‘Timberland’ กับการครองใจคนรักบูทหนัง จากรองเท้าทำงาน สู่มูลค่าพันล้านจากกลุ่ม ‘ฮิปฮอป’

บรรดาคนรักรองเท้าบูท คงจะคุ้นชินกับแบรนด์รองเท้าจากสหรัฐอเมริกาอย่าง ‘Timberland’ ที่ขึ้นชื่อเรื่องการเป็นรองเท้าบูทหนังที่มีความทนทาน และมีดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เรามักจะคุ้นชินกับภาพของผู้คนที่ใส่รองเท้าบูทหนังจากการประกอบอาชีพต่าง ๆ ซึ่งอาจเกิดจากความจำเป็นจากลักษณะของงานที่ทำ แต่หากจะนึกภาพของกลุ่ม ‘ฮิปฮอป’ สวมใส่รองเท้าบูทหนัง คงไม่ใช่ภาพที่เห็นได้บ่อยนัก เนื่องจากโดยปกติแล้วอาจจะคุ้นชินกับพวกเขาเหล่านี้จากการสวมรองเท้าผ้าใบมากกว่า แต่ไม่ใช่กับแบรนด์รองเท้าบูทหนังแบรนด์นี้ เพราะนอกจาก ‘Timberland’ จะได้รับความนิยมในกลุ่ม ‘ฮิปฮอป’ แล้ว ยังสามารถทำเงินจากคนกลุ่มนี้ได้อย่างมหาศาล ทั้งยังทำให้แบรนด์สามารถตีตลาดได้ในวงกว้าง และกลายเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันมูลค่าแบรนด์ให้สูงถึงระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เรื่องราวนี้มีที่มาอย่างไร วันนี้ Business+ จะพาทุกท่านย้อนกลับไปยังจุดกำเนิด ‘Timberland’ และจุดเปลี่ยนที่สำคัญของแบรนด์จากอิทธิพลของกลุ่ม ‘ฮิปฮอป’

‘Timberland’ ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ.1952 เมื่อช่างทำรองเท้านามว่า ‘Nathan Swartz’ ได้เข้าลงทุนในบริษัทรองเท้า ‘Abington Shoe Company’ ในเซาท์บอสตัน ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1933 ด้วยการเข้าซื้อส่วนแบ่ง 50% ของ ‘Abington’ และได้กลายเป็นเจ้าของบริษัทแห่งนี้อย่างเต็มตัวในปี ค.ศ. 1955

ต่อมาในปี ค.ศ. 1968 ‘Nathan’ ได้เกษียณ และส่งไม้ต่อให้ลูกชาย 2 คนเข้ามาบริหารธุรกิจแทน ซึ่งหลังจากนั้น 2 ปี ลูกชายทั้งสองก็ได้ย้ายบริษัทไปที่นิวแฮมป์เชียร์

กระทั่งในปี ค.ศ. 1973 ‘Abington Shoe’ ได้นำเทคนิคการขึ้นรูปที่เป็นนวัตกรรมใหม่มาใช้ในการผลิตรองเท้าบูทหนัง ‘Nubuck’ สูง 6 นิ้ว แบบกันน้ำที่สามารถทนต่อสภาพอากาศเลวร้ายได้ โดยใช้ชื่อเรียกว่ารองเท้าบูท ‘Timberland’ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มคนที่ทำงานในโรงงานหรืองานก่อสร้างเป็นหลัก อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ผลิตภัณฑ์รองเท้าของ ‘Abington Shoe’ กว่า 80% ที่จำหน่ายทั้งหมดเป็นรองเท้าบูทของ‘Timberland’ ดังนั้นในปี ค.ศ. 1978 บริษัทจึงเปลี่ยนชื่อเป็น ‘The Timberland Company’

ภายหลังการเปลี่ยนชื่อบริษัทได้ไม่นาน ‘The Timberland Company’ ก็ได้เปิดตัวรองเท้าลำลองสำหรับผู้ชายเป็นคู่แรก ต่อมาจึงได้ผลิตรองเท้าพายเรือในปี ค.ศ. 1979 จากการสำรวจลูกเรือหลายสิบคนและในที่สุดก็ได้รับการรับรองจากนักเรือยอทช์ระดับฮาร์ดคอร์ ได้แก่ ‘วิลเลียม เอฟ. บัคลีย์ จูเนียร์’ และ ‘เท็ด เคนเนดี้’

นอกจากนี้ ครอบครัว ‘Swartz’ ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์มีความต้องการที่จะดึงดูดลูกค้าระดับไฮเอนด์ที่ต้องการไปเที่ยวช่วงสุดสัปดาห์ จึงได้ส่งรองเท้าบูท ‘Timberland’ ขึ้นวางจำหน่ายบนห้างสรรพสินค้า ‘Saks Fifth Avenue’ ซึ่งตั้งอยู่ในมิดทาวน์แมนฮัตตันนครนิวยอร์ก ภายในย่านช้อปปิ้งสุดหรูบนถนน Fifth Avenue และได้วางขายผ่านร้านรองเท้าในประเทศอิตาลีในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ดี แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะผลักดันให้แบรนด์ ‘Timberland’ เป็นที่รู้จักและมีความแข็งแกร่งมากขึ้น จนมีการผลิตรองเท้าบูทเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 ล้านคู่ในปี ค.ศ. 1983 แต่ก็ยังไม่นับว่าเป็นช่วงเวลาที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเท่าเรื่องราวที่ Business+ ได้เกริ่นเอาไว้ นั่นก็คือการเข้าสู่กลุ่มลูกค้าที่เป็นนักร้อง ‘ฮิปฮอป’

โดยที่มาที่ไปของการตีตลาดไปสู่กลุ่มนี้ เริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1990 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักร้อง ‘ฮิปฮอป’ กำลังได้รับความนิยมในนิวยอร์กซิตี้ และก็เริ่มกลายเป็นกระแสหลักมากขึ้น รวมทั้งศิลปินผิวดำก็มีอิทธิพลมากขึ้นเช่นกันในแง่ของการเป็นผู้นำเทรนด์ด้านแฟชั่น

นอกจากนี้ ตลอดช่วงทศวรรษที่ 1990 แร็ปเปอร์ชาวนิวยอร์กได้เลือกสวมใส่รองเท้าจากแบรนด์ ‘Timberland’ โดยหนึ่งในศิลปินที่มีอิทธิพลเป็นอย่างมาก คือ ‘Biggie Smalls’ ที่มีภาพถ่ายของเขาที่กำลังสวมรองเท้าบูทระหว่างการแสดง และการแรปเกี่ยวกับ “Timbs for my hooligans in Brooklyn” ในเพลงปี 1997 ของเขา ซึ่งทำให้ชาวฮิปฮอป รวมถึงแฟนเพลงจำนวนมากให้ความสนใจกับรองเท้าบูททันที

ทั้งนี้ ‘Timberland’ มีการเติบโตตลอดช่วงทศวรรษที่ 1990 (ระหว่างปี ค.ศ. 1991 ถึง ค.ศ. 2000 โดยผลกำไรของ ‘Timberland’ เพิ่มขึ้นจาก 80 ล้านดอลลาร์ เป็นมากกว่า 500 ล้านดอลลาร์ และในปี ค.ศ. 2000 รายได้ทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งในเรื่องนี้ ได้มีนักวิจัยทำการวิเคราะห์ไว้อย่างจริงจังต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคผิวดำ ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงยุค 90 ขณะที่สำนักข่าว ‘Los Angeles Sentinel’ ซึ่งเป็นสื่อของคนผิวดำรายงานว่าในปี ค.ศ. 1993 คนอเมริกันผิวดำใช้จ่ายมากกว่าคนที่ไม่ใช่คนผิวดำถึง 50% ในการซื้อรองเท้า และ 4% ในการซื้อเสื้อผ้า

จากข้อมูลเหล่านี้ คงพอทำให้เห็นภาพคร่าว ๆ ได้ว่ากลุ่ม ‘ฮิปฮอป’ ถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่สำคัญที่ช่วยให้ ‘Timberland’ กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น และมีส่วนสำคัญในการผลักดันรายได้ของ ‘Timberland’ ให้พุ่งไปสู่มูลค่าระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐได้ในที่สุด

ที่มา : cnbc, referenceforbusiness

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #Timberland #รองเท้า #รองเท้าบูท #เรื่องราวแบรนด์