BTS_WEB

ยกเลิกตั๋วเที่ยวเดินทางแบบ 30 วัน !!! BTS อ้างไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค

BTS ยกเลิกตั๋วเที่ยวเดินทางแบบ 30 วัน ด้านผู้ใช้บริการแห่ท้วงติง โวยอย่าซ้ำเติมลูกค้าในภาวะยากลำบาก !!!

จู่ ๆ ก็มีประกาศฟ้าผ่าออกมาจาก บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ BTS ว่าด้วยเรื่องที่บริษัทจะยกเลิกตั๋วเที่ยวเดินทางแบบ 30 วัน เนื่องจาก หลังการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 พฤติกรรมการเดินทางของผู้บริโภคได้เปลี่ยนไป การชำระค่าโดยสารล่วงหน้าแบบตั๋วรายเดือนอาจตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้จำกัด จึงขอจำหน่ายตั๋วชนิดดังกล่าวถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 เป็นวันสุดท้าย และจะยุติการจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ผู้ที่มีเที่ยวเดินทางคงเหลือ สามารถใช้งานได้ตามปกติจนกว่าเที่ยวเดินทางจะหมด หรือจนกว่าตั๋วจะหมดอายุการใช้งาน ส่วนโพรโมชันราคาพิเศษสำหรับนักเรียนนักศึกษาและผู้สูงอายุยังคงมีตามปกติเช่นเดิม

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที เพราะหากบริษัทยกเลิกโพรโมชันข้างต้น เท่ากับว่าภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว เมื่อคิดจากอัตราค่าเดินทางที่ 16-44 บาท (ไม่รวมค่าส่วนต่อขยายอีก 15 บาท) จากเดิมที่อยู่ที่ 26 บาท/เที่ยว ทำให้ผู้ใช้บริการจำนวนมากต่างไม่เห็นด้วย และวิจารณ์ว่านี่คือการซ้ำเติมผู้บริโภคในช่วงที่ผู้คนต่างได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ บางส่วนกล่าวว่าอาจเลิกใช้บริการเพราะไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นได้

ค่ารถไฟฟ้าไทยแพงเกินไปไหมเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ?

ไทย : หากคำนวณค่าแรงขั้นต่ำกับชั่วโมงการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน คนไทยจะมีรายได้เฉลี่ยชั่วโมงละ 37.5 บาท ในขณะที่ค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสเที่ยวละ 31-59 บาท (16+15 ในราคาเริ่มต้น และ 44+15 สำหรับระยะทางไกลสุด)

สิงคโปร์ : สิงคโปร์มีค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 112.5 บาทต่อชั่วโมง แต่มีราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณครั้งละ 35 บาท

ฮ่องกง : ฮ่องกงมีค่าแรงขั้นต่ำประมาณ 150 บาทต่อชั่วโมง และมีค่าโดยสารรถไฟฟ้าเพียงครั้งละประมาณ 46 บาท

เกาหลีใต้ : กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ กำหนดค่าแรงขั้นต่ำไว้ที่ ชั่วโมงละประมาณ 221 บาท โดยมีค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่อเที่ยวอยู่ที่ราว ๆ 37-96 บาท

ออสเตรเลีย : ออสเตรเลียที่กำหนดค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ราว ๆ 476 บาทต่อชั่วโมง ในขณะที่ค่าโดยสารรถไฟใต้ดินเริ่มต้นที่ประมาณเที่ยวละ 85-256 บาท

อังกฤษ : กรุงลอนดอนกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไว้ที่ประมาณ 350 บาทต่อชั่วโมง และมีค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ราวๆ ครั้งละ 80-90 บาท

เมื่อเทียบดูแล้ว ถือว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าในประเทศไทยสูงมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้บริโภคตบเท้ากันออกมาคัดค้านการขึ้นราคาในครั้งนี้ ซึ่งนี่ก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่ BTS ต้องประเมินว่า สุดท้ายแล้ว รายได้ต่อเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นมา จะคุ้มค่าพอกับปริมาณผู้ใช้และความไว้วางใจของลูกค้าที่ต้องเสียไปในวันนี้หรือเปล่า

เขียนและเรียบเรียง : ยลชนก โยธีจรัสศรี

ข้อมูล : thefeaturesth.com / Facebook.com/BTSSkyTrain

Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

ติดตาม Business+ ได้ที่ Facebook Business+