Super food ว่าที่อาหารหลัก!! ด้านไทยเติบโตได้อีก สินค้าแข่งขันตลาดโลกได้ ออสเตรเลีย มาแรง หลายสินค้าความต้องการสูง

ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันหลายคนให้ความสนใจในเรื่องอาหารการกินมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่าง ‘Super Food’ ซึ่งมีการคาดการณ์จาก Mintel (บริษัทวิจัยการตลาด) ว่า ภายใน 12 เดือนข้างหน้า อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ จะเป็นอาหารหลักในการเลือกซื้อของผู้บริโภคทั่วโลก
.
โดยปี 2021 นี้ Super Food ทั่วโลก อาจมีมูลค่าสูง 1.6 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.59% (YoY) และปี 2025 อาจมีมูลค่าแตะถึง 2.04 แสนดอลล่าร์สหรัฐ ตามการคาดการณ์ของ statista

.

.
ด้านออสเตรเลียเอง ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีแนวโน้มการบริโภค Super Food เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสินค้าที่กำลังเป็นเทรนด์ในตอนนี้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น
.
นมอูฐ (Camel milk)
บ้านเราอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าไหร่นัก แต่หลายประเทศบริโภคกันมาหลายศตวรรษแล้ว ซึ่งไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการพัฒนาและปรับสูตร เพื่อให้เป็นนมสำหรับเด็กทารกที่แพ้นมวัว และถึงแม้จะให้ประโยชน์ด้านโภชนาการไม่เท่ากับนมแม่ แต่ก็มีธาตุเหล็กมากกว่าถึง 10 เท่า และให้วิตามินซีมากกว่านมวัวถึง 3 เท่า
.
เนยกี (Ghee)
เป็นความดีงามของคนแพ้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากนมวัว เพราะเนยกีปราศจากแลคโตส ทั้งยังอุดมไปด้วยกรดไขมัน Omega-3 และไขมันอิ่มตัวที่จำเป็นต่อร่างกาย รวมถึงวิตามินเอที่ช่วยรักษาความสมดุลย์ของฮอร์โมน ดูแลตับ และเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย
.
หล่อฮังก้วย (Monk fruit)
ไม่น่าเชื่อว่าผลไม้ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี จะเป็นเทรนด์ Super Food ของชาวออสเตรเลียในขณะนี้ เนื่องด้วยความต้องการใช้สารให้ความความหวานแทนน้ำตาลที่มากขึ้น
ทำให้หล่อฮั่งก้วยเป็นหนึ่งตัวเลือกสำคัญ เพราะทั้งให้แคลลอรี่ต่ำ แถมยังมีสรรพคุณบรรเทาอาการอักเสบของร่างกาย รวมถึงช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่
.
เมล็ดกัญชง (Hemp Seed)
ไม่ได้เป็นสารเสพติดแต่อย่างใด แต่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ให้โปรตีนมากกว่า 10 กรัม ในปริมาณเพียง 3 ช้อนโต๊ะ ส่วนใหญ่นิยมนำไปสกัดเย็นให้ได้น้ำมัน ซึ่งนำไปประกอบอาหารต่าง ๆ ได้อีกมากมาย ทั้งเนย ชีส เต้าหู้ โปรตีนเกษตร นม ไอศกรีม น้ำมันสลัด ฯลฯ ที่สำคัญช่วยลดอาการอักเสบและเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจอีกด้วย
.
แป้งจิ้งหรีด (Crickets)
อาจจะดูน่ากลัวสำหรับบางคนที่นึกภาพว่าต้องกินแมลงทั้งตัว แต่ปัจจุบันมีการปรับมาอยู่ในรูปแบบผง หรือคุกกี้ เพื่อนำไปประกอบอาหารได้และทานง่ายขึ้น เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าประโยชน์ของจิ้งหรีดนั้นให้สารอาหารมากมายและมีโปรตีนสูง ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐฯ ในการส่งออกแป้งจิ้งหรีดไปยังต่างประเทศ และมีตลาดใหญ่อย่าง สหรัฐฯ เม็กซิโก สวิตเซอร์แลนด์ กลุ่มอียู ฯลฯ ด้วยมูลค่าส่งออกกว่า 29 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (หรือ 1,000 ล้านบาทต่อปี)
.
หรือ ข้าวไรซ์เบอรี่ ที่นอกจากจะมีวิตามิน แร่ธาตุต่าง ๆ และลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งแล้ว
หลายปีที่ผ่านการส่งออกไปยังหลายประเทศทั่วโลกก็ขยายตัวเพิ่มขึ้น
.
ปี 2018 ประเทศไทยส่งออกข้าวไปแคนาดา มูลค่ากว่า 87.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.9 พันล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 24.38% (YoY) ซึ่งในส่วนของข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีมูลค่ากว่า 1.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.5 พันล้านบาท) เพิ่มขึ้น 39.83% (YoY)
.
และถึงแม้ว่าต้นปี 2021 ที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกข้าวไทยละลดลง 30.9% (YoY) ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้กำลังการผลิตลดลงลงกว่า 10-15% และความต้องการของตลาดโลกที่มีต่อไทยลดลง ทั้งนี้ทาง สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย มองว่าครึ่งปีหลังส่งออกข้าวไทยมีแนวโน้มเติบโตในทางที่ดีขึ้น ด้วยสภาพอากาศที่เป็นใจ ราคาข้าวแนวโน้มอ่อนค่าลง และปัจจัยเงินบาทอ่อนค่ามาหนุน ส่งผลให้ไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
.
ซึ่งเดือนมิถุนายน 2021 ที่ผ่านมา ข้าวไรซ์เบอรี่ ภายใต้แบรนด์ Naga Gold (บริษัทสัญชาติฝรั่งเศสผู้นำข้าวไรซ์เบอรี่พรีเมี่ยมจากไทย) ก็ได้รับรางวัลเหรียญทองหมวด Fine Grocery ในงานประกวดสินค้า Epicures 2021 ประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย
.
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน Super Food ในไทยมีสัดส่วนเพียง 6-7% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด หรือราว 29,000-30,000 ล้านบาท ซึ่งอันที่จริง ประเทศไทยยังมีสินค้า Super Food ที่ปลูกได้ภายในประเทศ และเป็นที่ต้องการของโลกอีกมากทั้ง อะโวคาโด ถั่วลูกไก่ ต้นอ่อนข้าวสาลี (Wheat grass) เมล็ดแฟลกซ์ (Flax seed) กระเทียมดำ ฯลฯ

.

.
ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าคุณภาพ และความหลากหลายของสินค้าไทยสามารถแข่งขันตลาดโลกได้ แม้จะส่งออกในสัดส่วนที่ไม่มากก็ตาม แต่ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และมีแนวโน้มการบริโภค Super Food มากขึ้น ประเทศไทยเราเองก็มีอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่เป็นทุนเดิม บวกกับปัจจัยต้นทุนต่ำ ภาษี แรงงานถูก จึงควรรีบคว้าโอกาสนำอาหารสุขภาพมาต่อยอด และตอบสนองต่อความต้องการของโลกให้ได้มากที่สุด
.

.

.
เขียนและเรียบเรียง : ธนัญญา มุ่งสันติ
.
ข้อมูล : ditp / statista / thairiceexporters
.
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC
.
#Businessplus #นิตยสารBusinessPlus #ส่งออกไทย #ส่งออกออส