เอสซีจีทรานส์ฟอร์มต่อเนื่องรับ 3 เมกะเทรนด์ บริหารต้นทุน-คว้าโอกาสเศรษฐกิจโลกฟื้น

สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ถือเป็น “ปัจจัยหลัก” ที่สร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลกต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ที่โลกรวมถึงไทยกำลังเผชิญ “ภาวะเงินเฟ้อ” จากต้นทุนพลังงาน ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวตามสถานการณ์โควิด19 ที่สามารถรับมือได้มากขึ้น ผลักดันให้กำลังซื้อให้ปรับตัวสูงขึ้น  นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการเร่งตัวของเทคโนโลยีดิจิทัล ขณะที่โลกยังเผชิญกับ “วิกฤตสิ่งแวดล้อม” หนักหน่วง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจต้องปรับกลยุทธ์รับมือ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

**เร่งทรานส์ฟอร์ม 3 เมกะเทรนด์ รับมือสถานการณ์โลก

คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ระบุว่าในปี 2565 เอสซีจี จะเร่ง
ทรานส์ฟอร์มธุรกิจไปใน 3 เมกะเทรนด์
สอดรับกับสถานการณ์ มีส่วนแก้วิกฤตสิ่งแวดล้อมโลก ประกอบด้วย

เทรนด์แรก :ชู ESG (Environmental, Social and Governance) ในการดำเนินธุรกิจ เอสซีจีใช้ ESG 4 Plus “มุ่ง Net Zero – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ ภายใต้ความเป็นธรรม โปร่งใส” เป็นกรอบพัฒนาที่เป็นมาตรฐานการดำเนินธุรกิจระดับโลกสอดคล้องกับเป้าหมายพัฒนาอย่างยั่งยืน SDGs ของสหประชาชาติและ BCG Economy ของภาครัฐ   เอสซีจีเตรียมเงินลงทุนเบื้องต้น 70,000 ล้านบาทภายในปี 2573 เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตและพัฒนาธุรกิจคาร์บอนต่ำ ให้บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 (Net  Zero 2050)

“ปีที่ผ่านมา เอสซีจี สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตได้ 1.3 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่สัดส่วนผลิตภัณฑ์ฉลาก  SCG Green Choice เพิ่มจากร้อยละ 33 เป็นร้อยละ 41 ของผลิตภัณฑ์รวม เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า” คุณรุ่งโรจน์กล่าว

เทรนด์ที่สอง : การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า ไปพร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น เทคโนโลยี Digital Twin ตัวแทนเสมือนที่ช่วยประเมินผลเพื่อปรับรูปแบบการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ CPAC Green Solution ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้บริหารงานก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลใช้บริหารการจัดจำหน่ายซึ่งมีเครือข่ายใหญ่ที่สุด อาทิ ‘Prompt Plusแพลตฟอร์มสั่งซื้อสินค้าวัสดุก่อสร้างสำหรับร้านค้ารายย่อยกว่า 9,000 ร้านค้าทั่วประเทศ

เทรนด์ที่สาม : การพัฒนานวัตกรรมโซลูชันรับเทรนด์การรักษ์สุขภาพและยกระดับคุณภาพชีวิต เช่นกลุ่มนวัตกรรมพลาสติกเพื่อการแพทย์ เช่น แคปซูลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ ระบบไอออนกำจัดเชื้อโรคในอากาศ SCG Bi-Ionization Air Purifier ช่วยลดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสภายในบ้านและอาคาร ระบบหลังคา SCG Solar Roof Solutions ที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากหลังคาบ้าน ช่วยลดค่าไฟ และยังสามารถผลิตไฟฟ้าจากหลังคาโรงจอดรถ เพื่อใช้งานร่วมกับยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ได้อีกด้วย

เอสซีจียังให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือสังคม ตามแนวทาง ESG มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ สำหรับผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยดำเนินโครงการพัฒนาทักษะอาชีพที่ตลาดต้องการ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 3,000  คน และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 20,000 คนในปี 2568 เช่น อาชีพขับรถบรรทุกโดยโรงเรียนทักษะพิพัฒน์ ช่างปรับปรุงบ้าน โดย Q-Chang (คิวช่าง) แปรรูปผลิตภัณฑ์ ผ่านโครงการพลังชุมชน ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ นักบริบาลผู้สูงอายุ จากโครงการ Learn to Earn โดยมูลนิธิเอสซีจี ทั้งนี้ เอสซีจียังมอบทุนการศึกษาอาชีพที่ขาดแคลนให้เยาวชนในอาเซียน เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร ครู   รวมถึงให้ความรู้ด้านบริหารจัดการน้ำในชุมชนเพื่อให้มีน้ำอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร เพิ่มผลผลิต มีรายได้มั่นคง นอกจากนี้ ยังได้ส่งมอบนวัตกรรมป้องกันโควิด 19 ทั้งในไทยและอาเซียนอย่างต่อเนื่องมูลค่า 470 ล้านบาท

“เรามาถึงจุดต้องก้าวข้ามวิกฤตโควิด  หมายถึงโควิดเริ่มรับมือได้ ทำให้โลกมีความต้องการสินค้ามากขึ้น แต่ธุรกิจก็ต้องรับมือกับต้นทุนพลังงาน ต้นทุนวัตถุดิบ รวมถึงต้นทุนทางการเงินที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เอสซีจีจึงต้องเน้นการบริหารจัดการต้นทุน ใช้พลังงานและวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ  ไปพร้อมกับการใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน มีส่วนแก้วิกฤตโลก ซึ่งก็ครอบคลุมใน 3 เทรนด์ที่จะเร่งดำเนินการในปีนี้” คุณรุ่งโรจน์กล่าว

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ยังได้อนุมัติแผนการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของเอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ไม่เกินร้อยละ 25.2 ของทุนชำระแล้วของเอสซีจี เคมิคอลส์  โดยคาดว่าจะจัดสรรหุ้น IPO ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ (Pre-emptive Right) ไม่เกินร้อยละ 15 ของหุ้น IPO ทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อระดมทุนเดินหน้าขยายธุรกิจศักยภาพสูง สร้างความเติบโตอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคอาเซียน ตอบโจทย์ตลาดโลก

จะเห็นได้ว่า แม้ในปี 2565 จะยังคงเป็นปีที่ “ท้าทาย” สำหรับการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะจากภาวะต้นทุนพลังงาน ต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ทว่า “กำลังซื้อ” ที่เริ่มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก ถือเป็น “โอกาส” ที่เอสซีจีคว้าไว้ ภายใต้การเร่งทรานส์ฟอร์ม 3 เมกะเทรนด์ รับมือสถานการณ์อย่างทันท่วงที