‘Starbucks’ จากร้านขายเมล็ดกาแฟคั่ว สู่เชนร้านกาแฟที่มีสาขามากที่สุดในโลก

‘Starbucks’ ถือเป็นร้านกาแฟชื่อดังที่นอกจากจะมีลายเซ็นในด้านของรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังมีความหลากหลายของเมนูที่ไม่ว่าใครก็สามารถสัมผัสกับเครื่องดื่มจากแบรนด์นี้ได้ ส่งผลให้ ‘Starbucks’ มีฐานลูกค้าที่กว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องขยายสาขาเพิ่มในจากทั่วทุกมุมโลก

วันนี้ Business+ จะพาทุกท่านย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของ ‘Starbucks’ ที่กว่าจะมาเป็นแบรนด์กาแฟชื่อดังที่ครองใจนักดื่มจากทั่วโลกอย่างทุกวันนี้ ต้องเจอทั้งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ จากเดิมที่เป็นแค่ร้านจำหน่ายเมล็ดกาแฟคั่ว มาเป็นร้านกาแฟ


จุดกำเนิดร้านเมล็ดกาแฟคั่วคุณภาพสูง
ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1971 ได้ถือกำเนิด ‘Starbucks’ ร้านแรกขึ้นที่ตลาด Pike Place ในเมืองซีแอตเทิล โดย 3 ผู้ก่อตั้งที่รู้จักกันในสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความสนใจในกาแฟเหมือนกัน ได้แก่ Jerry Baldwin, Gordon Bowker และ Zev Siegl ด้วยจุดประสงค์หลักคือการจำหน่ายเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพสูงให้กับผู้คน โดยชื่อ ‘Starbucks’ มาจากชื่อต้นหนเรือจากนวนิยายเรื่อง ‘Moby-Dick’ ที่บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางผจญภัยของกะลาสีชื่อ อิชมาเอล ในเรือล่าวาฬนามว่า ‘Pequod’ (ซึ่งในตอนแรก 3 ผู้ก่อตั้งได้คิดจะนำชื่อนี้มาเป็นชื่อร้าน แต่ได้เปลี่ยนเป็นชื่อเป็น ‘Starbucks’ ในท้ายที่สุด) สำหรับเหตุผลที่ตั้งชื่อร้านจากนวนิยายเรื่องนี้ก็เป็นเพราะผู้ก่อตั้งมองว่าเนื้อเรื่องชวนให้นึกถึงวิถีการเดินเรือของพ่อค้ากาแฟยุคแรก นอกจากนี้ ยังได้ใช้โลโก้รูปไซเรน 2 หาง เป็นสัญลักษณ์ประจำร้านอีกด้วย

ต่อมาในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ด้วยความโดดเด่นเหนือคู่แข่งด้วยกาแฟคั่วสดคุณภาพสูงทำให้ ‘Starbucks’ เปิดร้านในซีแอตเทิลเพิ่มอีก 4 สาขา อย่างไรก็ดี ในปีเดียวกันนี้ หนึ่งในผู้ก่อตั้งอย่าง ‘Zev Siegl’ ได้ตัดสินใจลาออกจากหุ้นส่วน หลังจากนั้น ‘Jerry Baldwin’ จึงรับหน้าที่เป็นประธานบริษัท

ผู้มาเยือนกับการสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
ปี 1981 ชายหนุ่มชาวนิวยอร์กนามว่า ‘Howard Schultz’ ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายขายของ ‘Hammarplast’ บริษัทสัญชาติสวีเดนที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์อุปกรณ์เครื่องครัวและของใช้ในบ้านที่ ‘Starbucks’ ได้สังเกตเห็นว่าคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทจำนวนมาก ทำให้เกิดความสนใจและเดินทางเพื่อไปเยี่ยมชมร้าน ‘Starbucks’ ซึ่งปรากฏว่า ‘Howard Schultz’ รู้สึกประทับใจในรสชาติของกาแฟที่นี่มาก จึงตัดสินใจย้านมาทำงานที่ ‘Starbucks’ ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการตลาดในปี 1982

ต่อมาในปี 1983 ‘Howard Schultz’ ได้รับโอกาสจากบริษัทให้เดินทางไปเข้าร่วมงานแสดงเครื่องใช้ในบ้านระดับนานาชาติที่มิลาน ประเทศอิตาลี โดยขณะอยู่ที่นั่น ได้เกิดความประทับใจร้านกาแฟในประเทศนี้ และพบว่ามิลานเพียงแห่งเดียวมีร้านกาแฟถึง 1,500 แห่ง ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจที่จะเปลี่ยนแปลงให้ ‘Starbucks’ ทำในสิ่งที่คล้ายกัน โดยนึกถึงการเปลี่ยนจากร้านเล็ก ๆ สู่ร้านกาแฟระดับชาติด้วยการขยายสาขาอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อ ‘Howard Schultz’ นำแนวคิดนี้ไปปรึกษากับ ‘Jerry Baldwin’ และ ‘Gordon Bowker’ กลับไม่ได้รับการเห็นด้วย และท้ายที่สุด เมื่อ ‘Howard Schultz’ ไม่สามารถโน้มน้าวผู้ก่อตั้งทั้ง 2 ได้ เขาจึงตัดสินใจลาออกจาก ‘Starbucks’ และได้เริ่มก่อตั้งร้านกาแฟของตัวเองชื่อ ‘Il Giornale’ ขึ้นในปี 1985 ซึ่งประสบความสำเร็จทันทีและมีการขยายสาขาไปยังหลายเมืองอย่างรวดเร็ว

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
ปี 1987 ผู้ก่อตั้งทั้ง 2 ได้ตัดสินใจขาย ‘Starbucks’ โดยขณะนั้น ‘Howard Schultz’  ได้ให้ ‘Il Giornale’ เข้าซื้อกิจการต่อจากผู้ก่อตั้งทั้ง 2 ด้วยการสนับสนุนจากนักลงทุนอย่างรวดเร็ว ทำให้ภายหลังจากนั้น ‘Howard Schultz’ ได้รวมการดำเนินงานทั้งหมดของตัวเองภายใต้แบรนด์ ‘Starbucks’ และยึดมั่นในปรัชญาธุรกิจของร้านกาแฟ ด้วยการจำหน่ายเมล็ดกาแฟ อุปกรณ์ และสินค้าอื่น ๆ เพิ่มเติมภายในร้าน ‘Starbucks’ ทั้งนี้ ภายใต้การแนะนําของ ‘Howard Schultz’ เครือร้านกาแฟนี้ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่มีสาขาน้อยกว่า 20 แห่ง กลายเป็นร้านที่มีสาขามากกว่า 100 แห่งภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี

ปี 1992 ‘Starbucks’ ได้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาของการขยายตัวทางธุรกิจอย่างรวดเร็ว

ปี 1996  ‘Starbucks’ เริ่มเปิดร้านนอกอเมริกาเหนือและในไม่ช้าก็กลายเป็นเครือข่ายร้านกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก และภายในปีเดียวกันนี้ ‘Starbucks’ มีสาขาเพิ่มขึ้นราว 2,500 แห่งในสิบกว่าประเทศ

ปัจจุบัน  ‘Starbucks’ มีจำนวนสาขามากถึง 35,711 แห่งทั่วโลก (ข้อมูลปี 2565) นอกจากจำนวนสาขาที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากแล้ว ในส่วนของรายได้   ‘Starbucks’ ก็มีการเติบโตของรายได้ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีการบันทึกรายได้สูงสุดในปี 2022 อยู่ที่ 26.57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากเรื่องราวเหล่านี้ คงมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกเสียดายแทนผู้ก่อตั้งแบรนด์ที่ไม่นำความคิดของ ‘Howard Schultz’ มาลองใช้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว จริงอยู่ที่ในบางครั้ง การทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ อาจจะนำมาซึ่งการประสบความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ แต่ในบางครั้ง การรักษาตัวตนหรือแนวความคิดตั้งแต่เริ่มต้นไว้ก็อาจจะนำมาซึ่งความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน ดังนั้น หากพบกับการตัดสินใจที่ผิดพลาดไปแล้ว การมองหาโอกาสใหม่ ๆ อาจนำมาซึ่งความสำเร็จได้ในอนาคต แม้อาจจะต้องใช้เวลา แต่ดีกว่าการคิดเสียดายสิ่งที่ผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ

ที่มา : starbucks, Britannica, statista

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #Starbucks