‘เกาหลีใต้’ ลดนำเข้าอาหารทะเลจาก ‘ญี่ปุ่น’ อาจเป็นโอกาสทองของส่งออก ‘ไทย’

สำนักงานศุลกากรเกาหลีใต้ (KCS) เปิดเผยว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 เกาหลีใต้นำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นจำนวน 2,129 ตัน ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลง 30.6% จากปี 2565 ขณะที่ในส่วนของมูลค่ายอดนำเข้าปรับตัวลดลง 1.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี สู่ระดับ 14.06 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ในเดือนเม.ย. ยอดนำเข้าอาหารทะเลหดตัวลง 26% เมื่อเทียบรายปีในแง่ของปริมาณ และลดลง 9.7% ในแง่ของมูลค่า โดยการปรับตัวลดลงครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่ทะเลอย่างเร็วที่สุดภายในเดือนมิถุนายนนี้ โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้รับความเสียหายจากสึนามิและแผ่นดินไหวเมื่อปี 2554

ด้วยเหตุนี้ เกาหลีใต้จึงสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลทุกชนิดจาก 8 จังหวัดใกล้กับฟูกิชิมะ ในปี 2556 จากความกังวลเกี่ยวกับระดับรังสีปนเปื้อนจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเกาหลีใต้ระบุชัดเจนว่า จะไม่ยกเลิกการสั่งห้ามนำเข้า นอกจากอาหารทะเลในพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับการพิสูจน์ว่าปลอดภัย โดยระบุว่า การปล่อยน้ำปนเปื้อนจากฟูกุชิมะควรแบ่งประเด็นพิจารณาแยกต่างหาก ไม่ควรรวมกับการสั่งห้ามนำเข้า

จากข้อมูลนี้ อาจถือเป็น ‘โอกาสทอง’ ของประเทศไทยในการส่งออกอาหารทะเลไปยังเกาหลีใต้ เนื่องจากเกาหลีใต้ ถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่สำคัญของการส่งออกอาหารทะเลของไทย โดยข้อมูลจาก ‘กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ’ ระบุว่า ประเทศไทยส่งออกสินค้าประมงไปยังประเทศเกาหลี มีมูลค่ากว่า 143 ล้านเหรียญสหรัฐ แม้วว่าในปี 2562 มูลค่าการส่งออกจะลดลง 20.7% โดยสินค้าประมงหลักที่ประเทศไทยส่งออกไปยังเกาหลีใต้ ได้แก่ สินค้าประมงแปรรูป หมึกยักษ์ กุ้ง และหมึก โดยสินค้าประมงดังกล่าว มีมูลค่าการส่งออกถึง 122 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 85% ของการส่งออกไปยังประเทศเกาหลีใต้ทั้งหมด

ในส่วนของจำนวนและส่วนแบ่งทางการตลาดในปี 2562 สินค้าประมงหลักที่ประเทศไทยส่งออก ได้แก่ สินค้าประมงแปรรูป 5,900 ตัน, หมึกยักษ์ 4,500 ตัน, สินค้าประมงอื่น ๆ 3,700 ตัน, เครื่องในปลา 2,000 ตัน และกุ้งจำนวน 1,950 ตัน โดยส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้าหลัก 5 อันดับดังกล่าว คิดเป็น 80% และจำนวนการนำเข้าสินค้า 5 อันดับดังกล่าวทุกอันดับ ยกเว้น สินค้าประมงอื่น ๆ ลดลง ซึ่งหมึกยักษ์ลดลง 27.7% และกุ้ง ลดลง 30.6%

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจาก ‘กรมประมง’ จากรายงานการส่งออกสินค้าประมงของไทย ประจำเดือนมกราคม – ธันวาคม 2565 ระบุว่า การส่งออกในช่วงเวลาดังกล่าวมีปริมาณ 1,592,675.56 ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.26% คิดเป็นมูลค่า 229,084.32 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2564

อย่างไรก็ดี รายงานการส่งออกสินค้าประมงของไทย ประจำเดือนมกราคม 2566 กรมประมง พบว่ามีการส่งออกอาหารทะเลลดลง โดยการส่งออกอาหารทะเลในเดือนมกราคม 2566 มีปริมาณ 103,347.42 ตัน ลดลง 17.93% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และลดลง 17.00% และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2565 คิดเป็นมูลค่า 14,228.89 ล้านบาท ลดลง 24.79% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และลดลง 10.98% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2565

สำหรับการส่งออกอาหารทะเลไปยังเกาหลีใต้มีมูลค่า 366.63 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 1.44% จากปี 2565 มีมูลค่าส่งออก 371.98 ล้านบาท ขณะที่การส่งออกอาหารทะเลไปยังเกาหลีใต้ในช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม 2565 มีมูลค่า 6,711.57 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.05% จากปี 2564 ที่มีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 6,513.16 ล้านบาท

โดยสินค้าประมงส่งออกที่สำคัญของไทยประจำเดือนมกราคา 2566 ได้แก่

1. ทูน่ากระป๋อง มีปริมาณ 31,057.20 ตัน ลดลง 12.02% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2565 มูลค่า 4,886.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.63% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2565 (คิดเป็น 34.34% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงทั้งหมด) สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ กลุ่มตะวันออกกลาง 26.65% สหรัฐอเมริกา 16.12% กลุ่มแอฟริกา 14.16% ออสเตรเลีย 13.17% ญี่ปุ่น 7.39%

2. กุ้ง มีปริมาณ 7,188.92 ตัน ลดลง 27.42% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2565 มูลค่า 2,624.11 ล้านบาท ลดลง 23.84% % เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2565 (คิดเป็น 18.44% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงทั้งหมด) สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น 32.98% สหรัฐอเมริกา 25.98% จีน 15.52% เกาหลีใต้ 5.74% กลุ่มอาเซียน 5.06%

3. อาหารกระป๋องสำหรับสุนัขและแมว มีปริมาณ 6,989.25 ตัน ลดลง 37.26% มูลค่า 966.19 ล้านบาท ลดลง 32.82% (คิดเป็น 6.79% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประมง ทั้งหมด) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกัน ในปี 2565 ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือสหรัฐอเมริกา 31.25% ญี่ปุ่น 20.33% สหภาพยุโรป 19.90% กลุ่มอาเซียน 7.75% จีน 3.91%

นอกจากนี้ ข้อมูลการค้าสินค้าประมงของไทยในรอบ 10 ปี (2555 – 2564) จาก ‘กรมประมง’ พบว่าอาหารทะเลที่มีการส่งออกไปยังเกาหลีใต้สูงที่สุด คือ หมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง โดยในปี 2555 – 2564 มีการส่งออกไปยังเกาหลีใต้ในสัดส่วนเฉลี่ย 13.75% ของมูลค่าการส่งออกหมึกสดแช่เย็นแข็งทั้งหมดในรอบ 10 ปี ปริมาณการส่งออกเฉลี่ย 6,615 ตันต่อปี เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12.39% ต่อปี มูลค่าเฉลี่ย 1,357 ล้านบาทต่อปี เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 17.81% ต่อปี ทั้งนี้ ในปี 2558 มีปริมาณการส่งออกสูงสุด ด้วยปริมาณ 8,544 ตัน ส่วนในปี 2561 มูลค่าการส่งออกสูงสุด ด้วยมูลค่า 1,891 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2556 ถือเป็นปีที่มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกต่ำสุดในรอบ 10 ปี ด้วยปริมาณ 3,557 ตัน มูลค่า 590 ล้านบาท

ดังนั้น การกรณีที่เกาหลีใต้ลดการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น จึงถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่สำคัญของประเทศไทยที่จะสามารถส่งออกอาหารทะเลได้มากขึ้น ซึ่งไม่เพียงส่งผลดีต่อภาคธุรกิจอาหารทะเลเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงตัวเลขการส่งออกโดยรวมของประเทศไทยอีกด้วย

ที่มา : koreaherald, กรมประมง, กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #นิตยสารBusinessplus #เกาหลีใต้ #ญี่ปุ่น #ส่งออก #อาหารทะเล #ส่งออกอาหารทะเล #Seafood