Alongside Thai SMEs SME D Bank ใช้ ESG + Soft Power ขับเคลื่อนผู้ประกอบการ

กลไกขับเคลื่อนธุรกิจที่มีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบันคือ แนวคิด ESG ซึ่งจะนำพาไปสู่ความยั่งยืนตามหลักการสากลและโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งเเวดล้อม SME D Bank ธนาคารที่มีบทบาทเคียงข้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งในด้านการพัฒนา เติมทุน เติมความรู้ เดินหน้าขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยแนวคิด ESG + Soft Power

 

คุณโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวถึงการยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยแนวคิด ESG ซึ่งให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และการมีธรรมาภิบาลที่ดี (Governance)  โดยมี BCG model เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจและการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีซึ่งประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดย BCG model เป็นแผนที่ภาครัฐคาดหวังว่าจะนำพาประเทศก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่มีรายได้สูง

“Environment” ที่ผ่านมา เอสเอ็มอีมีการนำ BCG model มาใช้ในธุรกิจโดยเป็นการนำภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ และรักษาความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่อาจจะยังไม่เป็นระบบมากนัก การต่อยอดภูมิปัญญาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะนำไปสู่การยกระดับมูลค่าเพิ่มได้อีกมาก โดยการต่อยอดต้องการทั้งองค์ความรู้และเงินทุนสนับสนุน

“Social” ด้วยลักษณะของธุรกิจเอสเอ็มอีที่ขนาดธุรกิจไม่ได้ใหญ่มากและมักตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนจึงมีการจ้างงานในท้องถิ่นและใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นป้อนเป็นปัจจัยการผลิตของธุรกิจ

“Governance” แม้เอสเอ็มอีจะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลธรรมภิบาลเช่นเดียวกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่โดยภาพรวมเอสเอ็มอีไทยมีธรรมาภิบาลเป็นพื้นฐานด้วยความตั้งใจที่จะสร้างผลกระทบทางบวกจากการดำเนินงานให้กับผู้มีส่วนได้เสีย คุณโมกุลกล่าว

SME D BANK เติมความรู้คู่ทุน

นอกเหนือจากการสนับสนุนเงินทุนในการต่อยอดทำธุรกิจแล้ว ทาง SME D Bank ก็ยังให้ความรู้ควบคู่ไปด้วย ตามพันธกิจ ‘ธนาคารเพื่อการพัฒนา’ ซึ่งในแง่ของการสนับสนุนทางการเงินนั้น คุณโมกุล กล่าวว่า ตอนนี้ทาง SME D Bank ได้ให้บริการโครงการสินเชื่อ BCG Loan วงเงินรวม 11,000 ล้านบาท วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาทต่อราย ผ่อนนานสูงสุด 15 ปี และระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 24 เดือนแรก สามารถใช้ได้ครบวงจรทั้งการลงทุน ปรับปรุง ขยาย หรือปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ หรือหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องในกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับ BCG model ในการลงทุนแต่ละครั้งอาจไม่ได้รับผลตอบแทนในทันที SME D Bank จึงช่วยบรรเทาภาระผู้ประกอบการในช่วงแรกด้วยระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นนาน ชำระเพียงดอกเบี้ยเท่านั้น ล่าสุดมีเอสเอ็มอีได้รับอนุมัติเงินกู้ในโครงการ BCG Loan แล้วประมาณ 500-600 ราย คิดเป็นกว่า 50% ของวงเงินโครงการทั้งหมด

ขณะที่อีกมุมหนึ่งที่ SME D Bank ให้การสนับสนุนคือการร่วมลงทุนในกิจการที่มีแนวความคิดเรื่อง BCG ควบคู่กับ ESG เช่น การลงทุนในเอสเอ็มอีผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ให้บริการปรับปรุงระบบพลังงานเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ และติดตั้ง EV Charger เป็นต้น

ในด้านการพัฒนาผู้ประกอบการ SME D Bank มีส่วนสนับสนุนให้คำแนะนำ พัฒนาองค์ความรู้ในด้าน BCG และ ESG และหาแนวทางสนับสนุนที่เฉพาะเจาะจงสำหรับเอสเอ็มอีแต่ละรายโดยจะเชื่อมโยงองค์กรเครือข่ายทั้งหมดเพื่อหาผู้เชี่ยวชาญในด้านที่เหมาะสมแนะแนวทางปรับปรุงธุรกิจให้กับลูกค้าได้อย่างตรงจุด เพื่อให้ลูกค้าสามารถพัฒนาต่อยอดให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมตามเป้าหมายของลูกค้า

“การทำให้ผู้ประกอบการมีความตระหนักรู้ในด้านความยั่งยืน ต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน เมื่อธนาคารขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน คู่ค้าและพันธมิตรให้ความสำคัญกับความยั่งยืน รวมเป็น Ecosystem ที่ดีจะสามารถส่งเสริมให้ผู้ประกอบการยั่งยืนได้อย่างเป็นระบบ” คุณโมกุลกล่าว

สำหรับเป้าหมายโครงการสินเชื่อ BCG Loan ปีนี้ ตั้งเป้าแตะระดับ 80% ซึ่ง SME D Bank จะให้ความสำคัญกับทั้ง B C และ G โดยจะเป็นการไปร่วมมือกับพันธมิตร หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเอสเอ็มอีไปสู่การดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้แผนงานตามโครงการนี้มีความชัดเจนและวัดผลได้มากขึ้น

ในแง่ของการปล่อยสินเชื่อ หากแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม SME D Bank สนับสนุนอุตสาหกรรมเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์ชาติทุกอุตสาหกรรมซึ่งครอบคลุมถึงกลุ่ม Soft Power ซึ่งมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากมีศักยภาพในการสร้าง Soft Power อย่างไรก็ตาม SME D Bank มีพันธกิจเป็นธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย ไม่ว่าผู้ประกอบการจะอยู่ในอุตสาหกรรมใด หากมีความต้องการพัฒนาธุรกิจ ต้องการเงินทุน ธนาคารก็พร้อมจะสนับสนุนเช่นกัน

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงความพร้อมของผู้ประกอบการเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG คุณโมกุล กล่าวว่า SME D Bank ได้มีการศึกษาวิจัยความพร้อมของเอสเอ็มอี ด้วยการออกแบบสอบถามประเมินความพร้อมในการปฏิบัติตามแนวทาง ESG ใน SMEs 500 ราย พบว่า 26% ของเอสเอ็มอี มีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแนวคิด ESG อย่างเข้มข้น โดยกลุ่มผู้ประกอบการขนาดย่อมและขนาดกลาง (Small และ Medium) มีการดำเนินงานตามแนวทาง ESG ที่เข้มข้นมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย (Micro) โดยระดับความซับซ้อนในการดำเนินการจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 80% มีการแยกขยะ และจัดการขยะอย่างถูกต้องซึ่งเป็นกิจกรรมที่ไม่ซับซ้อน สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องลงทุน ในขณะที่การดำเนินงานที่ต้องใช้เทคโนโลยี หรือต้องลงทุนในระยะแรกยังมีการดำเนินงานไม่มากนัก เช่น การเลือกใช้พลังงานทดแทน (16%) หรือการนำส่วนเหลือจากกระบวนการผลิตมาเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (27%) เป็นต้น นอกจากนี้ในมิติอุตสาหกรรม พบว่า ภาคการผลิต และภาคบริการมีการปฏิบัติตามแนวทาง ESG มากกว่าภาคการค้า เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นผู้สร้างผลกระทบและได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาสภาพภูมิอากาศ จึงมีความตระหนักและดำเนินการอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าภาคการค้า

“การทำวิจัยนี้ทำให้เราเข้าใจ สามารถเจาะลึกพฤติกรรมและความต้องการของเอสเอ็มอีแต่ละกลุ่มได้ชัดเจนขึ้นทั้งในด้านความต้องการองค์ความรู้ เทคโนโลยี และแหล่งเงินทุนซึ่งไม่ได้จำกัดแค่สินเชื่อ ความเข้าใจดังกล่าวนำไปสู่การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเพื่อให้เข้ามาสนับสนุนเอสเอ็มอีได้ตรงความต้องการ นอกจากนั้นเราพยายามเป็นส่วนหนึ่งของ Ecosystem ในการเชื่อมโยงความต้องการของเอสเอ็มอีเข้ากับการสนับสนุนจากแต่ละภาคส่วนที่มีความเชี่ยวชาญ” คุณโมกุลกล่าว

The Next Step of SME D Bank

สำหรับภาพรวมต่อจากนี้ของ SME D Bank คุณโมกุล กล่าวว่า ในปีนี้ SME D Bank ตั้งเป้าพาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนกว่า 70,000 ล้านบาท ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้าง (Outstanding) คาดว่าจะไม่ต่ำกว่าปี 2566 ขณะเดียวกันธนาคารมีเป้าหมายบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่ให้สูงกว่าเดิม ที่สำคัญธนาคารมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีกลุ่มเปราะบางไม่ให้เป็นหนี้ตกชั้น เช่น การลดภาระดอกเบี้ย หรือพักชำระเงินต้น ควบคู่กับการปรับปรุงจุดอ่อน เสริมจุดแข็งของธุรกิจให้กับเอสเอ็มอีที่เปราะบางให้ธุรกิจไปต่อได้ซึ่งย่อมกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ที่ดีด้วย

สำหรับโครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คุณโมกุลกล่าวว่า SME D Bank เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีพันธกิจชัดเจน คือการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาด้วยยึดมั่นวิสัยทัศน์การเป็นสถาบันการเงินของรัฐที่ให้บริการทางการเงินครบวงจรและพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจเอสเอ็มอีสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน ในแต่ละโครงการของธนาคารจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งภายในธนาคารเองและสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย บทบาทที่สำคัญของธนาคารเน้นย้ำในการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ เพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุนของเอสเอ็มอีพร้อมกับการพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้ด้วยธนาคารตระหนักดีว่าธุรกิจเอสเอ็มอีมีบทบาทอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมที่เข้มแข็งได้โดยเฉพาะด้านการจ้างงานและการสร้างอาชีพ จากการกระจายตัวของเอสเอ็มอีในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศจึงทำให้เกิดการจ้างงานราว 13 ล้านตำแหน่งโดยเฉพาะการจ้างงานและการกระจายรายได้ในท้องถิ่น ยังไม่นับรวมถึงการสร้างอาชีพในท้องถิ่นจากการซื้อวัตถุดิบหรือใช้บริการในพื้นที่ หากเอสเอ็มอีสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนจะเป็นการสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้กับเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

นอกจากนี้ SME D Bank ยังพัฒนาองค์กรและปรับปรุงการให้บริการอย่างต่อเนื่องด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ Core Banking ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2567 ซึ่งจะทำให้ธนาคารสามารถให้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย และช่องทางการให้บริการทางการเงินที่เข้าถึงง่ายและปลอดภัย

สุดท้ายนี้ในมุมของ ‘Business+’ บทบาทการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของ SME D Bank ช่วยขับเคลื่อนเอสเอ็มอีมาตลอด 22 ปี โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตทั่วโลก ทาง SME D Bank ได้ช่วยเติมเต็มเงินทุนและความรู้ แนวทางปรับตัวรับวิกฤตให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตลอดมาตามพันธกิจของธนาคารที่ชัดเจน และตอกย้ำการพัฒนาตามแนวทาง ESG เพื่อมุ่งสร้างเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งสำหรับเอสเอ็มอีและธนาคาร

 

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ
ติดตาม Business+ ได้ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS