supplement

ทิศทางตลาดอาหารเสริมกับมูลค่าที่จะเติบโต 10% ตลอด 7 ปี

มูลค่าตลาดอาหารเสริมทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เกิด COVID-19 และยังถูกประเมินว่าอัตราการเติบโตนี้จะยังเกิดขึ้นไปอีกอย่างต่ำ 7 ปี ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 10% โดยสินค้าที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดถึง 30% ของโลก คือ สินค้าประเภทวิตามิน ส่วนโปรตีน และผลิตภัณฑ์กรดอะมิโน เป็นสินค้าที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด โดยปัจจัยที่สนับสนุนทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารเสริมคือพฤติกรรมของคนที่หันมาใส่ใจสุขภาพหลังเกิด COVID-19 และโครงสร้างสังคมของโลกที่เป็นสังคมผู้อายุโส (Aged Society) ทำให้ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารเสริมมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด

‘Business+’ พบข้อมูลว่า มูลค่าตลาดอาหารเสริมทั่วโลกในปี 2022 อยู่ที่ 152.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีการคาดการณ์กันว่ามูลค่าจะขึ้นไปสูงถึง 269.5 พันล้านเหรียญในปี 2030 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8.5% ต่อปี (ที่มา : Vantagemarketresearch) โดยการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้ส่งผลให้ความต้องการอาหารเสริมที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในแถบอเมริกาเหนือและยุโรป เช่น สหรัฐอเมริกา อิตาลี สเปน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมาจึงเห็นการเติบโตขออุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภูมิภาคเหล่านี้

ซึ่งการประเมินนี้สอดคล้องกับข้อมูลจาก Grandviewresearch ที่มองว่า มูลค่าตลาดอาหารเสริมทั่วโลกจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 9% ในช่วงปี 2023 ถึง 2030 โดยมีปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโต คือ จำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงจาก เภสัชภัณฑ์ไปสู่โภชนเภสัช ซึ่งเทรนด์นี้เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของคนที่มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันโรค และการมุ่งเน้นการบริโภคอาหารที่มีโภชนาการเฉพาะบุคคล นอกจากนี้ผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อหันไปดูแลตนเองโดยตรงมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้เมื่อเจาะข้อมูลเข้าไปดูถึงประเภทของสินค้า จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากวิตามินจะครองตำแหน่งที่โดดเด่นในตลาดในปี 2022 คิดเป็นส่วนแบ่ง 30.19% ทั่วโลก โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์เสริมวิตามินรวมใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้น และหนุนด้วยความสนใจของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับสุขภาพโดยรวม

แต่กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโปรตีนและกรดอะมิโน จะเป็นกลุ่มที่ถูกคาดการณ์ว่ามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงที่สุด ด้วย CAGR สูงถึง 13.4% ซึ่งสูงกว่ามูลค่าตลาดอาหารเสริมในภาพรวมเสียอีก โดยที่ปัจจัยสนับสนุนนการเติบโตของสินค้าประเภทนี้ เกิดขึ้นจาก อาหารเสริมโปรตีน เช่น เวย์ผง และผลิตภัณฑ์กรดอะมิโน เช่น ครีเอทีน ไทโรซีน ซิทรูลีน และโพรลีนจากผู้บริโภค นั่นทำให้ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรายใหญ่ของโลกมีทิศทางการเติบโตที่ค่อนข้างดี หากเจาะตลาดผู้เล่นระดับโลก เราพบการเปลี่ยนแปลงของ 3 ผู้เล่นที่น่าสนใจดังนี้

รายได้ของ 3 ผู้เล่นระดับโลก

บริษัท รายได้ 2021 รายได้ 2022 การเติบโต Movement
Amway Corp. 8,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 8,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ -8.99% เติบโตติดต่อกัน 3 ปี
Abbott laboratories 43,075 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 43,653 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 1.34% เติบโตต่อเนื่องติดต่อกัน 10 ปี
Bayer AG 52,152 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 53,459 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 2.51% เติบโตติดต่อกัน 3 ปี

ที่มา : macrotrends สำรวจและรวบรวมโดย Business+

โดยในปี 2022 ที่ผ่านมา บริษัทขายตรงยักษ์ใหญ่อย่าง Amway Corp. รายงานยอดขาย 8,100 ล้านดอลลาร์ในปี 2022เทียบกับ 8,900 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 ซึ่งลดลงเล็กน้อย 2022 จากปีก่อน โดยแอมเวย์ต้องเผชิญกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า และยังประสบปัญหาจากการขายบริษัทอาหารเสริมในเครือที่ต้องถอนตัวของบริษัทออกจากรัสเซียหลังเหตุการณ์ความไม่สงบ

อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นสำหรับดอลลาร์สหรัฐ จะเห็นว่ายอดขายของแอมเวย์เพิ่มขึ้น 1% ในปี 2565 และเป็นการเติบโตติดต่อกัน 3 ปี

ส่วน Abbott laboratories ซึ่งเป็นบริษัทเครื่องมือแพทย์ชั้นนำจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีธุรกิจเสริมอาหารเป็นหนึ่งในธุรกิจ มีรายได้ในปี 2022 อยู่ที่ 43,653 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงขึ้นจากปี 2021 อยู่ที่ 43,075 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่ง มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งมีรายได้ 19,657 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ด้าน Bayer AG บริษัทสัญชาติเยอรมันที่ดำเนินธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจฟาร์มาซูติคอล คอนซูเมอร์เฮลธ์ และครอปซานย์มีรายได้ในปี 2021 ที่ 52,152 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และรายได้ในปี 2022 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 53,459 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเป็นการเติบโตติดต่อกัน 3 ปี

จะเห็นได้ว่าทิศทางของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไปจนถึงธุรกิจนวัตกรรมทางการแพทย์ระดับโลกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยคือ 3 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤต COVID-19 สอดคล้องกับการประเมินของนักวิเคราะห์จากหลายสถาบัน แต่การแข่งขันในตลาดนี้จะดุเดือดมากยิ่งขึ้น เพราะต่างมีบริษัทเสริมอาหารที่พยายามเข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาดจากเค้กก้อนโตที่จะมีการเติบโตไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ผลิตจึงต้องรีบสร้างความได้เปรียบในเชิงแข่งขันเพื่อเข้ามาตีตลาด

หันมาดูอุตสาหกรรมอาหารเสริมในประเทศไทย เราพบข้อมูล จากการศึกษาของ Nielsen CMV ว่าในปี 2022 คนไทยมีการซื้อผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสุขภาพและความงามถึง 84% ซึ่งกลุ่มวิตามิน อาหารเสริมมีการเติบโตขึ้น 229% หรือเกิน 2 เท่าตัวจากปี 2019 โดยจากผลสำรวจยังพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ประมาณ 60% ต้องการรับประทานอาหารเสริมเพื่อให้ดูอ่อนกว่าวัย ส่วนความต้องการอันดับที่ 2 คือ ต้องการมีผิวที่ดีขึ้น ดังนั้นทาง Nielsen CMV จึงคาดการณ์ว่าในปี 2566 จะยังเป็นปีที่ผู้คนมีแนวโน้มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหารให้มีความสมดุลมากขึ้น โดยมีการรับประทานอาหารเสริมประเภทยา และวิตามินเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ยาสมุนไพรยังได้รับความนิยมสูงเช่นเดียวกัน

ซึ่งเราได้ทำการสำรวจผู้ประกอบการอาหารเสริมในไทย พบว่ามีทิศทางการเติบโตที่ค่อนข้างดีสอดคล้องกับข้อมูลดังกล่าว โดยพบว่า 3 ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารเสริมในไทยส่วนใหญ่มีการเติบโตค่อนข้างดีจากปี 2021

ผู้ผลิต-จำหน่ายอาหารเสริมในไทยที่มีรายได้สูงสุดในตลาดหุ้นไทย

บริษัท รายได้ 2021 รายได้ 2022 เติบโต ธุรกิจ
เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ (MEGA) 14,182 ล้านบาท 15,767 ล้านบาท 11.18% จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและสินค้าอุปโภคบริโภค
เฮลท์ลีด (HL) 1,216 ล้านบาท 1,538 ล้านบาท 26.48% ธุรกิจร้านขายยา จำหน่ายเวชภัณฑ์ อาหารเสริม อุปกรณ์การแพทย์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ (SCM) 1,284 ล้านบาท 1,181 ล้านบาท -8.02% ธุรกิจเครื่อข่ายเพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและสินค้าอุปโภคบริโภค

ที่มา : SET สำรวจและรวบรวมโดย Business+

โดย บริษัท เฮลท์ลีด จำกัด (มหาชน) หรือ HL เป็นบริษัทที่เราได้เห็นการเติบโตที่โดดเด่นที่สุดในกลุ่ม โดยบริษัทแห่งนี้เป็นผู้ประกอบธุรกิจเป็น Holding Companyโดยปัจจุบันลงทุนในธุรกิจร้านขายยา จำหน่ายยา เวชภัณฑ์ เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อุปกรณ์การแพทย์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ และธุรกิจคิดค้น และพัฒนาร่วมกับทีมวิจัยภายนอก รวมทั้งว่าจ้างผู้ผลิต เพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ ภายใต้แบรนด์ ICARE HEALTH และ Healthiness

ทั้งนี้ในปี 2565 เฮลท์ลีด มีรายได้เติบโต 26.48% สู่ระดับ 1,538 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตจากร้านขายยาเดิมเฉลี่ยทั้งปีเติบโต 16.44% จากปี 2564 ประกอบกับยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากร้านขายยาใหม่ที่เปิดในปี 2565

โดยกลุ่มบริษัทเปิดสาขาร้านขายยาเพิ่มทั้งหมด 11 สาขา ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในขณะที่ปิดให้บริการร้านขายยาไป 1 สาขา คือ ร้านขายยาไวตามินคลับ สาขาเซ็นทรัล ลาดพร้าว ทำให้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 กลุ่มบริษัทร้านขายยารวม 36 สาขา

ภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารเสริมในไทย

ทั้งนี้ในภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหารเสริมแล้ว ‘Business+’ มองว่า ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารเสริมจะมีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายปี จากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาค อเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูง จึงมีกลุ่มลูกค้าที่เป็น Silver Age จำนวนมาก โดยในเชิงการตลาดแล้ว Silver Generation เป็นกลุ่มคนที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็น Generation ที่ส่วนใหญ่จะมีรายได้ดี โดยพบข้อมูลว่า กว่า 20-30% ของกลุ่มคน Generation นี้จะมีการศึกษาดี มีรายได้และกำลังการซื้อสูง ซึ่งแน่นอนว่า ความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากคนกลุ่มนี้จะสูงกว่าคนกลุ่มอื่น จึงทำให้เป็นลูกค้าที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการเติบโตอุตสาหกรรมอาหารเสริม โดยเฉพาะประชากรสูงอายุที่จะมีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันจำนวนมาก

ซึ่งการจะเจาะกลุ่มลูกค้าประเภทนี้ เรามองต้องอาศัยการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับการแพทย์ขั้นสูง และต้องไม่หยุดอยู่ที่การเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะความท้าทายของตลาดอาหารเสริมจริงๆ แล้วคือ การวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เทียบเคียงนวัตกรรมทางการแพทย์ได้ โดยที่การทำ R&D ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และยังต้องควบคุมคุณภาพให้อยู่ในเกณฑ์ที่กฎระเบียบด้านสุขภาพคุ้มครอง

นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ และการพัฒนาช่องทางการจำหน่าย โดย พบข้อมูลที่น่าสนใจจากข้อมูลเชิงลึกของช่องทางการจัดจำหน่ายว่า ช่องทางการจัดจำหน่ายออฟไลน์ครองตลาดด้วยส่วนแบ่งรายได้ 81.34% ในปี 2565 ซึ่งช่องทางเหล่านี้ประกอบด้วย ซูเปอร์มาร์เก็ต/ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งถือว่ายังมีส่วนสำคัญต่อการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในยุโรปและอเมริกาเหนือ

ส่วนช่องทางการจัดจำหน่ายออนไลน์คาดว่ามีการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) สูงสุดที่ 9.7% ซึ่งเกิดจากการระบาด COVID-19 ได้เร่งการเติบโตของ E-commerce ส่งผลให้ยอดขายออนไลน์ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพิ่มขึ้น และโลกยุคใหม่ที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากขึ้น ก็ทำให้การเข้าแบรนด์ต่างๆ ได้ง่าย นอกจากนี้วิถีชีวิตที่เร่งรีบของคนทั่วไป มีสินค้าพร้อมจำหน่ายทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ความสะดวกสบายในการซื้อของที่บ้าน และความพร้อมของสินค้าที่หลากหลายเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผ่านช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ทั่วโลก (ที่มา : Grandviewresearch)

ที่มา : Grandviewresearch , Vantagemarketresearch , macrotrends ,SET
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS