ถึงคราวธุรกิจค้าปลีกต้องปรับตัว เพื่ออยู่รอด!! เปิดกลยุทธ์พลิกโฉม ‘ซูเปอร์มาร์เก็ต’ แนวใหม่ ที่เจ้าของกิจการควรทำ ในโลกหลัง COVID-19

เรารู้ดีกันอยู่แล้วว่า มาตรการที่คุมเข้มของภาครัฐของทุกประเทศในช่วงที่ผ่านมาทำให้การออกไปซื้อของในห้างสรรพสินค้า ได้รับความนิยมน้อยลง บางส่วนกังวลจะติดโรคระบาด และอีกบางส่วนคุ้นชินกับการสั่งสินค้าออนไลน์ไปแล้ว

ถึงแม้ว่าในหลายประเทศ (รวมถึงไทย) จะเริ่มคลายมาตรการกันไปบ้างแล้ว หลังยอดฉีดวัคซีนครบโดสมากขึ้น แต่การที่จะทำให้คนกลับมาใช้บริการเท่าก่อนเกิดโควิด-19 ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

ส่วนในโซนซูเปอร์มาร์เก็ตแม้จะมียอดขายสินค้าประเภทอาหารค่อนข้างสูงเพราะคนกักตุนสินค้า แต่เรามองว่า พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้า และการออกจากบ้านที่เปลี่ยนไปจะทำให้การออกมาจับจ่ายข้างนอกน้อยลงในช่วงที่โควิด-19 ผ่านพ้นไป

ดังนั้น ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีก และซูเปอร์มาร์เก็ตจำเป็นต้องปรับปรุง และใช้กลยุทธ์เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคกลับมาจับจ่ายให้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโรคระบาดให้ได้มากที่สุด

โดยการปรับตัวที่ว่านั้น ต้องเริ่มตั้งแต่การปรับพื้นที่ขายสินค้า ซึ่งใช้ต้นทุนสูงที่สุด เพราะจะต้องมีการลงทุนโดยใช้เงินลงทุนที่เรียกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกโดยคำนึงถึงการใช้สอยพื้นที่ภายในร้าน

เจ้าของกิจการบางแห่งอาจจะต้องต่อเติม ขยายพื้นที่เพิ่ม และอีกบางส่วน ต้องรีโนเวทเฟอร์นิเจอร์ บิวท์อิน เพื่อให้ประหยัดพื้นที่ลดการแออัดให้ได้มากที่สุดเพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม (หากเราเห็นว่าร้านค้าปลีก รายไหนมีคนเยอะ และแออัดมาก คนก็จะไม่อยากเข้าไปใช้บริการ) การเพิ่มพื้นที่จึงเป็นสิ่งสำคัญ

นอกจากนี้พฤติกรรมที่หันมาใส่ใจความสะอาด และสุขภาพอนามัยมากขึ้น ทำให้ร้านค้าจะต้องคำนึงการดูแล และทำความสะอาด รวมไปถึงให้ลูกค้าตรวจสอบสินค้าได้ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์สินค้า และรูปแบบของการจัดเก็บรักษาก่อนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งเชื่อว่าเป็นอีกสิ่งที่ผู้บริโภคมองหา และมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า

ซึ่งค่าใช้จ่ายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด รวมไปถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าใหม่ ถือเป็นต้นทุนผันแปร (Variable Cost)

ต้นทุนทั้ง 2 ข้อที่กล่าวมานั้น จะไปรวมอยู่ในการบันทึกบัญชีในงบการเงิน สิ่งที่จะได้เห็นทันทีหากทำการปรับโฉมคือ ต้นทุน และค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น หากบางกิจการต้องไปกู้ยืมมา ก็จะทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้น และตามมาด้วยภาระดอกเบี้ย ทั้งหมดนี้ส่งผลโดยตรงต่องบกำไรขาดทุน

แต่หากไม่ทำการปรับโฉมก็จะไม่สามารถดึงดูดให้คนหันกลับมาใช้บริการได้ รายได้ของกิจการจะไม่ฟื้นกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งจะเป็นผลกระทบที่เลวร้ายกว่า ดังนั้น อาจพูดได้ว่า ต้นทุนเหล่านี้เป็นสิ่งที่ ‘จำเป็น’ สำหรับการรักษากิจการให้ดำเนินต่อไปได้

ทีนี้เรามาสำรวจธุรกิจการออกแบบ ตกแต่งภายใน และอาคารกันบ้างว่าสอดคล้องกับความต้องการจริงหรือไม่?
ข้อมูลจาก ‘กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ’ ระบุว่า บริษัท Shook Kelly ผู้ให้บริการออกแบบ-ตกแต่งอาคารจากสหรัฐฯ เปิดเผยว่าในช่วงที่มีมาตรการผ่อนคลายในการป้องกันและการแพร่ระบาดของโควิด-19 เจ้าของกิจการซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าปลีกได้มาขอคำปรึกษา เพราะต้องการปรับเปลี่ยนพื้นที่ขายของในร้านค้าเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน

เป็นไปในทิศทางเดียวกับบริษัท GH+A ซึ่งรับออกแบบ-ตกแต่งภายในจากเมืองมอนทรีออลแคนาดา ที่ระบุว่า วิกฤตโรคระบาดนี้มาเป็นตัวเร่งให้ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ต้องปรับรูปแบบพื้นที่ขายเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วยเช่นกัน

สำหรับเทรนด์การปรับโฉมซูเปอร์มาร์เก็ตยุคหลังโควิด-19 ที่นักออกแบบแนะนำให้ผู้ประกอบการคำนึงถึง โดยตั้งอยู่ใน 3 เทรนด์สำคัญ คือ ต้องสร้างประสบการณ์การช้อปให้สนุก มีความยืดหยุ่นการใช้พื้นที่ภายในร้าน และคำนึงถึงความมีส่วนร่วมกับสินค้าท้องถิ่น

เช่น การออกแบบซูเปอร์มาร์เก็ตที่ให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์เพื่อก่อให้เกิดความต้องการสินค้า เช่น การออกแบบจัดวางพื้นที่ครัว เตาอบพิซซ่า/ขนมปังผ่านห้องกระจกเพื่อให้ลูกค้าได้เห็นแทนที่จะซ่อนไว้ด้านหลัง เพราะลูกค้าส่วนมากชอบที่จะได้เห็นถึงขั้นตอนทำอาหารก่อนมาถึงมือผู้บริโภค

เทรนด์การออกแบบพื้นที่ให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามเทรนด์และตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคได้ดีที่สุด โดยที่มีค่าใช้จ่ายแก้ไขไม่สูงเกินไป เช่น การใช้อุปกรณ์และวัสดุก่อสร้างรวมถึงชั้นวางสินค้าต่างๆ ให้อยู่บนล้อเลื่อน เพื่อที่จะสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย หวังเพิ่มความยืดหยุ่นการใช้สอยพื้นที่ภายในห้างให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เทรนด์ที่ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้ออาหารที่มาจากท้องถิ่น เพื่อเป็นการบ่งบอกที่มาสินค้าจากท้องถิ่นให้ชัดเจน เพราะจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะช่วงเวลาหลังจาก COVID-19 ที่จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกได้ว่าการซื้อผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสนับสนุนเกษตรกรในประเทศหรือคนท้องถิ่นในช่วงลำบากได้บ้าง และยังทำให้เรียนรู้เรื่องราวของสินค้าแหล่งที่มา และความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่นมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ ล้วนแต่เป็นกลยุทธ์การปรับตัวสำหรับกิจการค้าปลีก และซุปเปอร์มาร์เก็ต เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงไป ถึงแม้จะยังไม่สามารถยืนยันได้ว่ากลยุทธ์เหล่านี้จะประสบความสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน? แต่ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่หลายประเทศเลือกใช้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : SET, ditp ,กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ซุปเปอร์มาร์เก็ต #ค้าปลีก