STARK

เปิดรายชื่อแก๊งแต่งบัญชีหุ้น STARK โดนข้อหาทุจริตหลอกลวงยกแผง!

จากกรณีพบทุจริตทางงบการเงินของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่ถูกสืบค้นโดยเริ่มจากประเด็นการเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ การใช้เงินเพิ่มทุนไม่ถูกวัตถุประสงค์ และนำมาสู่การตรวจสอบพบความไม่โปร่งใสของงบการเงินด้วยการตกแต่งบัญชี โดยวิธีที่ STARK ใช้ ‘Business+’ จะอธิบายให้ฟังแบบง่าย ๆ คือ การสร้างยอดขายเทียม แบบที่ไม่มีใครจ่ายเงินจริง

โดยสิ่งที่บริษัทแห่งนี้ ทำคือ การสร้างเอกสารสั่งซื้อสินค้าปลอมจากบริษัทที่เป็นผู้สมรู้ร่วมคิด (บริษัทย่อย) ทั้ง 4 บริษัท คือ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) , บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) , บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด และ บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่ง STARK ได้ให้บริษัทเหล่านี้นำเงินส่วนที่ STARK จ่ายให้วนกลับมาสั่งซื้อสินค้าจาก STARK อีกทีหนึ่ง โดยที่จริงๆ แล้วธุรกรรมทั้งหมดไม่มีการจัดส่งสินค้าจริง และไม่มีใครจ่ายเงินจริง เป็นเพียงแค่การปลอมเอกสารและบันทึกลงบัญชีบันทึกเป็นยอดขายโดยที่ยอมเสียภาษีกับกรมสรรพากร (VAT 7%) จึงทำให้ยอดขายนี้ดูสมจริง

ซึ่งภายหลังจากการตรวจสอบบัญชีและพบทุจริตทำให้ผู้สอบบัญชีได้ตรวจทานและพบว่า ตามงบการเงินจริง ๆ แล้ว (ไม่มีการตกแต่ง) ในปี 2565  STARK จะมีผลขาดทุนสุทธิ 6,651 ล้านบาท และมีผลรวมขาดทุนสะสม 10,379 ล้านบาท

ล่าสุด วันนี้ (6 ก.ค.2566) ทาง สำนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวโทษ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น กรรมการ อดีตกรรมการและอดีตผู้บริหารของ STARK รวม 10 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จในบัญชีเอกสารของ STARK และบริษัทย่อย ในช่วงปี 2564 – 2565 เพื่อลวงบุคคลใด ๆ และเปิดเผยงบการเงินในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวนที่เชื่อได้ว่ามีการตกแต่งงบ รวมทั้งปกปิดความจริงในข้อมูล factsheet เสนอขายหุ้นกู้ STARK ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวง และทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง พร้อมกันนี้ได้ส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

โดยรายชื่อของคนและบริษัททั้งหมดที่ ก.ล.ต. กล่าวโทษมีดังนี้

1) บริษัท STARK

2) นายชนินทร์ เย็นสุดใจ

3) นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ

4) นายชินวัฒน์ อัศวโภคี

5) นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ

6) นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม

7) บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL)

8) บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI)

9) บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด

10) บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

โดย ก.ล.ต.ระบุว่า ตามที่ปรากฏข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ว่า บุคคลข้างต้นได้ร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จ ทำบัญชีไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบัน หรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง ในบัญชีหรือเอกสารของ STARK และบริษัทย่อย ในปี 2564 – 2565 เพื่อลวงบุคคลใด ๆ อีกทั้ง STARK มีการเปิดเผยในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวน โดยเปิดเผยงบการเงินที่เชื่อได้ว่ามีการตกแต่งงบการเงินดังกล่าว รวมทั้งปกปิดข้อความจริงในข้อมูลในส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (factsheet) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแบบแสดงรายการข้อมูลสำหรับการเสนอขายหุ้นกู้ STARK ว่าได้มีการเข้าลงทุนในบริษัท LEONI Kabel GmbH และ LEONIsche Holding Inc แล้ว

ทั้งที่ยังเข้าลงทุนในกิจการดังกล่าวไม่เสร็จเรียบร้อย ทั้งนี้ ปรากฏว่าหลังจากที่ STARK ได้รับเงินหุ้นกู้และเงินเพิ่มทุน พบการโอนเงินออกจาก STARK และบริษัทย่อยไปยังบริษัทหรือบุคคลอื่นซึ่งเกี่ยวข้องกับการตกแต่งงบการเงินด้วย

ซึ่งการกระทำของบุคคลรวม 10 รายข้างต้น เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 312 และมาตรา 281/2 วรรค 2 ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 89/7 ประกอบมาตรา 89/24 มาตรา 278 มาตรา 281/10 ประกอบมาตรา 300 มาตรา 306 และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (แล้วแต่กรณี) ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 10 ราย ต่อ DSI เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ข้างต้น ต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

นอกจากกรณีที่กล่าวโทษในครั้งนี้ ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบขยายผลไปยังกรณีอื่น ๆ ที่มีข้อสงสัยในเรื่องการทุจริต โดยจะประสานความร่วมมือกับ DSI ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จ จะมีการเปิดเผยให้ทราบต่อไป

ในการตรวจสอบเรื่องนี้ ก.ล.ต. ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ปปง. DSI และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี โดยการกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ

อนึ่ง STARK ใช้ผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด (วันที่สิ้นสุดการสอบบัญชี 31 ธ.ค. 2565) นางสาว ธิตินันท์ แว่นแก้ว (บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด) ,นางสาว นันทิกา ลิ้มวิริยะเลิศ (บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด) ,นาย พิสิฐ ทางธนกุล (บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด)

ที่มา : ก.ล.ต. , SETSMART
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS