แม้แต่ ดร. นิเวศน์ ยังอดใจไม่ไหว!! เปิดอาณาจักร ควอลิตี้เฮ้าส์

วันเวลาผ่านไปเร็วเสมอเผลอแป๊บเดียวก็เข้าสู่ครึ่งหลังของปี 2021 เป็นที่เรียบร้อย และช่วงเวลาแบบนี้ก็จะเป็นช่วงเวลาที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์เริ่มทยอยประกาศผลการดำเนินงานของไตรมาส 2 และครึ่งปีแรกออกมา วันนี้แอดมินพามาดูบริษัทที่น่าสนใจบริษัทหนึ่ง ซึ่งแม้ตอนนี้อุตสาหกรรมที่เขาเข้าไปเกี่ยวข้องจะเจ็บหนักจากโรคระบาดและมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐมาตลอดปีครึ่งที่ผ่านมา แต่โดยส่วนตัวมองว่ามีความแข็งแกร่งในระยะยาว และหลังจากการระบาดจบลงพวกเขาจะกลับมาได้อย่างแน่นอน

บริษัทที่จะพูดถึงในวันนี้ก็คือ บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ QH หนึ่งในผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของไทยเรา ส่วนบริษัทนี้มีดีอะไรเรามาดูกัน ที่จริงแอดมินไม่ค่อยอยากจะเรียกเขาว่าบริษัทอสังหาริมทรัพย์สักเท่าไร เพราะพวกเขาไปไกลกว่านั้นมาก แต่ครั้นจะหาคำจำกัดความเพราะ ๆ มาเรียกพวกเขาก็ดันนึกไม่ออก ขอเรียกแบบนี้ละกัน Real Estate Service Provider

หลายคนสงสัยทำไมถึงเรียกแบบนี้ เดี๋ยวตอนจบจะเห็นเองตามมา (ฮ่า ๆ หลอกล่อจริง ๆ แอดมินคนนี้) ควอลิตี้เฮ้าส์ ทำธุรกิจค่อนข้างหลากหลายผ่าน 2 ขาใหญ่ ๆ คือทำในนามบริษัทเอง และผ่านการเข้าไปถือหุ้นบริษัทอื่น

ในมุมที่บริษัทดำเนินการเองมีด้วยกัน 4 ธุรกิจ 1.ธุรกิจขายบ้านพร้อมที่ดิน ทำรายได้ในปี 2020 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 7,674 ล้านบาท 2.ธุรกิจขายหน่วยในอาคารชุดพักอาศัย 829 ล้านบาท 3.ธุรกิจโรงแรม 330 ล้านบาท 4.ธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่า 305 ล้านบาท แน่นอนว่าทุกธุรกิจรายได้ลดลงหมดในปี 2020 ที่ผ่านมาจากการสถานการณ์การระบาดของโรค และนั้นก็ทำให้รายได้รวมในปี 2020 ลดลงด้วยเช่นกันมาอยู่ที่ 10,907 ล้านบาท ลดลงจากปี 2019 ที่ 12,876 ล้านบาท และถือเป็นการลดลง 2 ปีติดต่อกันของบริษัท ส่วนนี้แม้รายได้จะลดลงแต่มันก็ลดทั้งอุตสาหกรรมเพราะโรคระบาด ไม่ได้มาจากการดำเนินงานที่ผิดพลาดแต่อย่างใด

ในส่วนของขาที่ 2 ที่ทางบริษัทเข้าไปถือหุ้นหรือร่วมทุนกับบริษัทอื่นปี 2020 ที่ผ่านมาทำรายได้อยู่ที่ 1,530 ล้านบาท ตัวเลขรวมอยู่ที่ 1,769 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2019 เรียกว่าลดลงทุกทางก็ว่าได้ แต่ในส่วนที่นี้มีรายได้มาจากไหนอย่างไรบ้างเรามาดูกัน

โครงสร้างส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม

1.ธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่า : อาคารคิวเฮ้าส์ ลุมพิน, อาคารคิวเฮ้าส์ เพลินจิต และอาคารเวฟ เพลส ; ส่วนนี้ดำเนินการโดยกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ควอลิตี้ เฮ้าส ; ถือหุ้นอยู่ 25.66% รายได้ปี 2020 อยู่ที่ 167 ล้านบาท

2.ธุรกิจโรงแรม : โรงแรมเซนเตอร์ พอยต์ ประตูน้ำ, โรงแรมเซนเตอร์ พอยต์ สุขุมวิท 10 และโรงแรมเซนเตอร์ พอยต์ ชิดลม ; ส่วนนี้ดำเนินการโดยกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าควอลิตี้ เฮ้าส์ โฮเทลแอนด์ เรซิเดนซ์ ; ถือหุ้นอยู่ 31.33% รายได้ปี 2020 อยู่ที่ 32 ล้านบาท

3.ธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง : ส่วนนี้ดำเนินการโดย บมจ.โฮม โปรดักส์เซ็นเตอร์ ; ถือหุ้นอยู่ 19.87% รายได้ปี 2020 อยู่ที่ 1,020 ล้านบาท

4.ธุรกิจการลงทุน : บมจ. แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป ; ถือหุ้นอยู่ 13.74% รายได้ปี 2020 อยู่ที่ 311 ล้านบาท

รายได้ในส่วนนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่านี่คือเครื่องจักรผลิตเงินสดให้กับบริษัทเลยก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่า หรือ ธุรกิจโรงแรมต่างมักทำสัญญาระยะยาว ที่สำคัญคือบริษัทไม่ถือความเสี่ยงไว้เอง เพราะถือผ่านกองทุนอย่าง กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) ซึ่งสามารถถอนตัวได้ทุกเมื่อ

ขณะที่ธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง อย่าง บมจ.โฮม โปรดักส์เซ็นเตอร์ ต้องบอกว่ามีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา บวกเทรนด์ใหม่ ๆ ค่อนข้างสอดรับไปกับธุรกิจนี้ นั้นทำให้บริษัทจะได้ประโยชน์ในระยะยาว สุดท้ายธุรกิจการลงทุน บมจ. แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป ตรงนี้คือจิ๊กซอว์สำคัญเพราะมันทำให้ระบบนิเวศน์ของบริษัทสมบูรณ์ เรียกว่าเงินไม่รั่วไหลไปไหน

สรุปไตรมาส 2 ปี 2021

ควอลิตี้เฮ้าส์ มีกำไรสุทธิปรับตัวขึ้น 12% ในไตรมาส 2 ปีนี้เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปีก่อน มาอยู่ที่ 482 ล้านบาท โดยมียอด Presale (ยอดจอง) เพิ่มขึ้น 22% ตัวเลขอยู่ที่ 2,152 ล้านบาท ด้านยอดโอนเพิ่มขึ้น 5% มาอยู่ที่ 1,963 ล้านบาท อีกหนึ่งจุดแข็งของบริษัทนี้คือกระแสเงินสด โดยพวกเขามี เงิดสดสุทธิ ณ จบไตรมาส 2 อยู่ที่ 442 ล้านบาท มีอัตราการหมุนเวียนของกระแสเงินสดต่อวันอยู่ที่ 1,289.12 บาท อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นอยู่ในระดับที่ถือว่าดีเลยคือ 7.87% อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) 0.74 มีทุนมากกว่านี้ (ภาษาบบ้านเข้าใจง่าย ๆ คือ มีหนี้น้อยนั้นเอง) ซึ่งค่าเฉลี่ย D/E Ratio ของกลุ่มนี้อยู่ที่ 1.19 นั้นหมายความว่า ควอลิตี้เฮ้าส์ ถือว่าดีกว่าเกณฑ์นั้นเอง

ปัจจุบัน ควอลิตี้เฮ้าส์ มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่ บ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม และคอนโดมิเนียม ส่วนแบรนด์ภายใต้เครือก็มีหลากหลายอย่าง

บ้านเดี่ยว กลุ่มลักชัวรี่ : ก็มีตั้งแต่ พฤกษ์ภิรมย์ ราคาตั้งแต่ 29-150 ล้านบาท, Q.House Avenue ราคา 25-200 ล้านบาท

บ้านเดี่ยว กลุ่มไฮเอนด์ : คาซ่า เลเจ้นด์ 16-19 ล้านบาท, ลัดดารมย์ อิลิแกนซ์ 12-60 ล้านบาท

บ้านเดี่ยว กลุ่มกลาง : วรารมย์ 6-10 ล้านบาท, คาซ่า วิลล์ 5-7 ล้านบาท

ซึ่งที่จริงแบรนด์ในเครือของ ควอลิตี้เฮ้าส์ มีเยอะมากและหลากหลายกลุ่มกว่าที่ยกตัวอย่างมา และยังไม่รวมแบรนด์ในกลุ่มทาวน์โฮม และคอนโดมิเนียม คิดดูสิว่าครอบคลุมขนาดไหน และต้องไม่ลืมว่าภายใต้การมาของธุรกิจ Smart Home ในอนาคตพวกเขาจะสามารถก้าวเข้าสู่การขายบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ได้อีกด้วย เพราะโลกจากนี้แค่ขายบ้านอย่างเดียวมันไม่พอแล้ว

นั้นคือเหตุผลว่าทำไมผมถึงเรียกเขาว่า Real Estate Service Provider

เพิ่มเติมอีกสักนิด : หนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของ QH มีนักลงทุน VI ระดับตำนานด้วย นั้นก็คือ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นั้นเอง

เขียนและเรียบเรียง : เอกพล มงคลพัฒนกุล

ที่มา : QH, SET

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC

#Businessplus #QH #RealEstate #ควอลิตี้เฮ้าส์ #อสังหาริมทรัพย์ #บ้าน