ThaiAirways

‘การบินไทย’ จะทำได้มั้ย? กับภารกิจพลิกส่วนทุนจากติดลบ 43,213 ลบ. ให้กลายเป็นบวกใน 1 ปี

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI อยู่ในช่วงของการฟื้นฟูกิจการมาเป็นระยะเวลา 3 ปีกว่า (ตั้งแต่ปี 2563) ซึ่งภายหลังจากผลประกอบการของบริษัทในปี 2566 มีทิศทางที่ดีขึ้นตามอุตสาหกรรมการบินโลกที่ฟื้นตัวก็ทำให้มีการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการเร็วกว่ากำหนดเดิมที่ตั้งเอาไว้ว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงปลายปี 2567

แต่ในมุมของการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น THAI ตั้งเป้าว่าจะกลับเข้าไปซื้อขายได้ในช่วงปี 2568 ซึ่งหาก THAI ต้องการกลับเข้ามาซื้อขายได้อีกครั้งจำเป็นต้องปรับโครงสร้างการเงินให้อยู่ในเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด หนึ่งส่วนที่สำคัญคือต้องทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่าศูนย์ ซึ่งตอนนี้เป้าหมายยังดูห่างไกลมาก ดังนั้นในวันนี้ (8 มี.ค.2567) ทาง THAI จึงได้ยื่นขอขยายเวลาปรับปรุงฐานะการเงินและการดำเนินงาน เพื่อแก้ไขเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ จากกำหนดการเดิมคือ ภายในวันที่ 7 มีนาคม 2567 ออกไปเป็น 7 มีนาคม 2568 หรือใช้เวลาเพิ่มอีก 1 ปี หลังจากส่วนของผู้ถือหุ้นยังคงติดลบ

โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อนุมัติและขยายเวลาให้ THAI เพื่อดำเนินการแก้ไขเหตเุข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ประกาศให้ THAI เป็นบริษัทที่ต้องปรับปรุงฐานะการเงินและการดำเนินงานปีที่ 3 (NC ปีที่ 3) ตั้งแต่งบการเงินประจำปี 2563 ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชี ปรากฏส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ ทั้งนี้เมื่อครบตามเวลาที่กำหนดและ THAI ไม่สามารถดำเนินการได้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจพิจารณาดำเนินการเพิกถอนหลักทรัพย์ได้ในอนาคต

ทั้งนี้ ‘Business+’ ตรวจสอบข้อมูลงบการเงินของ THAI พบว่าส่วนของผู้ถือหุ้นภายหลังปิดงบปี 2566 ยังติดลบ -43,213.88 ล้านบาท ถึงแม้จะเป็นการติดลบที่ลดลงจากงวดปี 2565 ซึ่งติดลบอยู่ทั้งหมด -71,082.71 ล้านบาท แต่ตามกำหนดการแล้ว THAI จะต้องแก้ไขงบการเงินให้พ้นการถูกเพิกถอนของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในปีนี้ พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นที่ติดลบอยู่ -43,213.88 ล้านบาท เป็นบวกให้ได้ (กำหนดการเดิมคือภายในวันที่ 7 มีนาคม 2568)

ซึ่งดูเหมือนว่า ต่อให้จะได้รับการขยายเวลาไปอีก 1 ปี ก็ยังคงไม่ใช่เรื่องง่ายหากจะพึ่งพาเพียงการสร้างกำไรสะสมให้สูงขึ้นเพียงอย่างเดียว เพราะถึงแม้ในปี 2566 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการบินโลกฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านปริมาณความต้องการเดินทางและความสามารถในการทำกำไร ซึ่งทำให้บริษัทสามารถทำกำไรสุทธิได้มากถึง 28,096.39 ล้านบาท ก็ยังทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบลดลงเพียง 27,882 ล้านบาท

แต่หากต้องการทำให้ปี 2567 พลิกกลับเป็นบวกต้องอาศัยการทำกำไรสุทธิที่สูงมากกว่าเดิม ภายใต้ความกดดันด้านต้นทุนน้ำมันที่อาจสูงขึ้น และต้องอาศัยการปรับโครงสร้างทุน และโครงสร้างหนี้ อย่างเช่น อาศัยการเพิ่มทุน รวมถึงมีการให้สิทธิการแปลงหนี้เป็นทุนแก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้นและลดภาระหนี้สิน

จึงเป็นที่น่าจับตามองต่อไปว่าการบินไทยจะสามารถพลิกส่วนของผู้ถือหุ้นให้กลายเป็นบวกภายในปี 2568 ได้จริงหรือไม่? ในช่วงที่ยังต้องเผชิญกับสิ่งที่ท้าทายคือเรื่องของต้นทุนน้ำมันที่อาจสูงขึ้นจากภาวะสงครามที่ยังคงยืดเยื้อ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมการบิน เพราะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินคิดเป็นสัดส่วน 31% ของต้นทุนการดำเนินงานทั้งหมดของสายการบินเลยทีเดียว ดังนั้นถึงแม้รายได้มีแนวโน้มจะฟื้นตัวสูงขึ้น แต่ก็ยังต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นตามเช่นกัน การสร้างกำไรสุทธิจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากในปี 2567

นอกจากนี้หากเรามองย้อนกลับไปถึงสาเหตุที่ทำให้ THAI ต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการนั้น เริ่มมาตั้งแต่การขาดทุนสุทธิหลายปีติดต่อกัน จนมาเผชิญกับ COVID-19 ช่วงปี 2562-2563 ก็ยิ่งทำให้บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิอย่างหนักจนทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นในปี 2563 ติดลบ -128,742.49 ล้านบาท ซึ่งการขาดทุนสุทธิจำนวนมากตั้งแต่ปี 2560 นั้นทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วถึงไม่มี COVID-19 บริษัทฯ ก็มีปัญหาด้านการบริหารจัดการมานานแล้ว

ที่มา : SET

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #การบิน #อุตสาหกรรมการบิน #ธุรกิจการบิน #สายการบิน #การบินไทย #THAI