‘สยามราชฯ’ กำลังจะทำอะไร? ถึงดึงตัว `ท็อป Bitkub’ นั่งตำแหน่งกรรมการ

ประเด็นที่ บมจ.สยามราชธานี หรือ SO บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ซึ่งมีธุรกิจคือการจัดหาพนักงานแบบ Outsourcing ได้แต่งตั้งคุณท็อป จิรายุส ซีอีโอ ชื่อดังจาก Bitkub ผู้ให้บริการการซื้อขายเงินดิจิทัล (บริษัทที่ขึ้นเป็นยูนิคอร์นแห่งที่ 2 ของไทย) ขึ้นนั่งตำแหน่งกรรมการ กรรมการอิสระ และกรรมการยุทธศาสตร์ มีผลในวันที่ 4 ม.ค. 2565 จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า การสวมหมวกกรรมการของ ‘สยามราชฯ’ จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลให้กับ ‘สยามราชฯ’ ในแง่ไหนบ้าง?

โดย เรื่องนี้ ‘สยามราชฯ’ ได้ระบุถึงการแต่งตั้งคุณท็อป ว่า เป็นการแต่งตั้งขึ้นในตำแหน่งที่ว่าง แทนกรรมการที่ลาออกไปเมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งการแต่งตั้งลักษณะนี้ตามกฏหมายแล้ว ไม่ต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ส่วนเหตุผลที่แต่งตั้งคุณท็อปเป็นเพราะมองเห็นความสามารถจากการเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ที่มีความสามารถและมีศักยภาพที่น่าจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในอนาคต

จากสิ่งที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า คุณท็อป เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเงินดิจิทัล (คริปโตเคอร์เรนซี) และบล็อกเชนเทคโนโลยี ดังนั้น สิ่งที่น่าจับตามองหลังจากเข้ามามีบทบาท คือเรื่องของการนำพา ‘สยามราชฯ’ ไปสู่การเงินดิจิทัล และบล็อกเชนเทคโนโลยีในมุมไหนได้บ้าง?

หากเรามองธุรกิจของ ‘สยามราชฯ’ จะเห็นว่ามีธุรกิจหลัก คือ การเป็นเอาต์ซอร์สหาพนักงานให้กับธุรกิจประเภทต่าง ๆ ทั้งพนักงานขับรถ พนักงานสำนักงาน พนักงานช่างเทคนิค และบริการงานบันทึกข้อมูล รวมไปถึงธุรกิจบริการดูแลภูมิทัศน์ และอีกกลุ่มธุรกิจหลักที่น่าสนใจอีกกลุ่มคือ การให้บริการรถยนต์ให้เช่าและให้เช่าอสังหาริมทรัพย์

และถ้าหากเรานึกภาพตามว่า ธุรกิจหลักที่หลากหลาย และแตกต่างกัน สามารถมีตัวกลางอย่างเหรียญฯ ดิจิทัลที่จะสร้างขึ้นมาเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจแต่ละประเภทเข้าด้วยกันได้ล่ะ จะทำให้การให้บริการแก่ลูกค้า และการบริหารธุรกิจ ‘สยามราชฯ’ ง่ายขึ้นไหม?

โดยเฉพาะหากมองในมุมของลูกค้าแบบ B2B ของ ‘สยามราชฯ’ ที่จะได้รับทั้งบริการจัดหาพนักงาน และยังสามารถใช้เหรียญดังกล่าวสำหรับการเช่ารถใช้ในธุรกิจ หรือแม้กระทั่งการเช่าพื้นที่สำหรับการเปิดเป็นสำนักงานได้อีกด้วย

ยกตัวอย่าง บริษัทที่ได้เริ่มเข้าจุดสตาร์ทไปแล้วอย่าง บมจ.อาร์เอส หรือ RS ซึ่งมีทั้งธุรกิจพาณิชย์และธุรกิจความบันเทิง ซึ่งล่าสุดได้เปิดตัวเหรียญคริปโตฯ ชื่อว่า Popcoin เพื่อเป็นสมาร์ท มาร์เก็ตติ้ง แพลตฟอร์ม ด้วยการใช้ Popcoin Token เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนและทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์ม ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจคอมเมิร์ซและธุรกิจสื่อ-บันเทิงของเชื่อมกันได้อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งถือว่า RS เป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

นอกจากนี้ หากมอง ‘สยามราชฯ’ ในมุมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และพูดถึงสินทรัพย์ที่จับต้องได้คงเป็นธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และรถยนต์ ซึ่งที่ผ่านมา เราได้เห็นบริษัทอสังหาฯ หลายเจ้าให้ความสำคัญกับจักรวาลเหรียญดิจิทัล

ไม่ว่าจะเป็น บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ ANAN ซึ่งต้นปี 2564 ได้ประกาศจับมือกับ Bitkub ในการนำคริปโตฯ มาใช้ชำระเงินสำหรับการซื้อขายบ้านและคอนโดมิเนียม แทนเงินสดกับทุกโครงการของอนันดาผ่าน Wallet ของ Bitkub

รวมถึง บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ หรือ ORI ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ร่วมมือกับ Bitkub เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถซื้อขายบ้านและคอนโดมิเนียมในเครือออริจิ้นทุกโครงการ ผ่านสกุลเงินดิจิทัลได้เช่นกัน

ซึ่งการใช้เหรียญเงินดิจิทัล ในวงการอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างได้รับความนิยมสูง โดยมีทั้งการนำ Token Digital มาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าซื้อขาย ทั้งจ่ายค่าบ้าน ซื้อบ้าน ซื้อคอนโดมิเนียม หรือแม้กระทั่งจ่ายค่าเช่า (เป็นหนึ่งแพลตฟอร์มการตลาดช่วยเพิ่มช่องทางการซื้อ) นอกจากนี้ยังมีการนำสินทรัพย์อย่างอสังหาฯ มาแปลงสภาพเป็น Token Digital ที่มี Asset จริง ๆ มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อการลงทุนได้อีกด้วย

Business+ จึงคาดว่า การดึงคุณท็อปผู้เชี่ยวชาญเข้ามา คงจะได้เห็น‘สยามราชฯ’ ซึ่งเป็นบริษัทที่มี Asset และธุรกิจบริการที่เหมาะจะเข้าสู่จักรวาลเหรียญดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว และแข็งแกร่ง โดยผนึกธุรกิจหลักเข้าร่วมกันจะทำให้ดำเนินธุรกิจได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น เพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน รวมไปถึงสามารถลดต้นทุนทางการเงินได้อีกมาก”

ซึ่งแน่นอนว่า ความหวังที่จะได้เห็น ‘สยามราชฯ’ ทำอะไรใหม่ ๆ ในวงการดิจิทัล เป็นแรงผลักดันให้ราคาหุ้น (27 ธ.ค.2564) กระโดดขึ้นมาสู่ 22.40 บาท (+14.29%)

สำหรับผลประกอบการ ‘สยามราชฯ’ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี ด้วยผลประกอบการ 2 ปีย้อนหลังคือ
– ปี 2562 รายได้ 1,934.03 ล้านบาท กำไรสุทธิ 109.06 ล้านบาท
– ปี 2563 รายได้ 2,043.24 ล้านบาท กำไรสุทธิ 139.55 ล้านบาท (+27.96% YoY)
– ช่วง 9 เดือนของปี 2564 มีรายได้ 1,554.00 ล้านบาท กำไรสุทธิ 126.27 ล้านบาท (+25.35% YoY)

ถึงแม้ผลประกอบการจะค่อนข้างโดดเด่น แต่เรากลับไม่ได้เห็นราคาหุ้น ‘สยามราชฯ’ โลดแล่นบนกระดาน Most Active (หุ้นที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 20 อันดับแรก) สาเหตุมาจากจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยค่อนข้างต่ำ (Free Float) อยู่ที่ 27.99% ถึงแม้จะอยู่ในเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ที่กำหนดไว้ว่าจะต้องมี Free Float มากกว่า 15% แต่ก็ยังถือว่ามี Free Float ไม่สูงมากนัก

ซึ่งการที่บริษัทที่มี Free Float ต่ำ เท่ากับว่าหุ้นอยู่ในมือของเจ้าของเป็นจำนวนมาก ดังนั้น หุ้นประเภทนี้จึงถูกควบคุมราคาได้ง่ายผ่านมือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และมีสภาพคล่องการซื้อขายต่ำ (ซื้อขายหุ้นได้ยากกว่า) แต่ก็หมายถึงว่า “เจ้าของบริษัทยังถือหุ้นส่วนมากในบริษัทตัวเอง”

ปิดท้ายกันที่หน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการด้านยุทธศาสตร์ ‘สยามราชฯ’ ระบุเอาไว้ว่า คุณท็อป จะเข้ามาช่วยกำกับให้ฝ่ายบริหารจัดทำแผนยุทธศาสตร์ เพื่อเพิ่มความสามารถแข่งขัน และสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังร่วมพิจารณากลั่นกรองของฝ่ายจัดการที่มีการนำเสนอโครงการต่าง ๆ หรือการขยายกิจการการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

อีกทั้งมีหน้าที่คำนวนความเสี่ยงจากการลงทุน รวมถึงการกำกับศึกษาความเป็นไปได้สำหรับโครงการการลงทุนในธุรกิจและติดตามความคืบหน้าจากโครงการที่ลงทุน พร้อมให้คำแนะนำต่าง ๆ ต่อปัญหาและอุปสรรค์ที่อาจเกิดขึ้นกับโครงการ

ข้อมูล : SET

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เศรษฐกิจ #SET #สินทรัพย์ดิจิทัล #SO #Bitkub