ศบค. นำ Social Distancing สู้ Covid-19

Business+ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษจากท่านในฐานะที่ปรึกษา ศบค. เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจคำกล่าวที่ว่า ประชาชน คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราชนะสงครามกับ Covid-19’ เป็นบทสรุปที่ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร ที่ปรึกษาในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เล่าถึงยุทธศาสตร์สำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยกำชัยชนะเหนือการโจมตีของไวรัสร้ายที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง นับตั้งแต่การแพร่ระบาดจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนมาสู่ประเทศไทยเมื่อเกือบ 4 เดือนที่ผ่านมา

ซึ่งแม้ประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อจำนวนไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่ไทยเราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทางรัฐบาลได้เตรียมการอย่างเข้มงวดในการลดการแพร่กระจายเชื้อ ด้วยการขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมีการจัดตั้ง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2020 เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและมาตรการเร่งด่วนในการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 เรียกโดยย่อว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19’ (ศบค.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ

Social Distancing สำคัญและจำเป็น!

เนื่องจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 นั้นไม่จำเป็นต้องแสดงอาการของโรคก็สามารถแพร่กระจายเชื้อส่งต่อไปยังผู้อื่นได้ จึงทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นสูงในกรณีที่ไม่มีการป้องกันที่ดีพอ นี่จึงเป็นที่มาของการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เป็นตัวช่วยในเรื่อง การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนไปอยู่ในที่แออัด หรือการชุมนุมที่มีคนมาก เพราะการรวมตัวกันมากๆ นั้นเป็นสาเหตุสำคัญของการแพร่กระจายเชื้อ เนื่องจากเชื้อนั้นอยู่ในฝุ่นละอองในอากาศและบนตัวเรา มาตรการ Social Distancing จึงช่วยลดความเสี่ยงที่ประชาชนจะไปรับเชื้อและแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว

จากสถิติที่ทางอู่ฮั่นประเมิน กลุ่มคนที่แพร่เชื้อโดยที่ไม่รู้ว่าตนเองเป็นผู้ติดเชื้อนั้นนับเป็น 6 เท่า ของผู้ที่ติดเชื้อ ยกตัวอย่างตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศไทยที่ 1,771 ราย หากเอา 6 คูณเข้าไป จะได้ตัวเลข 10,626 คนที่ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวและกำลังแพร่เชื้อไปทั่วประเทศ และ 1 คนสามารถแพร่เชื้อได้เฉลี่ย 2.5 – 3 คน เท่ากับว่าจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทวีคูณไปเรื่อย ๆ

“สิ่งที่ต้องการจากประชาชนมากที่สุดคือความรับผิดชอบ ประการแรกเริ่มที่การรับผิดชอบตนเองก่อน เพราะมันมีผลมหาศาล ตัวอย่างเช่น หากคุณออกนอกบ้านไปสัมผัสเอาเชื้อมา เมื่อกลับบ้านก็จะนำเอาเชื้อมาแพร่สู่คนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอัตราการเสียชีวิตจาก Covid-19 สูงกว่าคนวัยอื่น โดยสามารถลดการเกิดปัญหานี้ได้ด้วยการล้างมือบ่อย ๆ พยายามไม่ออกนอกบ้าน หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่แออัด ซึ่งสิ่งนี้คือการรับผิดชอบต่อตัวเอง ต่อครอบครัว ต่อสังคม และต่อประเทศชาติ”

นายแพทย์ อุดม ย้ำถึงความสำคัญของการดูแลรักษาสุขภาพ ความสะอาด การล้างมือ และ Social Distancing เนื่องจากแม้จะขอความร่วมมือมากแค่ไหน แต่หากประชาชนไม่เห็นความสำคัญ ยอดผู้ติดเชื้อก็จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ

“สิ่งที่ต้องการจากประชาชนมากที่สุดคือความรับผิดชอบ เริ่มที่การรับผิดชอบตัวเอง ล้างมือบ่อย ๆ พยายามไม่ออกนอกบ้าน หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่แออัด ซึ่งนี่คือการคือการรับผิดชอบต่อตัวเอง ต่อครอบครัว ต่อสังคม และต่อประเทศชาติ”

Covid-19 รับมือได้มากน้อยแค่ไหน

แม้จะมีแค่ 10 – 15% ของผู้ติดเชื้อที่มีอาการไข้หนักจนต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่การดูแลผู้ป่วย Covid-19 นั้นทำให้โรงพยาบาลศิริราชต้องปิดตึกผู้ป่วยถึง 3 ตึก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส ซึ่แม้จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นวันละร้อยกว่าคนในประเทศไทยจะถือว่าอยู่ในสภาวะที่ดีกว่าอิตาลีเยอะมาก แต่ภาครัฐและบุคลากรทางการแพทย์ก็ยังคงเร่งดำเนินการให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อีกทั้งยังคงต้องการให้บุคคลที่เสี่ยงติดเชื้อไวรัสเข้ามารายงานตัวและตรวจเชื้อ

โดยนายแพทย์ อุดมคาดการณ์ว่าในอีก 3 – 4 สัปดาห์ จะสามารถเห็นตัวเลขได้ชัดเจนว่าเราจะเป็นเหมือนอิตาลีหรือญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่ต้องการเป็นแบบอิตาลี จึงขอความร่วมมือให้คนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงติดเชื้อควรจะมาตรวจเพื่อให้รู้ว่ามีหรือไม่มีเชื้อ โดยกระทรวงสาธารณะสุขได้ดำเนินการเชิงรุกด้วยการออกตรวจผู้ป่วยมากขึ้น เพื่อเข้าถึงผู้ป่วยที่ไม่แสดงอากา และเป็นการตัดตอนการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยแฝง สำหรับผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงก็ขอความร่วมมือให้ดูแลตัวเองดี ๆ และอย่าเพิ่งมาตรวจ เนื่องจากน้ำยาตรวจเชื้อนั้นมีจำกัด

สำหรับต่างจังหวัด นายแพทย์ อุดมกล่าวว่าได้มีการส่งชุดตรวจไปทั้งหมด 44 จังหวัดแล้ว ผู้ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงสามารถไปตรวจที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดได้ โดยชุดตรวจจะถูกส่งกลับมายังแลปในกรุงเทพฯ และทราบผลภายใน 1 – 2 วัน ระหว่างรอผลก็จะมีคำแนะนำในการกักตัวเพื่อให้ผู้เสี่ยงติดเชื้อนำไปปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด คนที่มีความเสี่ยงจะต้องกักตัว 14 วันเพื่อไม่ให้ไปแพร่เชื้อคนอื่น ซึ่งหมายถึงการกักตัวอยู่บ้าน ไม่ต้องแอดมิดในโรงพยาบาลเนื่องจากไม่มีเตียงผู้ป่วยรองรับมากเพียงพอ

“ตัวเลขผู้ติดเชื้อในตอนนี้ยังเป็นจำนวนที่เรารับมือไหว แต่หากประชาชนไม่ดูแลรับผิดชอบตัวเอง ไม่มีการปฏิบัติตาม Social Distancing จนตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงถึงวันละหมื่นคน เมื่อนั้นจึงจะเป็นวิกฤตที่แท้จริง” นายแพทย์ อุดมกล่าว

“ตัวเลขผู้ติดเชื้อในตอนนี้ยังเป็นจำนวนที่เรารับมือไหว

แต่หากประชาชนไม่ดูแลรับผิดชอบตัวเอง

ไม่มีการปฏิบัติตาม Social Distancing จนตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงถึงวันละหมื่นคน

เมื่อนั้นจึงจะเป็นวิกฤตที่แท้จริง”

บทเรียนสำคัญจาก Covid-19

น้ำใจและความเมตตา’ เป็นสิ่งที่นายแพทย์ อุดมเล่าว่าได้เห็นและเรียนรู้จากวิกฤตไวรัสครั้งนี้

“วิกฤตมีโอกาสเสมอ สิ่งที่เห็นคือน้ำใจคนไทย ความโอบอ้อมอารี ความเมตตา ความอยากที่จะช่วยเหลือของคนไทย สำหรับตัวผมเองเมื่อมีคนรู้ว่าผมต้องเข้ามาอยู่ในกลางวงของการรักษา ทุกคนก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเต็มที่ นี่คือสิ่งที่ผมซึ้งในน้ำใจของคนไทย ว่าท่ามกลางวิกฤตก็ยังเห็นความเอื้ออาทรต่อกัน และในต่างประเทศก็เช่นกัน

แน่นอนว่าหลังจากการระบาดของ Covid-19 จบลง เราย่อมพบกับการสูญเสียมากมาย 1 คือ การเสียชีวิตที่ประเมินค่าไม่ได้ และ 2 คือ การสูญเสียทางเศรษฐกิจ ซึ่งผมคิดว่ายอมให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจย่อมดีกว่า เพราะเรายังคงเซฟชีวิตคนไว้ได้

ตอนนี้เรามีการติดตามผลเป็นรายวัน และการระบาดยังไม่จบในช่วงเวลาอันสั้น เราคาดการณ์ว่าช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนจะค่อนข้างน่าเป็นห่วง และยังคงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มไปอีกราว 2 – 3 เดือน ถือได้ว่ายาวไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งเราต้องอดทน ช่วยเหลือกัน และสู้ไปด้วยกัน”

นี่คือสิ่งที่นายแพทย์ อุดม คชินทร กล่าวถึงวิกฤต Covid-19 แน่นอนว่าปีนี้และปีหน้าทุกภาคส่วนล้วนได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือมีน้ำใจ มีเมตตา และที่สำคัญคือ มีความรับผิดชอบ ซึ่งเมื่อเรารับผิดชอบต่อตัวเอง ย่อมหมายถึงการรับผิดชอบต่อสังคมเช่นกัน เพราะด่านแรกในการต่อสู้กับไวรัสร้าย Covid-19 ก็คือการดูแลป้องกันตัวเองที่ดีนั่นเอง