Wind is Coming : เส้นทางสู่ Zero Emission ของ Wind Energy Holding

ภายใต้การคุกคามจากสภาวะโลกร้อนและปริมาณพลังงานน้ำมันที่กำลังลดน้อยถอยลง พร้อมกับเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงถดถอยอย่างหนัก ทำให้ทุกอุตสาหกรรมบนโลกใบนี้จำต้องเดินทางเข้าสู่การปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางธุรกิจครั้งใหญ่ ซึ่งหนึ่งในอุตสาหกรรมที่กำลังจะมีแกนหลักของโลกจากนี้ในการขับดันการเติบโตของโลกก็คือ อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกซึ่งกำลังจะกลายเป็นพลังงานหลักในช่วง 5 – 10 ปีข้างหน้านี้แทนที่น้ำมัน ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าภายใน 10 ปี สัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือกของทั่วโลกจะสูงถึง 60% ของตลาดพลังงานทั้งหมด

และแค่เฉพาะตลาดธุรกิจพลังงานลมและแสงอาทิตย์ก็กินสัดส่วนถึง 30% ของจาก 60% นี้ พร้อมเม็ดเงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานพลังงานทางเลือก ที่จะขยับจาก 380,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 ไปสู่ 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030

โดยหนึ่งในอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกที่กำลังมาแรงในขณะนี้ก็คือ ธุรกิจพลังงานลม ซึ่งแค่เฉพาะในปี 2020 อุตสาหกรรมพลังงานลมมีการเติบโตถึง 53% เมื่อกับปี 2019 โดยเป็นการติดตั้งใหม่มากกว่า 93 กิกะวัตต์ ซึ่งจากการคาดการณ์ของ องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ประเมินว่า อัตราการเติบโตของการติดตั้งกังหันลมในช่วง 2021 – 2025 จะเติบโตสูงถึง 17% ในขณะที่ปี 2026 – 2030 จะเติบโตประมาณ 12%

หากพูดถึงผู้นำด้านอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนที่เป็นลม เบอร์หนึ่งของประเทศไทยตอนนี้ก็คือ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดมากถึง 43% ของตลาดพลังงานลมในไทยทั้งหมด แม้ปี 2020 ที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานบริษัทอาจจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท พร้อมกำไรสุทธิประมาณ 4,200 ล้านบาท สาเหตุจากแรงกดดันเรื่องค่าไฟจากภาครัฐ และปริมาณลมที่น้อย แต่ คุณณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริหาร ก็เผยว่า ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้วสถานการณ์ทุกอย่างเริ่มกลับมาดีขึ้น จนถึงตอนนี้เชื่อว่าผลการดำเนินงานในปีนี้ตลอดทั้งปีจะกลับมาอยู่ในจุดที่ควรอยู่อีกครั้ง

ทิศทางพลังงานทางเลือก

ขณะที่ทิศทางพลังงานทางเลือกทั่วโลกในขณะนี้ คุณณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริหาร ประเมินว่า ปัจจุบันนี้โลกทั้งใบกำลังเคลื่อนย้ายจากพลังงานฟอสซิลแบบดั่งเดิมไปสู่พลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งตรงนี้เกิดจากภาครัฐทั่วโลกเริ่มตระหนักดีว่าภายใน 50 – 100 ปีข้างหน้า มีโอกาสที่พลังงานฟอสซิลจะหมดไป ทำให้ทิศทางของนโยบายรัฐบาลทั้งหมดจึงเคลื่อนย้ายไปสู่พลังงานหมุนเวียน มีการสนับสนุนในหลากหลายมิติไม่ว่าจะเป็นเงินอุดหนุน การลดหรือยกเว้นภาษีให้ธุรกิจในกลุ่มนี้เป็นการเฉพาะเพื่อดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในกลุ่มนี้ เพื่อระยะยาวจะได้สร้างพลังงานทดแทนให้มากเพียงพอที่จะรองรับกับอนาคตข้างหน้าและสร้างความยั่งยืนได้ในระยะยาว

ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เช่นกันทิศทางของนโยบายก็จะเดินไปในทิศทางนี้ซึ่งทั่วโลกกำลังมุ่งไป อย่างเช่น ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีความกระตือรือร้นในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ก็ได้มีการออกแผนพัฒนาพลังงาน หรือ Power Development Plan (PDP) มาอย่างต่อเนื่อง และทำให้เวียดนามมีสัดส่วนพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

“ด้านในฝั่งของประเทศไทยตัวแผนพัฒนาพลังงานไม่เห็นมาหลายปีแล้ว แต่ถ้าไปดูในฝั่งของ Alternative Energy Development Policy (AEDP) ก็จะเห็นว่ามีการปรับเป้าหมายอยู่ตลอดเวลา ซึ่งตรงนี้เราก็จะเห็นว่าทั้งหมดเดินไปในทางเดียวกัน”

การขับเคลื่อนของภาคเอกชน

ด้านภาคเอกชน คุณณัฐพศิน ให้มุมมองว่า มีการขานรับจากภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง และเริ่มมีผู้เล่นเข้าสู่ธุรกิจนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ “อย่าง วินด์ เอนเนอร์ยี่ ของเราถือเป็นเจ้าแรกในไทยที่ดำเนินธุรกิจพลังงานลม และมีการดำเนินการจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ต่อเนื่อง ล่าสุดก็ปี 2019 เราก็เพิ่งจะ COD ไป ที่จริงแล้วเรามีแผนจะลงทุนเรื่อย ๆ เพียงแต่รอนโยบายภาครัฐของไทย” เนื่องจากธุรกิจในลักษณะนี้จะอ้างอิงอยู่กับนโยบายรัฐและทรัพยากรที่มีในแต่ละประเทศ นั้นทำให้บริษัทหลาย ๆ บริษัทเริ่มออกไปลงทุนในต่างประเทศเนื่องจากเห็นโอกาสการเติบโตของแนวโน้มนี้

ในมุมของการกำกับดูแลจากภาครัฐ คุณณัฐพศินบอกว่า ภาครัฐมีการสนับสนุนและผลักดันในเรื่องนี้มาก ๆ เช่นเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่ง วินด์ เอนเนอร์ยี่ ไม่ต้องจ่ายเลย 8 ปี และจ่ายอีกครึ่งเดียวใน 5 ปีถัดมา เท่ากับได้รับโอกาสในเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีในระยะเวลา 13 ปี และยังไม่นับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เพราะฉะนั้น การกำกับดูแลจากภาครัฐของไทยค่อนข้างสนับสนุนภาคเอกชนมาก

“จริง ๆ ตอนนี้มันเป็นเรื่องของโอกาสที่ภาครัฐหยิบยื่นให้เอกชนมากกว่าที่ยังไม่มีโควต้าเพิ่มเติมออกมา จริง ๆ วินด์ เอนเนอร์ยี่ ด้วยความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ ถึงได้รับโอกาสให้เข้าไปพูดคุยเรื่องทิศทางและแนวทางกับภาครัฐอยู่เสมอ ซึ่งปลายปีนี้เราก็เชื่อว่าน่าจะได้เห็นนโยบายใหม่ ๆ เพิ่มเติมจากทางภาครัฐที่จะเข้ามาสนับสนุนภาคเอกชนเพิ่มเติม”

ปี 2020 – 2021 กับ Wind Energy

สำหรับปี 2020 ที่ผ่านมา วินด์ เอนเนอร์ยี่ ทำรายได้รวมประมาณ 10,000 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4,200 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2019 มีการปรับตัวลดลง สาเหตุจากสภาพลมที่ไม่ดี และค่าไฟภาครัฐที่กดราคาต่ำลง แต่แนวโน้มในไตรมาสที่ 4 มีการปรับตัวดีขึ้นจากสถานการณ์ลมที่กลับมาดีมาก ๆ อีกครั้ง นั่นทำให้คาดการณ์ปีนี้ทั้งบริษัทน่าจะมีผลการดำเนินกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง

“ตอนนี้เรามีทั้งหมด 8 โครงการ กำลังการผลิตที่กำลังติดตั้งอยู่ที่ 717 เมกะวัตต์ต่อปี เราผลิตไฟเข้าระบบประมาณ 1,800 ล้านกิโลวัตต์ฮาว (Kilowatt-hour) แต่ถ้าปีไหนลมดี ก็อาจจะขยับขึ้นไปถึง 1,900 ล้านกิโลวัตต์ฮาวได้”

ด้านสัญญากับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คุณณัฐพศินบอกว่า จะเป็นในลักษณะ 5 ปีแล้วต่อไปเรื่อย ๆ “เวลาเราพูดถึงว่าโครงการนั้นอายุ 20 – 25 ปี ตรงนั้นจะอ้างอิงจากพวกอุปกรณ์ ที่ดิน (สัญญาเช่าที่) ซึ่งตรงนี้เป็นพื้นฐานในการคิดคำนวณ ครึ่งปีที่ผ่านมาเราใช้เวลากับมาจัดการกับสิ่งที่ควบคุมได้อย่าง ความพร้อมในการผลิต รวมไปถึงเรื่องภายในออฟฟิศ เรามีการเพิ่มผู้จัดการระดับอาวุโสลงไป เพื่อไปอยู่ในไซต์งานโดยเฉพาะเลย ทำให้เราสามารถแก้ปัญหาได้เร็วขึ้นซึ่งทำให้บริษัทมีความสามารถในการผลิตไฟเพิ่มมากขึ้นไปด้วย

เรื่องที่ 2 คือ เรามุ่งลดค่าใช้จ่ายในภาพรวมแต่ไม่ได้มุ่งตัดลดต้นทุนเป็นสำคัญ ถ้าเราเจอต้นทุนที่ไม่คุ้มค่าในการลงทุนเราจะเอาออกทันที เพิ่มต้นทุนที่มันเหมาะสมเข้ามา “ในอนาคตเราอาจจะออกไปนอกอุตสาหกรรมซึ่งอาจจะไม่อยู่ในอุตสาหกรรมอย่างพลังงาน เพราะเราต้องคิดเสมอว่าทำอย่างไรถึงจะ Leverage สิ่งที่เรามีอยู่ได้ ซึ่งเรามีบริการที่มาจากบริษัทแม่ที่ส่งให้ลูก ๆ 8 คน บริการเหล่านี้จะเป็นหัวหอกที่จะใช้เพื่อ Leverage ไปสู่อุตสาหกรรมอื่นในอนาคตได้ ทำให้เราโตต่อได้ทันที”

ครึ่งปีหลัง 2021

ด้านครึ่งปีหลังของ 2021 ที่เหลือ คุณณัฐพศิน เผยว่า ช่วงปลายปีน่าจะมีโอกาสได้เห็นโครงการใหม่ ๆ จาก วินด์ เอนเนอร์ยี่ ซึ่งเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น แต่อยู่ในรูปแบบของการศึกษาและเข้าไปมีส่วนร่วมกับภาครัฐ “ปกติการสร้างโรงไฟฟ้า 1 ปีก็ถือว่าเร็วมากแล้วหรืออาจจะมีนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามายกระดับแล้วเปลี่ยนโฉมบริษัทไปเลย เช่นอาจจะนำวิศวกรรมทางการเงินใหม่ ๆ เข้ามาช่วยยกระดับบริษัท หรือออกไปนอกอุตสาหกรรมพลังงานก็เป็นไปได้ เนื่องจากอุตสาหกรรมพลังงานต้องรอภาครัฐซึ่งถ้ามันนานเกินไป เราคงรอไม่ไหว ก็คงต้องไปอันอื่น ปัจจุบัน วินด์ เอเนอร์ยี่ สามารถสร้างกระแสเงินสดได้ปีละ 5,000 – 6,000 ล้านบาท ซึ่งจุดแข็งตรงนี้เพิ่มโอกาสให้เราสามารถก้าวไปในทิศทางใหม่ ๆ ได้”

ตอนนี้เรายังไม่ได้มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะออกไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ไหน ตอนนี้เรามองภาพรวมไว้ก่อนแต่จะอยู่ในไทยถ้าจะออกนอกอุตสาหกรรมพลังงาน ถ้าเราจะไปต่างประเทศเราจะไปด้วย วิน แผน 3 ปีจากนี้เชื่อว่าจะแตะ 1,000 เมกะวัตต์ได้ไม่ยาก ซึ่งภายใน 3 ปีเราเป้าหมายถึงแน่ ๆ สำหรับตลาดในประเทศ

ขณะที่ในภูมิภาคนี้มีอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจคือ เวียดนาม ซึ่งถือเป็นตลาดเกิดใหม่มีความต้องการสูง มีแผนพัฒนาพลังงาน หรือ Power Development Plan (PDP) ออกมาต่อเนื่องซึ่งมันก็จะออกมาพร้อมโควต้าการผลิตไฟ และเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงด้วย ด้านอินโดนีเซียก็น่าสนใจเช่นเพราะมีการพัฒนาพลังงานลมไปไกลแล้วเหมือนกัน ต้องกลับมาดูยังมีที่เหลือให้เรารึเปล่า “จริง ๆ เราเคยได้คุยกับฝั่งภาครัฐบาลของอินโดนีเซีย ซึ่งค่อนข้างเปิดกว้างที่จะให้ต่างชาติเข้าไปลงทุน แต่คำถามคือมันเหลืออะไรให้ วินด์ เอเนอร์ยี่ ลงได้บ้างในตอนนี้มากกว่า”

โครงการของ วินด์ เอเนอร์ยี่ ส่วนใหญ่อยู่ในนครราชสีมาทั้งหมด และจังหวัดชัยภูมินิดหน่อย ซึ่งตรงนี้เป็นทีที่ลมดีที่สุดในประเทศไทย แม้แต่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมเดียวกับเราในประเทศไทยก็อยู่ตรงนั้นกันหมด จริง ๆ อีกที่ที่ลมดีคือ ภาคใต้ แต่ก็ยังติดปัญหาเรื่องสภาพภูมิประเทศบริเวณนั้น ด้านแผนในอีก 3 ปีข้างหน้า “บริษัทจะลงทุนต่อให้ได้ 1,000 เมกะวัตต์ใน 3 ปี พร้อมงบประมาณ 15,000 ล้านบาท โดยมองหาสถานที่มีศักยภาพทั้งในและต่างประเทศ”

ด้านการเข้าลงทุนในพลังงานทางเลือกอื่น ๆ มีความเป็นไปได้แต่ก็ต้องกลับมามองว่าทำไมถึงลง และต้องกลับมาดูมากำไรว่ามันคุ้มไหม ปัจจุบันบริษัทมีกำไรที่ดีกว่าคนอื่นในกลุ่มธุรกิจพลังงานลม ด้านกลุ่มธุรกิจโซล่ามีกำไรขั้นต้นต่ำกว่าเราพอสมควร แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ที่เราลงทุนในธุรกิจนี้หากเราไม่สามารถโตบนขาเดิมของเราได้ เราก็อาจจะขยายพอร์ทเพิ่มเติมเพื่อรักษาระดับกำไรขั้นต้นให้อยู่แถว ๆ 40% เอาไว้

สำหรับธุรกิจแบตเตอรี เรามีความสนใจและมีการศึกษาอยู่ตลอด แต่ขึ้นอยู่กับว่าเทคโนโลยีมันพร้อมแค่ไหน ลมมันไม่เหมือนแดดที่มีเกือบทุกวัน แต่ลมบางวันมันร้อนและก็อาจจะไม่มีลม ธุรกิจแบตเตอรีตอนนี้ยังไม่สามารถใช้งานในระดับเชิงพาณิชย์ได้ ถ้าเมื่อไรแบตเตอรีสามารถทำได้ถึงจุดนี้เราก็จะลุยทันที ตัวอย่างประเทศออสเตรเลียนี่สำคัญเลยมีการเอาแบตเตอรีไปใช้งานกับฟาร์มกังหันลมที่ใหญ่ที่สุด แต่มันก็ยังไม่ใหญ่พอจะไปถึงจุดที่คุ้มค่าที่จะลงทุน

ขณะที่เรื่อง Disruption คุณณัฐพศินมองว่า เป็นประโยชน์ต่อ วินด์ เอเนอร์ยี่ เพราะตัว วินด์ เอเนอร์ยี่ เองเป็นธุรกิจที่มีความไฮเทคอยู่ในตัวอยู่แล้ว การมาของ Disruption เข้ามาช่วยยกระดับประสิทธิภาพในการผลิต “ช่วงปีแรก ๆ สองโครงการแรกของเราความสามารถในการผลิต ติดตั้ง 100 ผลิตได้จริงประมาณแค่ 20 ก็เก่งแล้ว ผ่านมา 4 – 5 โครงการหลัง ๆ ของเรา ผลิตได้ถึง 40 เพิ่มขึ้นถึง 100% อย่างเสากังหันลมตอนแรก 100 เมตรจากพื้น ตอนหลังเพิ่มขึ้นเป็น 150 เมตร ก็สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากกระแสลมเท่าเดิมได้มากยิ่งขึ้น”

การบริหารคนสไตล์ Wind-Energy

เราพยายามดึงดูดคนมีพรสวรรค์สูงเข้ามาทำงานร่วมกับเราและรักษาคนเก่าของเราเอาไว้ให้ได้ ซึ่งแม้ทั้งสองอย่างจะดูดพื้นมาก ๆ แต่เนื่องจากคนรุ่นใหม่มองอุตสาหกรรมพลังงานว่าไม่ค่อยเซ็กซี่ มันดูนิ่งและขาดแรงดึงดูดภาพในหัวของคนรุ่นใหม่ก็จะนึกถึงแค่เป็นโรงงานไฟฟ้าอยู่ต่างจังหวัด แดดร้อน ๆ ไม่น่าตื่นเต้น ซึ่งตรงนี้ก็ถือเป็นปัญหาในการดึงคนเข้ามาร่วมงานกับเราในระดับหนึ่ง แต่เราก็ใช้วิธีการดึงดูดคนโดยสื่อสารออกไปว่า วิน เอเนอร์ยี่ ให้รางวัลสูงมากนะ แต่ขณะเดียวกันเราก็เรียกร้องให้คนทำงานกับเราทุกคนต้องวิ่ง จะชิล ๆ สบาย ๆ คงไม่ได้ ต้องเป็นสายลุยพร้อมโตไปด้วยกัน “การรักษาคนอันนี้เราจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มศักยภาพสูง โดยเราจะเน้นเลยว่าถ้าคุณแสดงผลงานได้ดีคุณจะได้รางวัลจริง ๆ”

คุณณัฐพศิน กล่าวปิดท้ายว่า หลักการทำงานในวันนี้จำเป็นต้องมี Growth Mindset เราต้องตื่นตัวตลอดเวลาและสิ่งเหล่านี้จะต้องถูกส่งต่อไปถึงทุกคนในบริษัท เราจะต้องหาทางพัฒนาตัวเองตลอกเวลา เราจำเป็นต้องโตไปในทุกภาคส่วนตลอดเวลา