“ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” นำทัพ “ไปรษณีย์ไทย”
สู่ผู้นำอันดับ 1 ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์
ถือได้ว่า ปี 2566 สำหรับธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดยเฉพาะมูลค่าการเติบโตของตลาด E-commerce หรือการขายของออนไลน์ ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล และในขณะเดียวกัน ธุรกิจอะไรก็ตามที่มีโอกาสเติบโตสูงย่อมเกิดผู้เล่นรายใหม่ ๆ และเกิดการแข่งขันที่รุนแรงตามมาอย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะการเดินกลยุทธ์ด้านราคา เพื่อช่วงชิงฐานลูกค้ามาใช้บริการของตัวเองให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสมรภูมิโลจิสติกส์ในประเทศไทยที่กำลังเดือดพล่านอยู่ในปัจจุบัน ผู้ให้บริการที่มีอายุขององค์กรนานที่สุดอย่าง “ไปรษณีย์ไทย” ภายใต้การบริหารของ ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) องค์กรที่มีอายุยาวนานกว่า 140 ปี มีแนวทางในการปรับตัวและพัฒนาองค์กรอย่างน่าสนใจยิ่ง
ดร.ดนันท์ เล่าให้ Business+ ฟังว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทยมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อรับมือกับการแข่งขันทางธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก รวมถึงจำนวนคู่แข่งที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่ม Tech Company รวมถึงเจ้าของแพลตฟอร์ม E-commerce ต่าง ๆ ที่ได้ขยายบริการมาทำระบบโลจิสติกส์ของตนเอง
ดังนั้น ไปรษณีย์ไทยต้องเน้นย้ำจุดแข็งและขีดความสามารถทางการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา จากเดิมที่คนอาจจะมองว่า “บุรุษไปรษณีย์” คือจุดแข็ง เพราะรู้จักพื้นที่ รู้จักคน รู้จักทุกบ้าน แต่ทว่าในบริบทของธุรกิจขนส่งในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ใช่จุดแข็ง และลูกค้าจะไม่ให้ความสำคัญอีกต่อไป
ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าในปัจจุบัน จะพบว่าสิ่งที่ลูกค้าจะเลือกใช้บริการขนส่งของบริษัทใดนั้น หลัก ๆ คือ 1. ความสะดวกในการเข้าถึงบริการง่ายหรือไม่ 2. ราคาค่าบริการ ซึ่งมีผลอย่างมากต่อพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของได้เยอะ เพราะว่าราคาที่ต่างกันเพียง 1 บาท แต่หากลูกค้าส่งสินค้า 10,000 ชิ้น เท่ากับว่าลูกค้าต้องจ่ายเพิ่มถึง 10,000 บาท และ 3. ความมั่นใจในแบรนด์หรือการบริการ เชื่อมั่นได้ว่า ส่งของกับแบรนด์ผู้ให้บริการรายนี้ สินค้าจะไม่หาย ไม่แตก ไม่พัง อย่างแน่นอน
“จากพฤติกรรมของลูกค้าในปัจจุบัน มองว่า 3 ปัจจัยนี้ คือสิ่งที่ลูกค้าจะตัดสินใจเลือกใช้บริการขนส่งสินค้า เพราะฉะนั้น จุดแข็งของไปรษณีย์ไทยในอดีตอาจจะไม่ใช่จุดขายในธุรกิจโลจิสติกส์อีกต่อไป โดยสิ่งที่เรากําลังจะทําตอนนี้ก็คือ การให้บริการแบบครบวงจร End to End Process ของไปรษณีย์ไทยต้องมีคุณภาพดีที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันเรื่องราคา เพื่อให้องค์กรของเราเติบโตได้อย่างยั่งยืน”
ทั้งนี้ ดร.ดนันท์ระบุว่า สิ่งที่ไปรษณีย์ไทยได้ให้ความสำคัญคือคุณภาพของการบริการ ด้วยมาตรการที่เรียกว่า Zero Complain ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2565 เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งกว่าเดิม เพื่อป้องกันข้อร้องเรียนที่อาจเกิดขึ้นให้เป็นศูนย์ ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินมาตรการ Zero Complain
ที่ผ่านมาได้รับผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ซึ่งต้องขอบคุณพนักงานของไปรษณีย์ไทยทุกคนที่ร่วมใจมุ่งมั่นส่งมอบบริการให้กับลูกค้า ทำให้ไปรษณีย์ไทยไม่ต้องลงไปเล่นในเกมราคา
และเหนือสิ่งอื่นใด การจะดำเนินมาตรการ Zero Complain ให้ได้ผลตามเป้าหมายที่วางไว้นั้น ทุกคนต้องรับฟังความต้องการของลูกค้าอยู่ตลอดเวลา และเมื่อได้รับเสียงสะท้อนหรือข้อร้องเรียนมาแล้ว จะต้องแอคชันเข้าไปแก้ปัญหาทันที
ไม่เพียงเท่านั้น ไปรษณีย์ไทยยังปรับวัฒนธรรมองค์กรใหม่ เพื่อก้าวไปสู่ความยั่งยืน หรือ “Sustainable POST” ซึ่งประกอบด้วย Sustainable (ความยั่งยืน) ในขณะที่ POST คือ
P – Professional : ใส่ใจงานอย่างมืออาชีพ
O – Over Deliver : ส่งมอบบริการเหนือความคาดหวัง
S – Speed : สนองความต้องการอย่างรวดเร็ว
และ T – Trendy : สมัยใหม่ทันยุค
ดร.ดนันท์ปิดท้ายว่า “ถึงแม้ว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์เติบโตอย่างมากจากการเติบโตของตลาด E-Commerce และพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ความท้าทายของผู้ให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์ก็มีมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งถึงแม้ว่าไปรษณีย์ไทยจะเป็นบริษัทฯ ภายใต้การกำกับของรัฐที่อาจจะมีความยืดหยุ่นน้อยและมีข้อจำกัดในบางเรื่อง แต่ก็ให้เครดิตพนักงานทุกคนของเราว่าสามารถรับมือกับการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งในมิติของผลประกอบการ โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา สามารถพลิกสร้างกำไรได้เกือบ 80 ล้านบาท และมิติของความยั่งยืนจากการบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การนำรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มาใช้ในการขนส่งสินค้า ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 300 คัน ที่ช่วยให้ต้นทุนลดลง และยังช่วยในด้านสิ่งแวดล้อมตามกรอบ ESG ซึ่งเป็นแนวทางนำพาองค์กรสู่ความยั่งยืนอีกด้วย”
รับชมในรูปแบบ Video