถึงการชาร์จไฟที่นาน เพราะไม่ใช่ทุกสถานีจะมีหัวชาร์จแบบ Fast Charge รวมไปถึงระยะการวิ่งของรถยนต์ไฟฟ้าที่อยู่ระหว่าง 400-500 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง

โดยผู้เล่นสำคัญที่จะเป็นตัวผลักดันให้การใช้รถยนต์ไฟฟ้าครอบคลุมมากขึ้นก็คือนโยบายจากทางสหภาพยุโรป ประเทศ และท้องถิ่น โดย European Union CO2 emission standards รวมไปถึงการมอบสิทธิประโยชน์ทางการเงินอื่น ๆ โดยรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศผู้นำทั้งหลายที่จะต้องดำเนินนโยบายด้านนวัตกรรมเพื่อกระตุ้นให้เกิดความสะดวกในการใช้งาน EV รวมไปถึงความตระหนัก และราคาที่สามารถจับต้องได้ โดยหลายประเทศที่เป็นกลุ่มนำบางกลุ่มของตลาดนี้ได้มีการสร้าง ‘Zero Emission Zones’ ขึ้นมา ซึ่งตรงนี้ใครที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าก็จะได้สิทธิประโยชน์เช่น จอดรถฟรี การเข้าถึงเลนขับพิเศษสำหรับ EV โดยเฉพาะ และลดค่าธรรมเนียมการใช้ถนน โดยประเทศอย่างเยอรมันได้มีการผลักดันแผนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นมูลค่ากว่า 5,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2024 ซึ่งประเทศอื่น ๆ ก็จำเป็นต้องลงทุนในลักษณะแบบนี้เช่นกัน ด้านสหภาพยุโรปก็คาดว่าจะมีการใช้เงินมากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อดำเนินการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านนี้ให้เพียงพอต่อความต้องการ

สหรัฐฯ การแทรกแซงจากรัฐบาล หัวใจ การเติบโต

สหรัฐอเมริกา ถือเป็นตลาดเบอร์ 3 ของโลกในเวลานี้สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า โดยในปี 2010 รถยนต์ไฟฟ้ามีใช้อยู่แค่ไม่กี่พันคันเท่านั้น ก่อนจะก้าวกระโดดขึ้นมาเป็น 315,000 คัน ในช่วงปี 2018-2020 โดยตัวเลข ณ ปี 2020 พวกมันมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 2.4% เท่านั้นในประเทศนี้ และรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่ที่มีการลงทะเบียนส่วนใหญ่ก็กระจุกตัวอยู่ในหัวเมืองสำคัญมากถึง 77% โดยเมืองลอสแอนเจลิส (Los Angeles) ที่ถือว่ามีพื้นที่จำนวนมากมีรถยนต์ไฟฟ้าอยู่แค่ 46,000 คันเท่านั้น ตามมาด้วยซานฟรานซิสโก (San Francisco) 24,000 คัน และนครนิวยอร์กที่ 23,000 คัน ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างพื้นฐานที่จะมารองรับการเติบโตที่ยังไม่เพียงพอของสหรัฐฯ ทำให้การใช้งานยากจะเกิดขึ้นในวงกว้างได้ โดยในสหรัฐฯ ปี 2020 เมืองซานโฮเซ (San Jose) ในแคลิฟอร์เนีย เป็นเมืองเดียวที่มีแท่นชาร์จมากกว่า 1,000 แท่นต่อประชากรล้านคน แต่อย่างรัฐแคลิฟอร์เนียมีแท่นชาร์จอยู่เพียง 300-400 แท่นต่อประชากรล้านคนเท่านั้น (ค่าเฉลี่ยสหรัฐฯ จะอยู่ที่ราว 300-400 แท่นต่อประชากรล้านคน) ขณะที่กว่าครึ่งของประชากรในประเทศอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีแท่นชาร์จเพียง 42 แท่นต่อประชากรล้านคนเท่านั้น หรือน้อยกว่า 20% ของค่าเฉลี่ย และโดยเฉลี่ยแล้วมีแค่ 10% ของรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้นที่มีแท่นชาร์จรองรับ 935 แท่นต่อประชากรล้านคนเท่านั้น

ขณะที่ UBS Group AG ธนาคารเพื่อการลงทุนข้ามชาติของสวิตฯ และบริษัทให้บริการทางการเงินที่ก่อตั้ง และตั้งอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ประเมินว่า ในปี 2021 นี้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ จะโตเป็น 2 เท่าไปสู่ 656,866 คัน (ทั้งแบบไฮบริดและไฟฟ้าล้วน) หรือคิดเป็น 4.4% ของตลาดรถยนต์รวมของสหรัฐฯ โดยแบรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดปี 2021 ในอเมริกาก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เทสลา นั่นเอง ตัวเลขผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าของ เทสลา ที่นี่สูงมากถึง 60% เลยทีเดียว (เทสลาโมเดล 3 มียอดขายสูงสุดที่ 96,000 คันในปี 2020 เทสลาโมเดล Y อยู่ที่ 75,000 คัน) และเมื่อรวมอันดับสองและสามเข้าไปด้วยอย่าง Rivian และ Lucid จะครอบคลุมตลาดมากถึง 83% ของมูลค่าตลาดรถยนต์สหรัฐฯ เลยทีเดียว

ทาง UBS Group มองว่าการเข้ามาแทรกแซงจากฝั่งรัฐบาลจะถือเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ และอุตสาหกรรมส่วนนี้เข้าไปอยู่ในขอบเขตของโครงการโครงสร้างพื้นฐานของฝั่งตะวันตกอย่าง the “Build Back Better” ซึ่งจะได้รับข้อเสนอพิเศษทางด้านภาษีด้วย และเมื่อผนวกเข้ากับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในสหรัฐฯ ของรัฐบาลโจ ไบเดน ซึ่งจะมีการกันเงินสำหรับลงทุนสร้างแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเป็นมูลค่ากว่า 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นั่นทำให้โอกาสทางธุรกิจของรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ ยังมีช่องว่างให้โตได้อีกมากพอสมควร

ภาพรวมระยะยาว

ยานยนต์ไฟฟ้านั้นถือเป็นหนึ่งในหัวใจของการบรรลุเป้าหมาย ‘Net Zero Emission’ ของทุกประเทศบนโลกใบนี้ เพราะฉะนั้นรถยนต์ไฟฟ้าสุดท้ายแล้วจะต้องก้าวเข้าสู่ชนิดที่เป็นZEV (Zero-Emission Vehicle) ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตรงนี้จะเกิดขึ้นได้มากน้อยปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐในแต่ละประเทศ ซึ่งทาง BloombergNEF มองว่าถ้าจะบรรลุเป้าหมายเรื่อง CO2 ให้ได้ ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2030 จะต้องกินสัดส่วนยอดขายรถยนต์รวมทั่วโลกให้ได้มากกว่า 60% หรือ 218 ล้านคัน แต่ถ้าหากรัฐบาลทั่วโลกไม่จริงจัง แนวโน้มตัวเลขดังกล่าวจะอยู่ที่แค่ 34% เท่านั้น

ขณะที่ในปี 2040 รถยนต์แบบ Zero-Emission Medium และ Heavy Commercial Vehicle จะต้องคิดเป็น 95% ของยอดขายเพื่อสร้างมาตรฐานสำหรับรถบรรทุกในด้าน CO2 แต่ถ้าปราศจากนโยบายบังคับตัวเลขนี้จะอยู่ที่ 30% เท่านั้น นอกจากนี้รัฐบาลจะต้องสั่งการให้หน่วยงานต่าง ๆ และระบบขนส่ง (ผู้ให้บริการขนส่งของภาครัฐ) รวมไปถึงการพิจารณาขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกขนาดเล็ก ซึ่งสามารถชาร์จไฟได้เร็วกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจะมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับการแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายสนับสนุนโดยเฉพาะกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยมีการประเมินกันว่าปี 2035 ตัวเลข “Adoption Gap” ของยานยนต์ 2-3 ล้อจะอยู่ที่ 23% และรถบัสไฟฟ้าที่ 13% และรถยนต์ไฟฟ้า 42% และจะต้องทำควบคู่ไปกับการหยุดขาย รถยนต์เครื่องสันดาปภายใน ภายในปี 2035 และเลิกใช้บนถนนปี 2040

ขณะที่รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนจะต้องคิดเป็นสัดส่วน 10% สำหรับยานยนต์ขนาดกลาง และรถบรรทุกเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่บนถนนในปี 2050 และ 16% จะต้องถูกใช้สำหรับรถบัส โดยช่วงเวลา 7 ปีจากนี้ คือ 2022-2030 มูลค่าตลาดยานยนต์ไฟฟ้าจะอยู่ที่ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และถ้านับไปจนถึงปี 2050 จะอยู่ที่ 46 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

แปล เขียน และเรียบเรียง : เอกพล มงคลพัฒนกุล

ที่มา : BloombergNEF

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #รถยนต์ไฟฟ้า #EV #แบตเตอรี่ #จีน #ยานยนต์ไฟฟ้า #ยุโรป #สหรัฐ