4 พฤติกรรมที่จะส่งผลต่อธุรกิจท่องเที่ยวโลก พบนักท่องเที่ยวชาวไทยชอบทำงานระหว่างทริป

ในปี 2567 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีการประเมิณว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามายังประเทศไทยจะกลับสู่ระดับ 35 ล้านคน ขณะที่รายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะกลับมาสู่ระดับ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งเทียบเคียงกับช่วงปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่การท่องเที่ยวไทยทำนิวไฮ

อย่างไรก็ตามปัจจัยที่จะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยว คือ พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่ง ‘Business+’ พบข้อมูลจากบริษัทที่เป็นแพลตฟอร์มชั้นนำในการจองโรงแรม ที่พัก และทัวร์ ว่าพฤติกรรมหลักๆ ของนักท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปคือ การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และสังคมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังต้องการที่พักซึ่งสามารถให้บริการด้านอินเทอร์เน็ต และโซลูชั่นใหม่ๆ โดยพร้อมที่จะใช้จ่ายเงินมากยิ่งขึ้นกับบริการเหล่านี้

โดยข้อมูลจาก SiteMinder ผู้นำแพลตฟอร์มระดับโลกด้านโฮเทลคอมเมิร์ซแบบ Open Platform ได้เปิดเผยข้อมูลด้านพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่ถือว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในโลก (ฉบับปี 2023) โดยพบว่า 88% ของนักท่องเที่ยวไทยตั้งใจที่จะท่องเที่ยวมากขึ้น โดยอย่างน้อยต้องมีทริปเท่าๆ กับที่เคยท่องเที่ยวเมื่อปีที่แล้ว โดย 53% คาดว่าจะท่องเที่ยวมากกว่าเดิม นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะท่องเที่ยวไปยังต่างประเทศเท่านั้นมีปริมาณเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 26% ในปีก่อน เป็น 49% ในปีนี้

ขณะที่รายงาน Changing Traveller Report 2023 ของ SiteMinder ซึ่งทำการสำรวจพฤติกรรมนักท่องเที่ยวกว่า 10,000 คน จากทั้งในประเทศไทยและอีก 11 ประเทศ สามารถแบ่งเป็นพฤติกรรมหลักๆ ได้ 4 ประเภท ดังนี้

  1. The enduring explorer: นักเดินทางที่จริงจังกับการท่องเที่ยว ค่าครองชีพไม่ใช่เรื่องสำคัญ
  2. The digital dependent: นักท่องเที่ยวที่พึ่งพาเทคโนโลยี และอุปกรณ์การสื่อสาร
  3. The memory maker: นักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ที่น่าจดจำ
  4. The conscious collaborator: นักท่องเที่ยวที่พร้อมให้ความร่วมมือกับผู้ให้บริการที่ัพักและชุมชน

Travel

โดยทั้ง 4 ข้อนี้แบ่งจากพฤติกรรมแผนการท่องเที่ยว และแรงจูงใจที่จะส่งผลต่อการท่องเที่ยวโลกในอนาคตอันใกล้ ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า ถึงแม้จะเป็นช่วงที่มีอัตราเงินเฟ้อที่สูง แต่คนยังให้ความสำคัญกับเรื่องของที่พัก โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยถึง 96% พร้อมที่จะใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าห้องพัก โดยคนที่ทำแบบสำรวจจำนวน 9 คนจากทั้งหมด 10 คนของนักท่องเที่ยวชาวไทยบอกว่า ความคาดหวังจากผู้ให้บริการที่พักของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้ โดยจะให้ความสำคัญกับการมีสถานที่ทำงานที่สะดวกสบาย และเหมาะกับการทำงาน ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจซึ่งพบว่านักท่องเที่ยวกว่า 57% คาดว่าจะทำงานไปด้วยระหว่างทริป ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวไทยครองแชมป์อันดับ 2 ของโลกในเรื่องการคาดหวังว่าจะสามารถทำงานระหว่างท่องเที่ยว ซึ่งตามหลังเพียงนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเท่านั้น

ซึ่งประเด็นนี้ ‘คุณแบรด ไฮนส์’ รองประธานฝ่ายภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค บริษัท SiteMinder เปิดเผยว่า ตัวแปรหลักสำหรับการตัดสินใจท่องเที่ยวคือ ผู้ให้บริการที่พัก ดังนั้น ที่พักจึงกลายมาเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยว (77% ของนักท่องเที่ยวชาวไทยเผยว่า สถานที่พัก ก็คือสถานที่ท่องเที่ยวที่พวกเขาต้องการไป) และการใช้ AI นั้นสร้างประสบการณ์ที่ดีสำหรับการจองและใช้บริการที่พักเป็นอย่างมาก

โดยรายงานของ SiteMinder เผยถึงเทคโนโลยีที่มีการใช้ในหมู่ของนักท่องเที่ยว ได้แก่:

  • AI โดยนักท่องเที่ยวทั่วโลกมากกว่าครึ่ง และ 2 ใน 3 ของมิลเลนเนียล มี ‘แนวโน้ม’ หรือ ‘มีโอกาสมาก’ ที่จะใช้ AI ในการแนะนำสถานที่พัก โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยมีโอกาสใช้ AI เพื่อแนะนำสถานที่พักมากขึ้นอีก โดยมีแนวโน้มถึง 86%
  • โซเชียลมีเดีย โดยพบว่า 70% ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึง 9 ใน 10 ของ Gen Z บอกว่าโซเชียลมีเดีย มีอิทธิพลอย่างมากต่อการเสาะหาที่พักในประเทศไทย โซเชียลมีเดีย ยิ่งมีอิทธิพลสูงมากยิ่งขึ้น โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 25% ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยดำรงตำแหน่งอยู่ในอันดับ 2 รองจากนักท่องเที่ยวชาวอินโดนีเซียเท่านั้น เมื่อวัดจากอิทธิพลของโซเชียลมีเดียต่อการเสาะหาที่พัก
  • เว็บไซต์จองที่พัก โดยพบว่าแม้นักท่องเที่ยวถึง 4 ใน 5 ลือกที่จะทำการจองที่พักผ่านทางออนไลน์ แต่ 3 ใน 5 บอกว่าพวกเขาจะไม่ดำเนินการจองที่พักต่อ หากพบเจอการใช้งานที่ยุ่งยาก รวมถึงเว็บไซต์ที่ดูไม่ปลอดภัย นับเป็นสองเรื่องสำคัญอันดับแรกที่นักท่องเที่ยวคำนึงถึง

“นักเดินทางชาวไทยในปัจจุบัน ยังคงชื่นชอบการท่องเที่ยว มีการพึ่งพาเทคโนโลยี และใส่ใจสิ่งแวดล้อม และตั้งใจที่จะเดินทางท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ เพื่อสร้างความทรงจำดีๆ ตราบเท่าที่จะท่องเที่ยวได้ และจากผลสำรวจ ทำให้เรารู้ว่า พวกเขามองว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังไม่ได้มีการปรับใช้เทคโนโลยีเท่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งนี่อาจจะเป็นสัญญาณสำคัญให้ผู้ให้บริการที่พักต่างๆ หันมาลงทุนด้านเทคโนโลยีคอมเมิร์ซกันมากขึ้น เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันต่อความต้องการและความคาดหวังของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน” คุณแบรด ไฮนส์ กล่าว

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ในช่องทางอื่นๆ ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS