กำจัด Covid-19 ที่ต้นเหตุ ด้วยการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ

หลังจากโคโรนาไวรัส (Covid-19) ระบาดหนัก ทางการรณรงค์ให้ประชาชน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศปฏัติตาม แต่ก็เต็มไปด้วยคำถามว่า นี่คือทางแก้ที่ต้นเหตุอย่างแท้จริงหรือไม่? ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล พร้อมที่จะเผยถึงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับ โคโรนาไวรัส (Covid-19) เพื่อชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องของโคโรนาไวรัส (Covid-19)

“เมื่อวันที่ 23 มีนาคม เรานำเสนอกราฟข้อมูลที่มีในเวลานั้น จากจำนวนคนไข้วันที่ 15 มีนาคม มีอยู่ 114 ราย ขึ้นไปทะลุหลัก 200 ราย ณ ตรงนั้นมาตั้งสมมุติฐาน แล้วไปรวมกลุ่มประเทศอื่น ๆ มีเส้นออกมา 2 เส้น คือ เส้นที่บอกว่าถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เส้นนี้มีแนวโน้มว่า 30 วันให้หลัง คือประมาณวันที่ 15 เม.ย. เราอาจจะเจอเหตุการณ์คนไทย 350,000 กว่าคน ติด Covid-19 แต่ถ้าเราทำอะไรบ้าง มีการตั้งเป้าหมายเกิดขึ้น เราก็ตั้งเป้าหมายว่า ถ้าเรามีจำนวนคนเพิ่มขึ้นประมาณคร่าว ๆ 40 รายต่อวัน และนำไปเทียบกับอุปกรณ์ทรัพยากรต่าง ๆในการดูแลสุขภาพของประเทศไทย เราคิดว่าถ้าเป็นอย่างนี้ เรามีเวลาที่จะขยับ และเป็นไปได้เราอยากดึงเส้นของประเทศไทยลงมาให้อยู่มากไปกว่าประเทศที่คุมได้ คือเราไม่สามารถลงไปในประเทศที่คุมได้ชัดเจน เราช้าเกินไป แต่อย่างน้อยถ้ายังรักษาให้อยู่ในระดับเหนือเส้นประเทศที่คุมได้ ระบบสุขภาพของเรายังน่าจะรับไหว

แต่ ณ วันนี้เส้นของเราอยู่ตรงกลาง ถ้าเรานึกภาพ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา (27-2 เมษายน 2563) เรามีคนไข้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 100 กว่ารายตลอด ประมาณ 3 เท่าของตัวเลขที่เราตั้งเป้าไว้ประมาณ 40 ราย ถามว่าตอนนี้พอใจไหม คำตอบคือยัง ดีขึ้นไหม คำตอบคือดีขึ้น ใน 1 สัปดาห์กว่า ๆ ที่ผ่านมา มีหลายอย่างเกิดขึ้น มีการออกประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน บางจังหวัดตัดสินใจปิดจังหวัด แต่อย่างไรก็ดี ไม่นานเกินกว่านี้ ทรัพยากรของเราอาจจะไม่พอที่จะดูคนไข้ที่เพิ่มขึ้น ผมยังคาดการณ์ว่าจากนี้ผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ มีมากกว่าร้อยไปเรื่อย ๆ แล้วเราก็จะเริ่มเห็นจำนวนคนเสียชีวิตทุกวัน ๆ เพราะเรามีคนไข้หนักเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ ทรัพยากรที่เริ่มปริ่ม ๆ ก็จะเริ่มกลายเป็นขาด”

จากสถานการณ์ปัจจุบันและการคาดการณ์ของ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ทำให้ทราบถึงการแพร่เชื้อที่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่ง ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า

ประเทศไทยและการแพร่กระจายของไวรัส

“ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า Covid-19 แพร่กระจายแบบ Droplet Infection ไม่ได้ลอยอยู่ในอากาศ แต่เชื้อไวรัสจะไปจับกับละอองอากาศ เช่น น้ำลาย สารคัดหลั่งต่าง ๆ การติดต่อจากคนสู่คนเกิดจากการสัมผัส เช่น ละอองเข้าทางระบบทางเดินหายใจ หรือมือสัมผัสพื้นที่มีเสมหะคนไข้ที่มีเชื้อ แล้วเผลอเอามาแตะหน้า หรือระหว่างที่ออกไปซื้อของนอกบ้าน หากเราต้องคุยกับผู้คน ละอองจากน้ำลายประมาณ 3 พันละอองก็จะกระจายออกไปในรัศมี 1 เมตร ถ้าท่านไม่ได้ใส่หน้ากาก แล้วคนที่ท่านคุยติดเชื้อ ท่านก็มีโอกาสที่จะรับเชื้อ

ระหว่างที่อยู่นอกบ้าน เราไม่รู้ว่าเจอใครที่มีเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นคนที่คุยด้วย หรือได้จากสิ่งที่ติดเขามา เช่น ติดมากับถุงอาหาร หรือใครสักคนที่เดินขึ้นบันไดก่อนหน้าเรา ไอ จาม แล้วก็เอามือป้าย เอามาจับราวบันได แล้วเราก็ไปจับมา ซึ่งในส่วนนี้เราไม่มีทางเห็นแน่นอน และด้วยความที่โคโรนาไวรัส (Covid-19) ติดต่อกันง่าย จึงทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว”

เป็นธรรมดาที่เมื่อการแพร่ระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว หลายคนเริ่มหวั่นวิตก และตั้งคำถามกับตัวเองในหลาย ๆ ครั้งว่า ‘เราติดหรือยัง’ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ไขข้อสงสัยไว้ว่า

ประชากร 5 กลุ่ม ในวิกฤตโคโรนาไวรัส (Covid-19)

กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มที่มีการพิสูจน์แล้วว่าเป็น มีการตรวจรหัสพันธุกรรมของไวรัส โดยเทคนิคที่เราเรียกว่า RT-PCR

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่สงสัยว่าน่าจะเป็น เช่นมีอาการระบบทางเดินหายใจ ไปสัมผัสพื้นที่เสี่ยงมา แต่ผลแล็บตรวจไม่เจอเชื้อ

สำหรับกลุ่มนี้ ผลเป็นได้ทั้งบวกและลบ

กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่สัมผัสกับคนที่เป็น แต่ตัวเองไม่มีอาการอะไร สำหรับคนกลุ่มนี้ ด้วยหลักการยังไม่ต้องตรวจ เราจะ

แนะนำให้กักตัวเองไว้ จนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของเชื้อ ถ้าไม่มีอาการ ก็ Presume ได้เลย ว่าไม่มี

กลุ่มที่ 4 คือ คนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ได้ไปในพื้นที่เสี่ยง ไม่มีอาการ เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศในเวลานี้ ยังใช้ชีวิต

ปกติเดินไปเดินมา อาจจะเป็นหรือไม่เป็นก็ได้ เพราะโคโรนาไวรัส (Covid-19) เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ก็จะตรงเข้าไปที่

ระบบทางเดินหายใจ แล้วระหว่างที่เชื้อทำลายปอดไปเรื่อยๆ ช่วงต้นเราจะไม่มีอาการใด ๆ  คนที่ไม่มีอาการ ไม่

มีไข้ ยังใช้ชีวิตปกติ แล้วบอกว่าไม่ได้เป็น Covid ผมยืนยันว่าไม่ใช่ ฉะนั้นกลุ่มที่ 4 อาจะมีทั้งบวก แล้วก็ไม่ได้

บวก เพราะเราไม่ได้ตรวจ ถามว่าทำไมไม่ตรวจ เพราะเราไม่สามารถตรวจได้ทั้งหมด เพราะน้ำยาไม่เพียงพอ

กลุ่มที่ 5 คือ กลุ่มที่เป็นแล้วรอด ร่างกายจะเกิดภูมิต้านทานขึ้น เรากำลังรอว่า คนกลุ่มนี้ในอนาคตอาจจะกลายเป็นทัพใหญ่อีกทัพหนึ่ง ปัจจุบันทัพหน้าก็คือ

บุคคลากรด้านสุขภาพที่เจอคนไข้ เราป้องกันเต็มที่ไม่ให้ติดเชื้อ แต่ถ้าเกิดโชคร้ายติดเชื้อ บุคคลากรเหล่านี้ต้องออกไปจากการดูแล แล้วคนไม่พอ

หรืออุปกรณ์ป้องกันไม่พอ แน่นอนว่าคนที่ยังไม่เป็นโรค เสี่ยงเป็นแน่นอน แต่กลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันก็อาจจะกลายเป็นกองหลัง ที่อาจต้องยกระดับมา

เป็นกองหน้า อันนี้คืออนาคต

การแก้ไขปัญหาในวิกฤตครั้งนี้ จุดเริ่มต้นที่แตะละประเทศทำเหมือนกันก็คือ การหาทรัพยากรมารองรับให้เพียงพอ แต่เพราะมัวแต่จดจ่อตรงจุดนี้ ทำให้หลายประเทศพลาด กลายเป็นคุมไม่อยู่ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์มีความเห็นว่า ทางออกไม่ใช่การเพิ่มอุปกรณ์คุรุภัณฑ์ทางการเพทย์หรือเพิ่มจำนวนเตียง เพราะอย่างไรก็ไม่พอ แต่ทางออกที่ดีที่สุด นั่นก็คือ การพยายามลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้ได้ ซึ่งการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ย้ำว่า ประชาชนจะต้องอยู่บ้าน โดยให้เหตุผลว่า

“ทางออกที่ดีที่สุด นั่นก็คือ การพยายามลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้ได้”

เหตุผลสำคัญที่ต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ

“ถ้าเราอยู่บ้าน จะลดการกระจายของเชื้อ และไม่มีโอกาสที่เราจะติดเชื้อแน่นอน แต่ในทางปฏิบัติ โอกาสที่เราจะอยู่บ้านเฉย ๆ เราจะกินอะไร ก็จำเป็นที่จะต้องออกจากบ้านไปหาสิ่งเหล่านี้ เราออกไปได้ แต่ให้ใช้เวลานอกบ้านให้สั้นที่สุด และต้องทำ Social Distancing ก่อนออกจากบ้านล้างมือให้เรียบร้อย เพราะเราก็ไม่รู้ตัวว่าเราบวกไหม ระหว่างที่ไปอยู่ตรงนั้น ไม่จำเป็นต้องไปสุงสิงกับใคร ถ้าต้องสุงสิง ต้องพูดคุยกัน 2 เมตร เสร็จธุระให้กลับทันที เมื่อกลับมาถึงบ้านสิ่งแรที่ต้องทำเลยคือ ล้างมือ เพราะเราไม่รู้ว่ามีอะไรติดมาหรือเปล่า ถ้าทุกคนทำแบบนี้ ก็จะเซฟตัวเองได้ ผมย้ำว่า โรคติดต่อจะไม่ติดต่อ ถ้าเราไม่ติดต่อกันอย่างใกล้ชิด”

“กลับกันถ้าเราติดเชื้อ บ้านเราก็ติดเชื้อ เพราะตอนนี้อาจจะมีบ้านบางหลังที่คนในบ้านติดเชื้อหมดแล้ว แต่มีภูมิคุ้มกันแล้วก็มี เมื่อคนเหล่านี้ออกจากบ้าน เขามีเชื้อ แต่ตัวเขาไม่มีอาการ คนที่คุยกับเขา เป็นคนที่ไม่มีเชื้อ 10 ราย แล้ว 10 รายนั้น โชคร้าย ได้เชื้อไป 5 ราย และ 5 รายนี้กลับบ้าน ไปแพร่อีกเป็น 5 ครอบครัว จาก 1 คน กลายเป็น 5 ครอบครัวแล้ว ทุกอย่างจะไปเร็วมาก ถึงบอกว่าการอยู่บ้านเป็นสิ่งจำเป็น ต้องสื่อสารตรงนี้ให้สังคมไทยเข้าใจ”

“โรคติดต่อจะไม่ติดต่อ ถ้าเราไม่ติดต่อกันอย่างใกล้ชิด”

 ในกรณีที่คนรอบตัวของผู้อ่านมีคนที่ติดเชื้อแล้ว ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา เน้นถึงความสำคัญในส่วนนี้มาก ๆ ว่า

คนที่กล้าเปิดเผยคือคนกล้าหาญ อย่าซ้ำเติม ถ้าไม่อยากให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง

“คนที่ติดเชื้อแล้วเขาเป็นคนโชคร้าย ไม่ว่าจะไปติดเชื้อจากเหตุใดก็แล้วแต่ ไม่มีใครอยากได้เชื้อ อย่าไปซ้ำเติมว่าเขาเป็นคนที่น่ารังเกียจของสังคม เพราะถ้าเมื่อไหร่สังคมซ้ำเดิมเขาแบบนี้ คนเหล่านี้จะไม่กล้าเปิดเผยตัวเอง แล้วจะเกิดผลกระทบถึงกันทั้งหมด ถึงตอนนี้เรามีคนจำนวนหนึ่งที่มาโรงพยาบาลศิริราช ถามถึงความเสี่ยงก็ปฏิเสธว่าไม่ได้ไปพื้นที่เสี่ยง ยืนยันแล้วก็เข้าสู่กระบวนการดูแลรักษา โดยที่เราก็ดูแลแบบคนที่ไม่ได้รับเชื้อ Covid-19 สุดท้ายพอถึงระยะหนึ่งก็สารภาพ แต่เรามีคน 30 คนที่ร่วมอยู่ในกระบวนการดูแล ตั้งแต่เขาเดินมาโรงพยาบาล ทำเวชระเบียน สัมภาษณ์เขา มาตรวจฟังปอดเขา เพราะเขาไม่ได้บอก แล้วสาธารณสุข ต้องออกจากงานไป 14 วัน เราเสียกองทัพที่ช่วยดูแลคนไข้ไปแล้ว 30 คนนี้ และถ้ามีผลบวก 1 คน จะเกิดอะไรขึ้น

“ฉะนั้นขอความกรุณา คนที่เป็น แล้วมาบอกกับเราว่าเป็น สำหรับผม นี่คือผู้กล้าหาญที่น่าชื่นชม ไม่ใช่คนที่น่ารังเกียจ เราต้องปรับแนวคิดของเรา เพื่อให้คนเหล่านี้สามารถกล้าพูด เพราะถ้าเขากล้า จะสกัดได้เลย โอกาสที่จะแพร่กระจายจะหายไปเยอะ เราจะมีคนไข้ใหม่น้อยลงทันที เขาเป็นคนไข้แล้ว แต่เขาจะไม่ทำให้เกิดคนไข้ใหม่ แต่ถ้าเรามัวแต่รังเกียจเขา แสดงท่าทางออกเต็มที่ คนเหล่านี้ไม่กล้าพูด พอไม่กล้าพูด เราจะมีคนอีกจำนวนมากที่เสี่ยง”

“คนที่เป็น แล้วมาบอกกับเราว่าเป็น

สำหรับผม นี่คือผู้กล้าหาญที่น่าชื่นชม ไม่ใช่คนที่น่ารังเกียจ”

การหาหนทางเอาชนะวิกฤตหนักครั้งนี้ เพราะทุกฝ่ายหวังจะกลับไปใช้ชีวิตในรูปแบบปกติให้เร็วที่สุด ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา เปิดเผยว่า

สังคมจะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ อาจต้องใช้เวลา 9-12 เดือน

“สำหรับเรื่องของระยะเวลา มีการใช้สมมุติฐานตั้งบนประสบการณ์จากประเทศต่าง ๆ แล้วก็มาตรการในส่วนที่เกิดขึ้น ผมเชื่อว่าไม่น้อยกว่า 9 เดือนแน่นอน เรามีโอกาสหารือกับผู้ใหญ่ โดยผู้ใหญ่คาดการณ์ไว้ที่ 12เดือน ซึ่งตัวเลข 12 เดือน หรือ 9 เดือน หมายความว่า เรา recover เรามีภูมิต้านทานแล้ว ไวรัสหาที่อยู่ไม่ได้แล้ว แต่กว่าสังคมไทยจะกลับมา reset เศรษฐกิจกว่าจะกลับมา ผมคิดว่าใช้เวลาอีกกว่าครึ่งค่อนปี สังคมจึงจะเข้ามาสู่ Norms เดิม ของที่ผ่านมา

“ฉะนั้นเราต้องทำใจ เราจะได้ปรับตัว ถ้ามัวแต่ไม่ยอมรับความจริง ไม่มีสติกับความเป็นจริง เราก็รับไม่ทัน แต่ถ้าเราตั้งยอมรับ เราจะได้รู้ว่า เราจะไป 1-2-3-4-5 ไปทางไหน ไปแบบนี้ดีกว่า”

แม้โคโรนาไวรัส (Covid-19) จะเป็นวิกฤตหนักที่คนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยต้องรับศึกหนัก สร้างความเดือดร้อนให้กับคนทุกหย่อมหญ้า แต่เหรียญมีสองด้านเสมอ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา เอ่ยถึงเรื่องนี้ว่า

ท่ามกลาง Covid-19 ยังมีมุมบวก

“ถ้าถามผมมองในด้านบวก ผมได้เห็นคนไทยจำนวนมากที่เป็นนักวิชาการ เป็นนักวิจัยที่กำลังเร่งผลิตอุปกรณ์ ที่ Modify ไปจากสิ่งที่เราไม่เคยคิด แล้วเราสามารถใช้แล้วก็อาจจะเกิดประโยชน์จริงๆ บางสิ่งเราไม่เคยคิดมาก่อน ว่ามันจะทำได้ แต่เพราะภาวะที่กดดันให้เราทำ ทำให้เราได้ใช้ศักยภาพของเรา และสุดท้ายสิ่งที่เราทำ อาจจะได้ผลดี กลายเป็น Norms ไปเลยก็ได้

“อีกแง่หนึ่งคือ เราเข้าใจความหมายของการทำตัวเพื่อคนอื่นมากขึ้น แทนที่จะมองเพื่อตัวเองอย่างเดียว เข้าใจความหมายของคำว่ารักชาติมากขึ้น ไม่ใช่รักตัวเอง รักครอบครัวอย่างเดียว เมื่อชาติไม่อยู่ ครอบครัวเราก็ไม่อยู่ ตัวเราก็ไม่อยู่ และผมเชื่อว่า เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่หน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่หน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด หมอ พยาบาล บุคลากรด้านสุขภาพเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน มาร่วมกันทำ ผมเชื่อว่าศึกหนักเราก็สู้ได้”