พญามังกร รอวัน สยายปีก สี จิ้นผิง กับภารกิจพา จีน ปรับโครงสร้างประเทศ จัดการทุกสิ่งตั้งแต่ ผูกขาด ยัน มลพิษ

ตอนนี้นักลงทุนทั่วโลกล้วนมองไปที่ประเทศจีนด้วยหัวใจที่หวาดหวั่นขวัญผวา นับตั้งแต่ปลายปี 2020 จนถึงตอนนี้ภาครัฐของจีนเดินหน้ากำราบบริษัทเทคโนโลยีไม่หยุดหย่อน จนมูลค่าของบริษัทจำนวนมากร่วงไปมากกว่า 50% แล้วจนถึงนาที มาตรการปราบปรามและควบคุมบริษัทเทคโนโลยีเดินหน้าต่อเนื่องไม่หยุด และล่าสุดดูเหมือนมาตรการปราบปรามและควบคุมจะไม่ได้จบลงที่แค่บริษัทเทคโนโลยีซะแล้ว เพราะตอนนี้มาตรการควบคุมกำลังเร่งตัวไปสู่ทุกจุดในประเทศจีนตั้งแต่เรื่องการผูดขาดจนไปสู่เรื่องสภาพอากาศ

โดยประธานาธิบดีสี จิ้งผิง นั่งเป็นประธานในการประชุมระดับสูงเพื่อทบทวนและอนุมัติมาตรการต่อต้านการผูกขาดและต่อสู้กับสภาพอากาศที่เลวร้ายเพื่อค้ำยันยุทธศาสตร์สำรอง ทุกพื้นที่ที่สำคัญซึ่งรัฐบาลของเขาได้ผลักดันให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชากร 1,400 ล้านคน การดำเนินการด้านกฎเกณฑ์กำกับดูแลในครั้งนี้ของทางภาครัฐบาลจีนได้มุ่งไปที่การปรับปรุงระบบเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยม ซึ่งทางสำนักข่าวซินหัว รายงานว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งจะสร้างสถานการณ์ที่ยุติธรรมสำหรับทุก ๆ ธุรกิจ ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ขณะเดียวกันการขับดันครั้งนี้จะเป็นไปเพื่อปิดช่องว่างของความั่งคั่งไม่ให้ห่างกว้างมากเกินไป

ประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

-การบริหารจัดการที่เหมาะสมในทางยุทธศาสตร์ การตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อจัดเตรียมการป้องกันความเสี่ยงระดับสูง

-ขัดขวางและควบคุมการใช้อำนาจไปในทางที่ผิดในการควบคุมการแข่งขัน

-การสนับสนุนการใช้อำนาจในการควบคุมดูแลเพื่อต่อต้านการผูกขาด

-การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็งในพื้นที่หลายส่วนรวมไปถึง แพลตฟอร์มเศรษฐกิจ, นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และความปลอดภัยด้านข้อมูล

-ความคุมแผนงานอย่างเข้มงวดในส่วนที่มีการบริโภคพลังงานจำนวนมหาศาล ซึ่งนั้นจะเป็นผู้สร้างมลพิษขนาดใหญ่

-ก้าวเข้าสู่ขั้นตอนการแบนห้ามนำเข้าขยะทั้งหมด

-การทำให้แน่ใจถึงความแม่นยำในข้อมูลเพื่อประเมิน กลยุทธ์การพัฒนาที่สำคัญของประเทศจีน

นี่คือภาพใหญ่ที่เป็นแนวทางหลักในการดำเนินงานของภาครัฐบาลจีนทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นจากนี้ไปจนถึงปี 2025 โดยเราจะเห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นร้อยเรียงต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกันมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปจัดการเรื่องผูกขาดกับทางยักษ์ อีคอมเมิร์ซของตัวเองอย่าง อาลีบาบา หรือ เหม่ยถวน เตี่ยนผิง (Meituan-Dianping) เจ้าของแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ เป็นต้น

ล่าสุดช่วงต้นสัปดาห์นี้ (31 สิงหาคม 2021) รัฐบาลจีนก็เดินหน้าควบคุมอุตสาหกรรมเกม โดยพวกเขาจะอนุญาตให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เล่มเกมได้แค่ 3 ชั่วโมงต่ออาทิตย์ในเวลาที่ระบุเท่านั้นรวมถึงในวันนักขัตฤกษ์ (เวลาที่ระบุคือ 20.00 น. – 21.00 น.) ขณะเดียวกันทางภาครัฐได้เรียกร้องให้ใช้มาตรการลงทะเบียนและล็อกอินด้วยชื่อจริง โดยระบุว่าผู้ให้บริการเกมออนไลน์จะต้องไม่ให้บริการเกมแก่ผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนและล็อกอินด้วยตัวตนจริงทุกรูปแบบ ซึ่งนั้นทำให้มูลค่าบริษัทของ Tencent และ NetEase ปรับตัวลดลงจากข่าวร้ายนี้ แต่ผู้ลดลงทุนไม่ควรกังวลเกินไปเนื่องจากหากไปศึกษาดี ๆ จะพบว่า สัดส่วนผู้เล่นเกมของ Tencent และ NetEase ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีมีน้อยมาก

สำหรับทางภาครัฐของจีนแล้วพวกเขามองว่า เกมนั้นเหมือนฝิ่นหรือมุมหนึ่งคือ ยาเสพติด นั้นเอง ซึ่งการติดเกมของเด็ก ๆ จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตได้ เพราะหากพวกเขาใช้เวลาไปกับสิ่งเหล่านี้มากเกินไปถ้าหากไม่มีการควบคุมให้ดีก็จะกระทบต่อพัฒนาการของเด็กซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติที่วันหนึ่งพวกเขาจะต้องเป็นกำลังสำคัญในการพาชาติให้เจริญก้าวหน้าเพื่อแข่งขันกับชาติอื่น ๆ ในโลกใบนี้ รวมไปถึงการต่อต้านการรุกรานในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย

ธุรกิจเกม คือ หนึ่งในเรื่องย่อยของการปรับโครงสร้างประเทศครั้งใหญ่ของจีน

เรื่องอุตสาหกรรมเกมนั้นเป็นเพียงองค์ประกอบเล็ก ๆ ท่ามกลางองค์ประกอบมากมายที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศจีนในขณะนี้ โดยการประชุมครั้งนี้ทางท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิงและผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์มีเป้าหมายสำคัญ คือ การจัดการด้านความเท่าเทียมในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านรายได้ให้สมดุลมากขึ้นเมื่อเทียบระหว่างเมืองและชนบทของประเทศ โดยคำที่ถูกเน้นมากคือ “Common Prosperity”

โดย “Common Prosperity” จะถูกดำเนินงานในฐานะโปรแกรมต้นแบบซึ่งจังหวัดที่ถูกเลือกก็คือให้จุดทดลองก็คือ มณฑลเจ้อเจียง (มณฑลที่มั่งคั่งเป็นอันดับ 3 ของจีน) ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่มีความมั่งคั่งสูง พร้อมประชากร 65 ล้านคน และบริษัทที่ประสบความสำเร็จของเอกชนจีนจำนวนหนึ่ง เช่น อาลีบาบา เป็นต้น โดยนาย Kevin Chen ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเกาตรกรรมและชนบท ให้เหตุผลว่าที่ทางการเลือก มณฑลเจ้อเจียง เพราะว่ามีตลาดเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยภาคเอกชนใน เมืองหางโจว ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลเจ้อเจียงนั้นสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมให้กับมณฑลคิดเป็นถึง 66% และเมื่อเทียบในระดับชาติตัวเลขอยู่ที่ 60% โดย แผนเจ้อเจียง ที่แนะนำไปที่ปักกิ่งนั้นมีความต้องการเพิ่มรายได้ผ่านการลงทุนของภาคเอกชนไปในพื้นที่ยากจน เพื่อสนับสนุนผู้พักอาศัยในแถบชนบทให้เริ่มเป็นเจ้าของธุรกิจ

เป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำ

จริง ๆ แทบทุกประเทศจะมีปัญหานี้เกือบทั้งนั้น โดยในประเทศจีนค่าเฉลี่ยด้านความแตกต่างระหว่างรายได้ในเมืองกับชนบทห่างกันประมาณ 3 เท่า แต่ในเจ้อเจียงเองถือว่ามีความแตกต่างตรงนี้น้อยกว่าที่อื่นอยู่ที่ราว ๆ 2 เท่าเท่านั้น โดยแผนคือลดลงให้เหลือ 1.9 เท่าให้ได้ใน 5 ปี ส่วนจังหวัดไหนที่ทะลุเป้าไปแล้วในปัจจุบันสัดส่วนตรงนี้อยู่ที่แถว ๆ 1.8 เท่า โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวของเจ้อเจียงในปัจจุบันอยู่ที่ 15,480 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัว พร้อมเป้าหมาย ยืนเหนือ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัวในปี 2025

โปรแกรมต้นแบบ ความรุ่งโรจน์พื้นฐานเจ้อเจียง

โปรแกรม———————————–>เป้าหมาย 2025——ตอนนี้ 2020

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว———>15,480 USD———20,000 USD
จำนวนบริษัทที่ลงทะเบียน——————>11 ล้าน————–8.3 ล้าน
รายเฉลี่ยที่จับจ่ายได้———————–>11,597 USD———8,102 USD
ส่วนแบ่งค่าจ้างต่อ GDP——————–>50%—————–47.8%
อัตราความเป็นเมือง————————>75%—————–72.2%
สัดส่วนครัวเรือนที่มีรายได้ 15,500 USD -77,300 USD–>80%—–75%
การลงทะเบียนเรียนวิทยาลัย—————>70%—————–62.4%
อัตราความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างเมืองและชนบท–>ต่ำกว่า 1.9—-1.8

โดยทางคุณ Zeng Gang อาจารย์มหาวิทยาลัย East China Normal University ซึ่งมีส่วนร่วมในแผนการครั้งนี้ มองว่าการที่ทางปักกิ่งเลือกจังหวัดนำร่องแล้วแสดงให้เห็นว่านี้เป็นเส้นทางที่ถูกต้องแล้วสำหรับพวกเขา โดยแผนกลยุทธ์นี้ถูกเรียกว่าการลดความไม่เท่าเทียมระหว่างเมืองและการเพิ่มส่วนแบ่งการชดเชยแรงงานใน GDP มากกว่าครึ่ง เป้าหมายเหล่านี้ถูกวางอยู่บนแนวโน้มปัจจุบัน และพวกเขาก็เชื่อว่าไม่มีปัญหาที่จะบรรลุมันได้

โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางมณฑลเจ้อเจียงคุณ Yuan Jiajun บอกว่า การเติบโตของเศรษฐกิจยังไม่เป็นเรื่องสำคัญในโปรแกรม “Common Prosperity” และการเติบโตในลักษณะนี้จะทำให้ง่ายต่อการลดความเหลื่อมล้ำไม่มีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้น คาดการณ์รายได้เฉลี่ยของมณฑลเจ้อเจียงจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 7.4% ต่อปีใน 4 ปีถัดจากนี้ ลดลงเล็กน้อยจาก 9% ก่อนสถานการณ์โรคระบาด ขณะเดียวกันทางภาครัฐของจีนจะเพิ่มการพัฒนารูปแบบความเป็นเมืองให้เพิ่มขึนสองเท่าจากเดิม รวมไปถึงการยกระดับโรงงานผลิตเข้าสู่เทคโนโลยีระดับสูง

พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังตระหนักอีกว่า เรื่องราคาบ้านที่เพิ่มสูงขึ้นอาจจะนำมาซึ่งความไม่พอใจได้ เพราะตั้งแต่จีนเปิดตัวตลาดบ้านเชิงพาณชิย์ตั้งแต่สองทศวรรษก่อนราคาบ้านในจีนก็ขยับขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ตัวเลขโดยเฉลี่ยของทั้งประเทศตั้งแต่ปี 2009 ที่ราคาบ้านตารางเมตรละ 4,500 หยวน ตัวเลข ณ ปี 2019 อยู่ที่ตารางเมตรละ 9,300 หยวน หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% ขณะที่มณฑลเจ้อเจียงราคาปรับขึ้นเฉลี่ยปีละ 6% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ทางรัฐบาลของมณฑลแห่งนี้กำลังสำรวจและสร้างระบบสำหรับควบคุมราคาบ้านโดยไม่สนใจรายได้ของธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์

ซึ่งเรื่องนี้ยังเกี่ยวข้องกับภาษีอสังหาริมทรัพย์และมาตรการกระตุ้นเพื่อส่งเสริมการสร้างบ้านสำหรับเช่า รวมไปถึงการสร้างอพาร์ทเม้นท์ให้เช่าที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากภาครัฐกว่า 210,000 ยูนิต โดยทางจังหวัดมีแผนจะขยายบริการสาธารณะให้ไปถึงผู้ให้เช่า และทางภาครัฐจะจำกัดการเป็นเจ้าของบ้าน ขณะที่มณฑลเจ้อถือเป็นหนึ่งในมณฑลใช้เงินไปจำนวนมากระบบสุขภาพและการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรทำงานที่มีคุณภาพ ตอนนี้พวกเขาต้องการต้นทุนด้านการศึกษาภาคอนุบาลที่ต่ำกว่านี้ พร้อมเป้าหมาย 70% ของเด็กต้องเรียนจบวิทยาลัยเป็นอย่างน้อยในปี 2025 ซึ่งปุจจุบันค่าเฉลี่ยของจีนอยู่ที่ 62% ซึ่งก็ถือว่าสูงกว่าตัวเลขค่าเฉลี่ยของทาง OECD ที่ 58% ไปแล้ว

จีนตอนนี้ดูเหมือนจะวุ่นวายและถดถอย เนื่องจากการปรับโครงสร้างหลาย ๆ ด้านในประเทศของตัวเองเสียใหม่ โดยการปรับครั้งนี้สำหรับแอดมินแล้ว มันคือการเขย่าโครงสร้างของประเทศโดยรวมให้สมดุลมากขึ้น การเติบโตแบบสมดุลจะทำให้ความขัดแย้งในมิติต่าง ๆ ลดลง โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ซึ่งตรงนี้มักนำไปสู่จลาจลได้ในระยะยาว เพราะฉะนั้นการแตะเบรกตอนนี้คือการชะลอความเร็วของการเติบโตบางจุดลง เพื่อไม่ให้นำไปสู่การเติบโตแต่ส่วนหัวส่วนหางไม่ตามไปด้วย

ด้านการควบคุมอุตสาหกรรเกมและอุตสาหรรมการศึกษาเกิดขึ้นแทบจะพร้อมกันในเวลานี้ ช่วยย้ำเตือนให้เห็นถึงสายตาอันแหลมคมของภาครัฐจีนที่มีต่ออนาคตของชาติซึ่งวันหน้าจะเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไปในอนาคต เพราะเมื่อเด็กเอาแต่เล่นเกมในวัยที่พวกเขาควรจะมีพัฒนาการด้านอื่น ๆ ซึ่งสำคัญต่อชีวิตของเขามากกว่าแค่เล่นเกม นั้นทำให้พวกเขาจะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว และจะกลายเป็นภาระประเทศต่อไปในอนาคต ขณะที่ธุรกิจการศึกษาจะมุ่งแต่กำไรไม่ได้ เพราะหากมุ่งแต่กำไรก็จะลดการให้ความสำคัญกับการส่งมอบคุณค่าด้านการศึกษาในระยะยาวเหมือน ประเทศไทย คือตัวอย่างที่ชัดเจน

และทั้งหมดที่จีนกำลังทำอยู่นี้ก็เกิดขึ้นในจังหวะที่โลกทั้งใบกำลังต้องเขย่าโครงสร้างประเทศกันใหม่พอดี

เขียนและเรียบเรียง : เอกพล มงคลพัมนกุล

ที่มา : Bloomberg

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #จีน #สีจิ้นผิง #เศรษฐกิจจีน #ต่อต้านการผูกขาด #ธุรกิจเกม