Big Change ไทยออยล์
ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
การเข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 ของคุณบัณฑิต ธรรมประจำจิต พร้อมด้วยการประกาศทรานส์ฟอร์มธุรกิจ เพื่อตอบสนองต่อ Megatrends ต่าง ๆ และตอกย้ำการก้าวสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายใต้แนวทางการดำเนินธุรกิจที่เรียกว่า “TOP FOR THE GREAT FUTURE”
ก้าวต่อไปของไทยออยล์กับการปรับตัว เพื่อก้าวผ่าน Big Change
การเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเข้าสู่พลังงานสะอาดถือเป็นความท้าทายสำหรับกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันอย่างเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้ช่วงเวลาที่ผ่านมา โลกได้เห็นการปรับตัวขององค์กรธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) จากน้ำมันเชื้อเพลิงสู่พลังงานไฟฟ้า ไปสู่การใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Environmental Pressure) เช่นเดียวกับ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้การนำของลูกหม้ออย่างคุณบัณฑิต ธรรมประจำจิต โดยท่านได้ประกาศสานต่อวิสัยทัศน์ พาไทยออยล์ทรานส์ฟอร์มธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง และธุรกิจอื่น ๆ ที่เป็น New S-Curve พร้อมตอกย้ำเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายใต้แนวทางการดำเนินธุรกิจที่เรียกว่า “TOP FOR THE GREAT FUTURE” ในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง
“ไทยออยล์อยู่บนเส้นทางของการทรานส์ฟอร์มธุรกิจองค์กรให้สอดรับกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก (Megatrend) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค และการปฏิวัติทางปัญญาประดิษฐ์ (AI Revolution) ภายใต้วิสัยทัศน์ “สร้างสรรค์คุณภาพชีวิตด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน (Empowering Human Life through Sustainable Energy and Chemicals)” คุณบัณฑิตกล่าวเปิดใจกับ Business+ ถึงภารกิจที่จะพาไทยออยล์ ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายของยุคสมัยปัจจุบัน
จากคำกล่าวนี้ เราถามท่านว่า ไทยออยล์จะมีวิธีหรือกลยุทธ์ก้าวผ่าน Big Change ด้วยแนวทางอย่างไร และก็ได้รับคำตอบที่น่าสนใจในหลายมิติด้วยกัน “ไทยออยล์เองก็ปรับตัวด้วยการต่อยอดจากธุรกิจโรงกลั่นสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง รวมถึงธุรกิจ New S-Curve รวมถึงการขยายตลาดออกสู่ภูมิภาค ผ่านกลยุทธ์หลักทางธุรกิจ 3 ด้าน (3Vs) ซึ่งประกอบด้วย
- Value Maximization การบูรณาการต่อยอดห่วงโซ่คุณค่าเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ จากธุรกิจปิโตรเลียม ต่อยอดไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมี และมุ่งขยายไปยังธุรกิจผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงและเคมีภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นโครงการพลังสะอาดที่เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและประสิทธิภาพการกลั่น อีกทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มสำคัญสำหรับไทยออยล์ในอนาคตในการต่อยอดไปสู่ธุรกิจ
ปิโตรเคมีขั้นปลาย รวมถึงการกระโดดเข้าลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ในประเทศอินโดนีเซีย ด้วยการเข้าถือหุ้นประมาณ 15% ในบริษัท Chandra Asri - Value Chain Enhancement การขยายตลาดเพื่อรองรับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของกลุ่มไทยออยล์ ซึ่งเป็นการสร้างความแข็งแกร่งด้านการตลาดทั้งในประเทศและขยายตลาดไปสู่ภูมิภาค เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย
- Value Diversification การลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ (New S-Curve) ที่มีมูลค่าสูง เช่น ธุรกิจสารเคมีสำหรับยับยั้งและกำจัดเชื้อโรค และสารลดแรงตึงผิวที่ใช้ในอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด รวมถึงธุรกิจที่มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Technology and Green) และตอบโจทย์ Megatrends เช่น ธุรกิจชีวภาพ (Bio Business) และธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ (New Energy)” เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน ไทยออยล์ โดยผู้นำที่ชื่อ “บัณฑิต” ใช้แนวทางการดำเนินธุรกิจที่เรียกว่า “TOP FOR THE GREAT FUTURE” ซึ่งประกอบด้วย
T (Transformation) : การทรานส์ฟอร์มองค์กรในทุกมิติ เพื่อให้พร้อมสำหรับการดำเนินธุรกิจใหม่ ๆ ในอนาคต
O (Operational to Business Excellence) : ยกระดับการบริหารธุรกิจเชิงบูรณาการจากความเป็นเลิศด้านการปฏิบัติงานไปสู่ความเป็นเลิศทางธุรกิจ
P (Partnership & Platform) : สร้างการเติบโตด้วยแนวทางความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อสร้างแพลตฟอร์มทางธุรกิจที่สำคัญทั้งในและต่างประเทศ
ท่านเสริมว่า “การทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องการให้ผลตอบแทนสูงสุด แต่เป็นการสร้างผลตอบแทนที่ดี และขณะเดียวกันยังต้องดูแลรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดีอีกด้วย ซึ่งหมายถึงการดำเนินงานภายใต้กรอบ ESG ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายระยะยาวอย่างยั่งยืน ดังนี้
- Environment – ยกระดับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับทิศทางของโลก ซึ่งมีเป้าหมายการมุ่งสู่ Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และ Net Zero GHG Emission ภายในปี 2060
- Social – สร้างความผูกพัน ควบคู่กับการสร้างคุณค่าต่อชุมชนและสังคม เพื่อเติบโตร่วมกันในระยะยาว
- Governance – สร้างความเชื่อมั่นด้านบรรษัทภิบาลและความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ และมีจริยธรรม ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ขณะที่ยังคงความยืดหยุ่นคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ
นอกจากนี้ ยังมีสิ่งสุดท้ายที่ขาดไม่ได้ นั่นคือ ‘คน’ ซึ่งไทยออยล์ใส่ใจและดูแลพนักงานอย่างดี พร้อมเปิดโอกาสให้เรียนรู้สิ่งใหม่เพื่อการเติบโตในการทำงาน รวมถึงจัดกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ ภายใต้แนวคิด ‘คนสำราญ งานสำเร็จ’”
จากคำตอบทั้งหมดที่เราได้คุยกับคุณบัณฑิตยิ่งทำให้เรามั่นใจว่า เขาคือผู้นำคนสำคัญที่จะนำพาไทยออยล์ให้เติบโตอย่างมั่นคงในอนาคต ถึงแม้จะยังมีความท้าทายอยู่มาก แต่ท่านมองว่าการขับเคลื่อนไทยออยล์ผ่านแนวทาง TOP FOR THE GREAT FUTURE จะสามารถนำพาไทยออยล์ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ เพื่อส่งมอบคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ทุกภาคส่วน ต่อยอดให้ไทยออยล์ไปสู่องค์กรยั่งยืน โดยสามารถบรรลุวิสัยทัศน์ ภายในปี 2030
จากแผนการดำเนินงานที่กล่าวมาของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ทำให้เห็นว่า จากธุรกิจโรงกลั่น ไทยออยล์สามารถต่อยอดการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการดำเนินงานปกติ (Organic Growth) และการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด (Inorganic growth) ซึ่งคำตอบทั้งหมดก็ชัดเจนแล้วว่า กลยุทธ์ 3Vs คือประตูแห่งความสำเร็จนั่นเอง
รับชมในรูปแบบ Video