ช่วงวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจไหนสร้างกำไรได้สูงสุด?พบกลุ่มสินค้าเวชภัณฑ์ & อุปโภคบริโภค พารวยเละ!!

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่เข้ามาทำให้ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับปัญหาในหลายๆ ด้านจนประสบกับผลขาดทุน และต้องปิดกิจการในที่สุด แต่ในวิกฤตก็ยังมีอีกหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่เติบโตได้อย่างโดดเด่น จุดนี้จึงเป็นโอกาสสำหรับคนที่คอยมองหากลุ่มธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุน ทั้งในบทบาทของผู้ประกอบการ และนักลงทุน

ครั้งนี้ ‘เรา’ จะพาไปพบกับกลุ่มธุรกิจที่สร้างกำไรสุทธิให้กับบริษัทได้อย่างโดดเด่น ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทย (ตลท.)

เราใช้การคัดเลือกธุรกิจที่มีอัตราส่วนกำไรสุทธิ (Net Profit Margin) เฉลี่ยรายกลุ่มธุรกิจ สูงที่สุดทั้งหมด 6 อันดับแรก ที่มาจาก SET คือตลาดที่มีบริษัทขนาดใหญ่ ทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท ขึ้นไป และ mai ตลาดสำหรับบริษัทขนาดเล็ก ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท ขึ้นไป

ซึ่งก่อนจะไปว่ากันที่ข้อมูล จะขออธิบายในส่วนของอัตราส่วนอัตรากำไรสุทธิให้เข้าใจอย่างง่ายๆ อัตราส่วนนี้ เรียกอีกชื่อได้ว่า มาร์จิ้น เป็นตัวบ่งบอกความสามารถในการทำกำไรของบริษัท พูดง่ายๆ คือ บอกว่าธุรกิจที่ทำอยู่จะได้รับกำไร ซึ่งเกิดหลังจากหักต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว เมื่อเทียบกันยอดขาย

โดยมีสูตรการคำนวณ คือ กำไรสุทธิ หาร กับ ยอดขาย และคูณ 100 ผลลัพท์ออกมาเป็นเปอร์เซ็น “ยิ่งสูงแปลว่ายิ่งดี” (อัตรากำไรสุทธิ (%) = กำไรสุทธิ/ยอดขาย * 100)

พอเข้าใจการคำนวณแล้ว กลับมาที่ข้อมูล จะเห็นว่า กลุ่มที่มีมาร์จิ้นสูงที่สุดของ SET คือ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค/ของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ สูงถึง 52.75% อธิบายให้เห็นภาพชัดเจน เช่น ขายครีมทาผิวกระปุกละ 100 บาท เจ้าของกิจการจะได้รับกำไร (หลังจากหักต้นทุนค่าใช้จ่าย) ทั้งหมด 52.75 บาท เลยทีเดียว

สำหรับ บริษัทในกลุ่มนี้ที่กำไรสุทธิสูงสุดคือ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ผู้จำหน่ายถุงมือยางที่ใช้ในทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมต่างๆ ครึ่งปีแรกกำไรสุทธิสูงถึง 17,331 ล้านบาท (+1,072YoY)

และกลุ่มที่มีอัตราส่วนกำไรสุทธิ สูงที่สุดของ mai คือ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค สูงถึง 8.32% บริษัทในกลุ่มนี้ที่มีกำไรสุทธิสูงสุด คือ บริษัท บิสซิเนสอะไลเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ BIZ ผู้จำหน่ายและติดตั้งชุดเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยวิธีรังสีรักษา ครึ่งปีแรกกำไรสุทธิสูงถึง 193.25 ล้านบาท (+1,162YoY)

นอกจากนี้ยังมีอัตราส่วนทางการเงินอีกหลายอัตราส่วนที่นำมาประกอบการตัดสินใจของนักลงทุน เพื่อประเมินถึงความเสี่ยงก่อนจะเข้าลงทุน เช่น อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเสี่ยงด้านหนี้สิน เมื่อเทียบกับส่วนทุนของบริษัท ว่ากิจการขณะนี้มีหนี้สิน หรือทุนมากกว่ากัน หากอัตราส่วนนี้ต่ำกว่า 1 หรือต่ำกว่ากลุ่มธุรกิจอื่นๆ แสดงให้เห็นว่าธุรกิจในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงทางการเงินต่ำ และมีโอกาสที่จะกู้เงินจากธนาคาร หรือก่อหนี้เพิ่มเพื่อขยายกิจการได้มาก

หรือแม้แต่อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) เพื่อประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม ยิ่งอัตราส่วน ROE สูงแสดงให้เห็นว่า กิจการมีความสามารถในการทำกำไรเทียบกับส่วนทุนได้สูงเท่านั้น เท่ากับว่าผู้ถือหุ้นมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงตาม

โอกาสในการลงทุนทั้งในบทบาทเจ้าของกิจการ หรือนักลงทุนที่แสวงหาผลกำไรจากการซื้อหุ้น เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เพียงแต่นักลงทุนต้องอาศัยข้อมูลพื้นฐานทางการเงิน และโอกาสเติบโตของธุรกิจเป็นตัวกำหนดการลงทุนนั้นๆ เพราะหากพื้นฐานธุรกิจแข็งแกร่งจะทำให้เราได้รับผลตอบแทนที่ดีเช่นกัน

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : SETSMART

Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #SET #mai #ตลาดหุ้น #ตลาดหุ้นไทย #หุ้นไทย #stock