จะเกิดอะไรขึ้น? หาก ‘ไทย’ เหลือประชากรเพียง 33 ล้านคน

จากผลสำรวจการเกิดของประชากรไทยล่าสุด พบว่า เด็กเกิดใหม่มีจำนวนลดลงเข้าขั้นวิกฤต จากเดิมเกิดไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน ในช่วงระหว่างปี 2506-2526 ซึ่งมีการลดลงเหลือ 485,085 คน ในปี 2564 ขณะที่จำนวนอัตราการเสียชีวิต อยู่ที่ 550,042 คน นับได้ว่าการเสียชีวิตมีจำนวนที่มากกว่าการเกิดถึง 64,957 คน สำหรับการลดลงนี้สอดคล้องกับอัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate: TFR) ที่ลดต่ำกว่าระดับทดแทน (2.1) มาตั้งแต่ปี 2536 และปี 2565 อยู่ที่ 1.16 โดยเกือบทุกจังหวัดในไทย มีอัตราเจริญพันธุ์รวมต่ำกว่าระดับทดแทน มีเพียงจังหวัดยะลาเท่านั้นที่มีค่า TFR เท่ากับ 2.27 ซึ่งสูงกว่าระดับทดแทน

ทั้งนี้จึงส่งผลให้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับจำนวนประชากรมากขึ้น โดยผลักดันการมีบุตรเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ เพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมาตรการส่งเสริมการมีบุตรจะมีทั้งในเรื่องของความสมดุลการทำงานกับการดูแลครอบครัว การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระในการเลี้ยงดูบุตร การช่วยเหลือคนที่มีบุตรยาก และการแก้ไขฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ในกลุ่มที่ใช้ชีวิตคู่ไม่อยากจดทะเบียนสมรส กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มหนุ่มโสด สาวโสดที่อยากมีลูกแต่ไม่อยากมีบุตร ให้มีโอกาสมีลูกได้ โดยมาตรการเหล่านี้ต้องมีการพิจารณาและบูรณาการร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากมีการเสนอผ่านคาดจะเป็นอีกหนึ่งทางที่ทำให้จำนวนการเกิดเพิ่มขึ้น

ซึ่งด้านผู้เชี่ยวชาญได้มีการคาดการณ์ไว้ว่า ในอีก 60 ปีข้างหน้าจำนวนประชากรไทยจะลดลงเกือบครึ่งหนึ่งจาก 66 ล้านคน เหลือเพียง 33 ล้านคน โดยในปี 2626 จำนวนประชากรวัยแรงงาน (ช่วงอายุ 15-64 ปี) จะลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือเพียง 14 ล้านคน จำนวนประชากรวัยเด็ก (ช่วงอายุ 0-14 ปี) จะลดลงจาก 10 ล้านคน ในเหลือเพียง 1 ล้านคน สูงวัย (65+) เพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคน ไปเป็น 18 ล้านคน คิดเป็น 50% ของประชากรทั้งประเทศ

โดยจากผลการสำรวจถึงสาเหตุของการที่ประชาชนไม่ต้องการมีลูก หรือ ให้กำเนิดเด็กนั้น มีอยู่ด้วยกัน 4 ปัจจัยหลักดังนี้

1. เศรษฐกิจ : ด้วยภาวะปัญหาด้านเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ไม่มีความแน่นอน ทั้งในเรื่องเงินเฟ้อ การขึ้นอัตราดอกเบี้ย การเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจนในบางครั้งส่อถดถอย ทำให้ประชาชนมีความกังวลต่อการเลี้ยงดู เพราะ การเลี้ยงเด็กหนึ่งคนมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างมาก โดยในตรงนี้ทางภาครัฐก็ไม่ได้ช่วยสนับสนุนอย่างเต็มที่

2. สังคม : การเหลื่อมล้ำทางสังคมของไทยนั้นอยู่ในเกณฑ์สูง มักมีการเปรียบเทียบอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ ครอบครัว การแต่งกาย โรงเรียน หรือแม้แต่การใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งเหตุการณ์นี้เด็กจะได้รับความกดดันเป็นอย่างมาก นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้หลาย ๆ คนเลือกที่จะไม่มีลูก

3. การศึกษา : การเรียนการสอนของไทยยังไม่ได้ขยายทั่วประเทศมากนัก ซึ่งมักจะอยู่ในจุดใดจุดหนึ่งอาจทำให้เข้าถึงยาก รวมทั้งในเรื่องอุปกรณ์การเรียนก็ยังขาดแคลนยิ่งตามแหล่งพื้นที่ชนบทอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ

4. สิ่งแวดล้อม : ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมจะมีทั้งมลพิษทางอากาศ สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย ความปลอดภัยในชีวิต ซึ่งในตอนนี้คนอาจคิดว่าไม่เอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงเด็ก เพราะปัจจุบันคนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น และไม่ต้องการให้คนรุ่นหลังต้องมาเจอกับมลพิษรอบข้าง อีกทั้งในเรื่องของความปลอดภัยการใช้ชีวิตก็มองข้ามไม่ได้จึงไม่อยากที่จะต้องมากังวลต่อสิ่งต่า ง ๆ

สำหรับข้างต้นการที่อัตราการเกิดใหม่น้อยลง ก็จะส่งผลกระทบที่ไม่เพียงแค่เศรษฐกิจ แต่การพัฒนาประเทศก็จะยากขึ้น แม้อาจเกิดข้อสงสัยที่ว่าทำไมหลายประเทศในโลกที่มีจำนวนประชากรน้อยกว่าเรายังสามารถพัฒนาประเทศจนกลายเป็นเมืองน่าอยู่ได้ และระบบเศรษฐกิจก็ดี นั่นเป็นเพราะว่า ยุทธศาสตร์ทางการบริหารมีความแตกต่างกันนั่นเอง ซึ่งหากบ้านเรายังไม่มีมาตรการจูงใจให้ประชาชนตัดสินใจมีบุตร บนพื้นฐานของสิทธิส่วนบุคคล ก็จะไม่สามารถเพิ่มจำนวนการเกิดได้

ทั้งนี้หากไม่มีการเกิดใหม่ และจำนวนประชากรลดเหลือเพียง 33 ล้านคนจริง ๆ คาดจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศดังนี้

1. การจัดเก็บภาษี : เมื่อคนวัยทำงานลดลงภาครัฐก็จะไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ

2. เศรษฐกิจ : การเติบโตของระบบหมุนเวียนเศรษฐกิจของประเทศจะชะลอตัวลง ทำให้อาจเกิดภาวะถดถอย

3. ขาดแคลนแรงงาน : เมื่ออัตราการเกิดน้อยลง ก็จะเกิดช่องว่างระหว่างจำนวนประชากรเข้าและออกจากวัยแรงงานจะกว้างมากขึ้น ซึ่งหมายถึงอาจต้องพึ่งพิงคนสูงวัย

4. ผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น : ภาครัฐต้องมีการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้มากกว่าเดิม ด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น แต่รายได้ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเท่าเดิม

5. สูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ : หากมีประชากรเกิดใหม่น้อย แรงงานรุ่นใหม่ก็จะน้อยตาม ซึ่งก็จะส่งผลให้กำลังการผลิตมีแนวโน้มลดลงทำให้ธุรกิจขยายตัวช้า

สุดท้ายนี้การที่จะแก้ปัญหาได้อาจต้องเริ่มที่ภาครัฐต้องมีการสนับสนุน และปลูกฝังความรู้ สร้างงานสร้างอาชีพให้กับประชาชน ซึ่งในสังคมไม่ใช่ไม่มีการให้กำเนิดบุตรเลย แต่เป็นการให้กำเนิดบุตรแบบไม่พร้อมและส่งผลต่อเด็กที่เกิดมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ทำให้ประเทศอาจเสียบุคคลากรดี ๆ ไป อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญก็คือมาตรการส่งเสริมการมีบุตรต้องมีความครอบคลุมและขั้นตอนต้องไม่ยุ่งยาก

.

ที่มา : IQ

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

.

#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #ไทย #คนเกิดน้อย #เศรษฐกิจ #ผู้สูงวัย #สังคมสูงวัย