ชี้ช่องคนไทยส่งเครื่องสำอางตีตลาด “เซอร์เบีย” พบพฤติกรรมชอบซื้อซ้ำ พร้อมจ่ายหนัก!!

การบริโภคสินค้าหลายประเภททั่วโลกลดลงหลังจากเจอวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย (Luxury goods) เพราะเป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต (ยิ่งรายได้ลดลดส่งผลกระทบต่อปริมาณขายมาก) แต่ไม่ใช่กับตลาดเครื่องสำอางในเซอร์เบีย เพราะปีที่ผ่านมาพบยอดส่งออกจากไทยโตเป็นเท่าตัว!
.
ถึงแม้เราจะได้เห็นข้อมูลจาก ‘กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ’ พบว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การส่งออกสินค้าเครื่องสำอางโดยรวมหดตัวลงเล็กน้อย
.
โดยไทยส่งออกไป 18 ประเทศคู่ค้าที่มีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) มูลค่า 2,445 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 75,795 ล้านบาท) หดตัว 10% จากปี 2562 ส่วนในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 มูลค่า 388 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 12,028 ล้านบาท) หดตัว 2%
.
แต่สำหรับตลาดเครื่องสำอางใน ‘ประเทศเซอร์เบีย’ กลับเติบโตสวนทางโควิด-19 เพราะยอดการนำเข้าในช่วงปีที่ผ่านมา กลับมีทิศทางตรงกันข้าม
.
#เซอร์เบีย บริโภคเครื่องสำอางโตสวนโควิด
มีข้อมูลสนับสนุนว่า เซอร์เบีย นำเข้าสินค้าเครื่องสำอางปี 2563 เพิ่มขึ้นราว 7.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยเซอร์เบียนำเข้าเครื่องสำอางจากทวีปยุโรป เป็นอันดับ 1 คิดเป็น 93% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด
.
ถึงแม้การนำเข้าจากยุโรปแทบจะเป็นทั้งหมด (100%) ของการนำเข้าเครื่องสำอางในเซอร์เบียก็จริงอยู่ แต่การนำเข้าจากนอกทวีปยุโรปก็มีการเติบโตต่อปีสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น ชิลี (+358%) เวียดนาม (+205%) อียิปต์ (+256%) โมร็อกโก (+126%) และโอมาน (+140%)
.
และแน่นอนว่า ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่การส่งออกไปเซอร์เบียร์เติบโต โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 6.5 ล้านบาทในปี 2562 เป็น 11.30 ล้านบาท ในปี 2563 (+73.85%)
.
ซึ่งสินค้าจากไทยที่ส่งออกไป เซอร์เบีย มากที่สุด เป็น เอสเซนเชียลออยล์และเรซินอยด์ เครื่องหอม ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ประทินร่างกายหรือประเทืองโฉม (+72.56%) ตามด้วยกลุ่มสินค้า ที่ใช้เสริมความงาม หรือแต่งหน้า และบำรุงผิว เช่น กันแดด ครีมบำรุง (148.37%)
.
#ตลาดเซอร์เบียแนวโน้มโตสูง
ตลาดเซอร์เบียร์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผู้ผลิตและส่งออกเครื่องสำอางจากไทยควรเริ่มมุ่งเป้าเข้าไปตีตลาด เพราะไทยมีชื่อเสียงเกี่ยวกับสมุนไพร และสารสกัดจากธรรมชาติ และตลาดสินค้าเครื่องสำอางนิยส่วนผสมจากธรรมชาติ มากกว่าสารเคมีสังเคราะห์ เป็นผลดีกับตลาดการแพทย์ตะวันตก และเอเชีย ดังนั้นเครื่องสำอางจากไทยได้รับการยอมรับสูง โดยเฉพาะสินค้าประเภท เครื่องหอม และกลุ่มที่ใช้เสริมความงาม หรือแต่งหน้า
.
และความน่าสนใจอยู่ที่การซื้อเครื่องสำอางของชาวเซอร์เบีย เฉลี่ยแล้วผู้หญิงเซอร์เบียใช้เครื่องสำอางราว 9 ชิ้นต่อวัน และใช้จ่ายกับสินค้าประเภทนี้ราว 80 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (ประมาณ 2,600 บาท) เทียบกับคนไทยใช้จ่ายเครื่องสำอาง 1,150 บาทต่อเดือนต่อคน (ข้อมูลจาก Picodi)
.
อีกทั้ง เราพบว่า กำลังซื้อของ เซอร์เบียร์ ค่อนข้างใกล้เคียงกับประเทศไทย โดยข้อมูลจาก World bank พบว่า GDP Per Capita PPP ที่เป็น GDP ต่อหัวประชากรที่คำนึงอำนาจซื้อที่แท้จริงของ เซอร์เบียร์อยู่ที่ระดับ 18,929.88 เหรียญสหรัฐ หรือราว 586,826.28 ล้านบาท ในปี 2562 ไม่ต่างกับไทยมากนัก
.
โดยของไทยอยู่ที่ 19,208.60 เหรียญสหรัฐ หรือราว 595,466.60 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่า รายได้ของผู้บริโภคของไทยและเซอร์เบีย ใกล้เคียงกัน ราคาสินค้าแบรนด์ในไทยอาจจะตอบโจทย์ เรื่องของราคา และคุณภาพ สำหรับคนเซอร์เบียร์
.
#ส่องพฤติกรรมลูกค้าในเซอร์เบีย
เมื่อเราเจาะเข้าไปเพื่อพิจารณากลุ่มลูกค้าในเซอร์เบีย สามารถแบ่งกลุ่มลูกค้าตามหลักการตลาดพบพฤติกรรม (VALS) ดังนี้
.
#ผลิตภัณฑ์ประทินผิว (ครีมบำรุงผิว ครีมลดริ้วรอย ครีมกันแดด) มีการนำเข้าเพิ่ม 148.37%
.
พบว่ากลุ่มลูกค้าที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากผู้หญิงที่ใส่ใจภาพลักษณ์ และวัยรุ่นที่ใช้เครื่องสำอาง และเทรนด์ การแต่งหน้าแบบธรรมชาติ เป็นที่นิยมมากขึ้น ส่งผลต่อความนิยมผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า และลดริ้วรอยที่สูงขึ้น สามารถแบ่งกล่มลูกค้าตามหลัก VALS ออกเป็น 2 กลุ่มดังนี้
.
1. ผู้หญิงที่ใส่ใจภาพลักษณ์จัดอยู่ในกลุ่มคนที่ชอบสินค้าที่เน้นสะท้อนความสำเร็จ (Achievers) ลักษณะผลิตภัณฑ์ที่คนกลุ่มนี้ต้องการจึงเน้นที่มี “คุณภาพสูง” พร้อมจ่ายเงินในราคาแพง
.
2. วัยรุ่นจัดอยู่ในกลุ่มคนที่ชอบสินค้าตามกระแสสังคม (Strivers) โดยกลุ่มคนเหล่านี้ให้ความสนใจกับความคิดเห็นคนรอบข้างมากแต่งบประมาณค่อนข้างน้อย ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมจึงต้องมี “ราคาที่จับต้องได้”
.
#ผลิตภัณฑ์เครื่องหอม (เอสเซนเชียลออยล์ เรซินอยด์ น้ำหอม) มีอัตราการขยายตัวของการนำเข้าถึง 72.56 % สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ตามหลัก VALS ดังนี้
.
1. กล่มคนที่ชอบซื้อสินค้าแบบเดิมที่ตนเชื่อถือ (Believers) จะซื้อสินค้าที่ตนได้พิสูจน์มาแล้วอย่างยาวนานและจะภักดีต่อแบรนด์มาก
.
2. กลุ่มคนที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงการใช้สินค้า (Survivors) มักซื้อสินค้าแบบเดิมๆที่เคยใช้ โดยหากสินค้าเหล่านี้หาซื้อได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อปริมาณขายจะยิ่งสูงขึ้น และหากมีการลดราคาจะเพิ่มปริมาณขายได้สูง
“ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับคนทั้งสองกลุ่มจึงต้องมีลักษณะคล้ายคลึงผลิตภัณฑ์เดิมที่พวกเค้าใช้ในชีวิตประจำวัน”
.
#ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก (ยาสีฟัน แปรงสีฟัน) มีอัตราการขยายตัวของการนำเข้าถึง 49.96 % พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่ ชาวเซอร์เบีย นิยม ได้แก่ แปรงสีฟันไฟฟ้า ไหมขัดฟัน แปรงซอกฟัน และเครื่องพ่นน้ำทำความสะอาดฟัน จึงจัดอยู่ในกลุ่มลูกค้าที่เน้นสินค้าด้านนวัตกรรม (Innovators) กลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมจึง “ไม่เน้นราคาถูก” แต่ต้องมีเทคโนโลยีใหม่ๆและมีลักษณะโดดเด่นไม่เหมือนใคร
.
#สินค้าประเทศบำรุงผม ผู้บริโภคจะมีภักดี (Loyalty) ต่อแบรนด์น้อย จึงต้องมีผลิตภัณฑ์แปลกใหม่เพื่อดึงดูดผู้บริโภค และผู้หญิงในเซอร์เบียส่วนใหญ่มีค่านิยมการไว้ผมยาว และบำรุงผมอย่างดี ก็ถือเป็นโอกาสสำหรับแบรนด์ไทยที่จะส่งออกสินค้าไปตีตลาด
.
#ส่องข้อมูลโดยรวมตลาดเครื่องสำอางไทย
ปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกเครื่องสำอางอันดับที่ 2 ของอาเซียน เป็นรองแค่สิงคโปร์ และหากเทียบในระดับโลกก็เป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 10 เลยทีเดียว
.
โดยมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เป็นตัวหนุนการส่งออกสินค้าเครื่องสำอางของไทย ให้ได้เปรียบทางการแข่งขันจาก (ขจัดอุปสรรคภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย) โดยปัจจุบัน 14 ประเทศคู่ FTA เช่น อาเซียน จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และฮ่องกง (ไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางของไทยทุกรายการ)
.
#ผู้ประกอบการไทย ที่ส่งออกเครื่องสำอาง และอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ประกอบด้วย
.
บมจ.ดู เดย์ ดรีม #DDD ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวภายใต้เครื่องหมายการค้า “NAMU LIFE” โดยมีชื่อกลุ่มผลิตภัณฑ์ว่า “SNAILWHITE” และธุรกิจรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์บำรุงผิวภายใต้เครื่องหมายการค้าอื่น (OEM) ซึ่งขณะนี้มีการส่งออกไปยังประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศจีน
– รายได้ปี 2563 ที่ 1,490.62 ล้านบาท
– กำไรสุทธิ 169.25 ล้านบาท (พลิกกำไรจากปีก่อนขาดทุนสุทธิ 53.79 ล้านบาท)
.
บมจ.บิวตี้ คอมมูนิตี้ #BEAUTY ผู้จำหน่ายปลีกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและบำรุงผิว ได้แก่ แบรนด์บิวตี้ บุฟเฟต์ (BEAUTY BUFFET), บิวตี้ คอทเทจ (BEAUTY COTTAGE), และ เมด อิน เนเจอร์ (MADE IN NATURE) รายได้มาจากลูกค้าประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่
– รายได้ปี 2563 ที่ 786.83 ล้านบาท
– มีผลขาดทุนสุทธิ -104.88 ล้านบาท (พลิกขาดทุนจากปีก่อนกำไรสุทธิ 232.58 ล้านบาท)
.
บมจ.โรจูคิส อินเตอร์เนชั่นแนล #KISS ผู้พัฒนา จ้างผลิต และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์บำรุงผิว (Skin Care) ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง (Color Cosmetics) และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Food Supplement) ภายใต้แบรนด์ต่างๆ ของบริษัท ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยบริษัทได้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศอินโดนีเซีย
– รายได้ปี 2563 ที่ 966.25 ล้านบาท
– มีผลขาดทุนสุทธิ 167.99 ล้านบาท (+11.65% YoY)
.
บมจ. ดีโอดี ไบโอเทค #DOD ผู้ผลิตธุรกิจรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารภายใต้ตราสินค้าของลูกค้า และตราสินค้าของบริษัท “Dai a to” (ได เอโตะ) มีจุดแข็งที่โรงสกัดสมุนไพรที่ทำให้บริษัท เป็นที่ต้องการของหลายๆ แบรนด์ที่ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ หรือแม้แต่การขายในประเทศ
– รายได้ปี 2563 ที่ 1,620.84 ล้านบาท
– มีผลขาดทุนสุทธิ 141.25 ล้านบาท (+62.90% YoY)
.
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า บริษัทฯ ในตลาดหุ้นไทย ยังไม่มีบริษัทฯ ไหนส่งออกไปยังเซอร์เบีย ซึ่งเท่ากับว่า ยังมีโอกาสอีกมากที่จะเข้าไปขยายตลาดได้ ถึงแม้จะไม่ใช่ประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือมีกำลังซื้อสูงมาก แต่ด้วยสินค้าของไทยตอบโจทย์ ทั้งเรื่องของคุณภาพ และราคา ทำให้เรายังมีโอกาสเติบโตสูง
.
และตอนนี้เซอร์เบียเป็นคู่ค้าลำดับที่ 141 ของไทย มูลค่าการค้าปี 2562 รวม 924.51 ล้านบาท มูลค่าการส่งออกของไทยอยู่ที่ 516.76 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 407.75ล้านบาท (เกินดุลการค้า) การส่งออกสินค้าไปเซอร์เบียมากขึ้น จะยิ่งทำให้ไทยได้เปรียบทางการค้า นำมาซึ่งการเกินดุลการค้าในที่สุด (ส่งผลดีต่อรายได้ของประเทศ)
.
ปัจจุบันเซอร์เบียอยู่ระหว่างการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปภายในปี 2568 ซึ่งจะมีการออกกฏหมายบังคับผู้ผลิตแสดงฉลากข้อมูลให้ถูกต้อง ครบถ้วน และผู้ผลิตต้องคำนึงเรื่องขั้นตอนการผลิตที่ปราศจากส่วนผสมอันตราย ดังนั้น “ผู้ผลิตต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบอย่างเคร่งครัด” เพื่อส่งออกเครื่องสำอางไปเซอร์เบียได้มากขึ้น
.
ที่มา : https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.PCAP.PP.CD?locations=TH
https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.PCAP.PP.CD?locations=RS
.
https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/740020/740020.pdf&title=740020&cate=414&d=0
.
ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC