อัพเดทเทรนด์การใช้อินเทอร์เน็ต & Social Media ทั่วโลก แพลตฟอร์มไหนส่วนแบ่งสูงที่สุด

สถิติการใช้งานอินเทอร์เน็ต และ Social Media ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ชาวแอฟริกาใต้ เป็นประเทศที่ใช้งานบนโลกออนไลน์มากที่สุด แตกต่างจากญี่ปุ่นซึ่งใช้เวลาออนไลน์น้อยที่สุดในโลกถึง 5 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่ Facebook ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่กินส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดในโลก ด้วยจำนวนผู้ใช้งานสูงถึง 3 พันล้านคน จากประชากรทั่วโลกกว่า 8 พันล้านคน อย่างไรก็ตามพบข้อมูลว่า Facebook ได้ปิดกั้นการโพสต์ประเภท Post Link เพราะต้องการรักษาแชมป์การเป็นแพลตฟอร์ม Social Media อันดับ 1 ของโลก โพสต์ลิงค์จึงสร้าง Engagement Rate ได้ค่อนข้างต่ำ

ข้อมูลจาก ‘Digital Global Statshot Report ประจำปี 2023 ฉบับเดือนตุลาคม’ จัดทำโดย Meltwater และ We Are Social ได้เปิดเผยตัวเลขผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 3.7% ในปีที่ผ่านมา แตะ 5.30 พันล้านคนในเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งคิดเป็น 65.7% ของประชากรโลก โดย Facebook ยังเป็นแพลตฟอร์ม Social ที่คนใช้งานมากที่สุดในโลก และตามด้วย Youtube ซึ่งมีการจัด 5 อันดับล่าสุดได้ดังนี้

1. Facebook : 3,000 ล้านคน

2. Youtube : 2,491 ล้านคน

3. Whatsapp : 2,000 ล้านคน

4. Instagram : 2,000 ล้านคน

5. Wechat : 1,327 ล้านคน

ส่วน Tiktok ยอดผู้ใช้งานมาเป็นอันดับที่ 6 ด้วยยอดผู้ใช้งาน 1,218 ล้านคน (ที่มา : Kepios)

ทั้งนี้หากเราเจาะข้อมูลลงไปในส่วนของประเทศไทย จะพบว่า มีความแตกต่างกับทั่วโลกทั้งในส่วนของ Line ที่เป็น Social ที่คนไทยใช้มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 และในส่วนของ Tiktok ที่คนไทยใช้งานมากกว่า Instagram สวนทางกับการใช้งานของคนทั่วโลก

โดยอันดับ Social ที่คนไทยใช้งานจัดอันดับได้ดังนี้

1. Facebook : 58 ล้านคน

2. Line : 45 ล้านคน

3. Youtube : 40 ล้านคน

4. Tiktok : 35 ล้านคน

5. Instagram : 18 ล้านคน

ข้อมูลที่น่าสนใจคือผู้ใช้งาน Tiktok ในไทยมีการเติบโตค่อนข้างก้าวกระโดด โดยเพิ่มขึ้น 15 ล้านคน หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ Instagram มีการเติบโต 2.5 ล้านคน คิดเป็นการเติบโต 15.6%

Trends Social Media

ทีนี้กลับมาที่ภาพรวมของทั่วโลกกันบ้าง นอกจากจำนวนคนใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นแล้วยังพบว่า ระยะเวลาที่คนใช้อินเทอร์เน็ตเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมายอดใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปลดลง โดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปได้เพิ่มกิจกรรมที่ทำบนโลกออนไลน์ขึ้นอีก 4 นาทีต่อวันหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 6 นาทีต่อวันจากเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว

หากเจาะเข้าไปเป็นประเทศเราพบว่า ชาวแอฟริกาใต้ใช้เวลาออนไลน์มากที่สุดในโลก โดยใช้เวลาประมาณ 9 ชั่วโมง 30 นาทีต่อวัน (ซึ่งในปี 2561 ไทยเคยครองแชมป์การใช้เวลาเล่นอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก เฉลี่ยถึงวันละ 9 ชั่วโมง 38 นาที)

ส่วนประเทศที่ครองแชมป์อันดับ 2 คือ บราซิล โดยชาวเน็ตของบราซิลใช้เวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 9 ชั่วโมง 25 นาทีต่อวัน และอันดับที่ 3 เป็นของชาวฟิลิปปินส์ด้วยเวลา 9 ชั่วโมง 7 นาทีต่อวัน ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศเป็นประเทศที่คนใช้เวลาอยู่กับอินเทอร์เน็ตน้อยที่สุด ด้วยเวลาเฉลี่ยน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน

ซึ่งในภาพรวมแล้ว เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่าเวลาอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยต่อวันมีแนวโน้มลดลงตามอายุ ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นที่กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Hyper Aged) อยู่อันดับล่างสุดของโลก (เป็นรองเพียงโมนาโก) ขณะที่แอฟริกาใต้มีประชากรส่วนใหญ่ในวัยหนุ่มสาว โดยอายุเฉลี่ยของประชากรอยู่ที่ 27.6 ปีเท่านั้น ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า ประเทศที่อายุประชากรต่ำมีโอกาสที่จะใช้เวลาอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตมากกว่าประเทศที่มีประชากรสูงอายุจำนวนมาก

นอกจากนี้หากมองในมุมของการใช้งาน Social Media เป็นช่องทางการออนไลน์ที่คนใช้เวลามากที่สุด โดยคนทั่วโลกจะใช้เวลา 1 ใน 3 ของการออนไลน์ไปกับ Social Media โดย Facebook ยังคงมีส่วนแบ่งที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งคิดเป็นเกือบ 2 จาก 3 ส่วนของ Social Media ทั่วโลก

โดย 5 อันดับแรกที่มีส่วนแบ่งสูงที่สุดดังนี้

  1. Facebook 65.24%
  2. Instagram 13.31%
  3. X (Twitter) 8.75%
  4. Pinterest 7.28%
  5. Youtube 4.00%

ทั้งนี้หากเราเจาะเข้าไปถึงประเภทการโพสต์ใน Facebook เราจะพบว่า “โพสต์ลิงก์” (Link Posts) เป็นโพสต์ที่มีปริมาณมากที่สุดเมื่อเทียบกับการโพสต์ประเภทอื่น โดยคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่ง (49.2%) ของโพสต์จากเพจ Facebook (ข้อมูลช่วงเดือนมิ.ย.-ส.ค.2023) แต่จากการโพสต์ลิงก์เหล่านี้สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) กับแฟนเพจได้ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับโพสต์ทุกประเภทบน Facebook (คำนวณจาก Post Engagement Vs Page Fans)

โดยจัด 5 อันดับได้ดังนี้

  1. All Post Types 0.06%
  2. Photo Posts 0.11%
  3. Video Posts 0.08%
  4. Link Posts 0.03%
  5. Status Post 0.07%

จะเห็นได้ว่า โพสต์ประเภท Link Posts เมื่อเทียบกับฐานผู้ติดตามเพจนั้นสร้าง Engagement ได้ต่ำที่สุด คิดเป็นการมีส่วนร่วมของคนจากแฟนเพจเพียง 3 จาก 10,000 คนเท่านั้นที่จะมีส่วนร่วมกับโพสต์ลิงก์ (0.03%) ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำสมมติฐานที่ก่อนหน้านี้เคยมีการวิเคราะห์ว่า “โพสต์ลิงก์” ทำงานได้แย่ที่สุดในอัลกอริธึมการจัดอันดับโพสต์ของ Facebook

อย่างไรก็ตาม หากจัดลำดับ Engagement Rate เมื่อเทียบกับยอดคนเห็นโพสต์ (Post Engagement Vs Post Reached) พบว่า ประเภทการโพสต์ที่มียอด Engagement Rate สูงที่สุดคือ Status Posts ด้วยยอดสูงถึง 15.57% อันดับที่ 2 เป็น Reels Posts สัดส่วน 15.04%

  1. Status Posts 15.57%
  2. Reels Posts 15.04%
  3. Link Posts 8.56%
  4. Album Post 7.53%
  5. Photo Post 6.66%
  6. Video Post 5.21%

จากข้อมูลทั้งหมดของประเภทการโพสต์ หากวัดเป็น Engagement หรือการมีส่วนร่วมของโพสต์ จะเห็นว่ามีทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบระหว่าง Post Engagement Vs Page Fans หรือ Post Engagement Vs Post Reached ก็ตาม แสดงให้เห็นว่าการวิเคราะห์ของชาวเน็ต และหลายๆ  Creators ว่า โพสต์ลิงก์จะถูกปิดกั้นจากอัลกอริธึมของ Facebook มีความเป็นไปได้สูง โดยสาเหตุที่เป็นแบบนั้น อาจเพราะ Facebook  มองว่าหากเป็นลิงค์ภายนอกจะทำให้เกิดการดึงผู้ใช้งานจาก Facebook ไปยังแพลตฟอร์มอื่น ดังนั้นอัตราการมีส่วนร่วม (Engaged) จึงค่อนข้างต่ำกว่าโพสต์ประเภทอื่นๆ

ที่มา : Meltwater ,We Are Social

เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS