Pompui

ย้อนรอยธุรกิจกงสี ‘ปลากระป๋อง ปุ้มปุ้ย’ ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงวันที่ถูกถอดออกจากตลาดหุ้น

คดีการฟ้องร้องในธุรกิจกงสี หรือธุรกิจในครอบครัวมีมาให้เราเห็นอยู่เสมอ หนึ่งในบริษัทที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีกับคือผลิตภัณฑ์ปลากระป๋อง ‘ปุ้มปุ้ย’ ซึ่งเป็นของตระกูล ‘โตทับเที่ยง’ ก็เป็นอีกหนึ่งมีปัญหาฟ้องร้องกันเองในตระกูลที่เครือญาติเกิดความขัดแย้งในการบริหารธุรกิจครอบครัวเรื่องการแบ่งทรัพย์สิน ซึ่งภายหลังการตัดสินคดีดูเหมือนจะทำให้ปัญหาที่คาราคาซังของปุ้มปุ้ยปลดล็อก และอาจส่งผลดีต่อการขยายธุรกิจ แต่ในที่สุดก็มาถึงวันที่ ‘ปุ้มปุ้ย’ ต้องถูกถอดออกจากตลาดหลักทรัยพ์ฯ จนได้

ในวันนี้ ‘Business+’ จะมาย้อนไทม์ไลน์ตลอด 45 ปีว่า ธุรกิจกงสีของตระกูลนี้ตั้งแต่ก่อตั้งเกิดเหตุการณ์สำคัญอะไรบ้าง

Pompui

 

โดยบริษัทฯ แห่งนี้ได้เริ่มก่อตั้งตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2522 ภายใต้ชื่อ บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท เพื่อผลิตและจำหน่ายปลาซาร์ดีน ในซอสมะเขือเทศภายใต้เครื่องหมายการค้า “ปุ้มปุ้ย” และ “ปลายิ้ม” ซึ่งขณะนั้นมีกำลังผลิต 1 ล้านกระป๋องต่อปี หากถามว่าน้อยแค่ไหนให้เทียบกับในปี 2566 ปุ้มปุ้ยมีกำลังการผลิต 130 ล้านกระป๋องต่อปี (ถือว่ามีการเติบโตอย่างมาก จากบริษัทขนาดเล็กสู่ผู้เล่นรายใหญ่ของประเทศ)

ต่อมาในปี 2525 ปุ้มปุ้ย ได้มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ นั่นคือ ผลิตปลากระป๋องปรุงรส ได้แก่ ปลาทอดรสเผ็ด และ ปลาซาร์ดีนสับ ปรุงรส ภายใต้ชื่อ “ลาภ ตราปลายิ้ม” หลังจากนั้น POMPUI ก็ผ่านการเพิ่มกำลังการผลิต และออกสินค้าใหม่มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2528 ได้ออกสินค้าใหม่ ‘หอยลายทอดรสเผ็ด’ ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวของตลาด ซึ่งได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันเพราะความเป็นเอกลักษณ์ของรสชาติเผ็ด หวาน กลมกล่อม ไม่เหมือนใคร

ขณะที่ในปี 2529 ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างมากอีกหนึ่งสินค้า นั่นคือ ปลาราดพริก ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และมียอดขายเป็นอันดับ 1 ของสินค้าปลากระป๋องปรุงรสตลอดมา

ดูเหมือนกิจการจะเป็นไปได้ดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปี 2537 ปุ้มปุ้ย ตัดสินใจที่จะย้ายฐานการผลิตไปสู่พื้นที่ใหม่ ณ ตำบลนาท่ามเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ซึ่งตั้งอยู่บนเนื้อที่ขนาด 100 ไร่ ด้วยกำลังการผลิต 130 ล้านกระป๋องต่อปีเลยทีเดียว และในปี 2538 ได้เข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดมหาชน ในตลาดหลักทรัพย์ (SET) 

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่สำคัญอีกครั้งคือปี 2547 ขณะนั้นบริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 175.89 ล้านบาท (จากปี 2546 กำไรสุทธิ 225.66 ล้านบาท) ขณะที่สภาพคล่องทางการเงินย่ำแย่ ดังนั้นในปี 2548 จึงกลายเป็นปีที่ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ (เข้าข่ายต้องฟื้นฟูกิจการ) และเข้าข่ายถูกเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์จึงได้ประกาศให้แก้ไขคุณสมบัติในการเป็นบริษัทจดทะเบียนและขึ้นเครื่องหมาย SP (Suspension) ห้ามซื้อหรือขายหุ้น POMPUI เป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2548 โดยสาเหตุที่ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบเกิดจากผลขาดทุนสุทธิอย่างยาวนาน  (ปีละประมาณ 100 ล้านบาท) แต่จุดเปลี่ยนที่รุนแรงที่สุดคือปี 2548 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิมากถึง 780.837 ล้านบาท

ถึงแม้ว่าในตลาดหุ้นจะถูกพักการซื้อขายแต่ POMPUI ก็ยังดำเนินกิจการต่อไปเพื่อล้างขาดทุนสุทธิ และพลิกส่วนผู้ถือหุ้นให้กลับมามากกว่าศูนย์ จนกระทั่งปี 2559 บริษัทได้กลับมามีส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก แต่กลับเป็นปีที่เกิดการฟ้องร้องกันในตระกูล โดย คุณสุธรรม โตทับเที่ยง พี่ชายคนโตของตระกูล กับพวก 9 คน (กรรมการบริษัท และทีมทนายความ) ยื่นฟ้อง คุณสุรินทร์ โตทับเที่ยง (น้องชาย) กับพวกรวม 5 คน ต่อศาลแพ่งธนบุรี ข้อหา กรรมสิทธิ์รวม เรียกทรัพย์คืน ขอแบ่งทรัพย์ (กงสี) ซึ่งการฟ้องร้องกันก็กินเวลายาวนานไปเกือบ 5 ปี

จนถึงปี 2564 ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกา อ่านเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 โดยให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนของการโอนหุ้น และในส่วนของที่ดินให้เป็นไปตามศาลอุทธรณ์ ส่งผลให้ในส่วนของหุ้นบริษัทกงสีทั้ง 19 บริษัท จำเลย (คุณสุรินทร์ และพวก) ต้องโอนคืนให้กับพี่น้องทั้ง 9 คน และนำมาแบ่งเป็น 10 ส่วนให้ทุกคน (รวมทั้งคุณสุรินทร์) คนละส่วนเท่ากัน ส่วนของที่ดินให้ต้องคืนพี่น้องทั้ง 9 คน และนำมาแบ่งเป็น 10 ส่วนให้ทุกคน (รวมทั้งคุณสุรินทร์) คนละส่วนเท่ากัน

จนมาถึงเหตุการณ์ล่าสุด เมื่อวันที่ (1 ก.พ.2567) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกประกาศเพิกถอนหลักทรัพย์ของ POMPUI จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน และจะเปิดให้ซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราวระหว่างวันที่12- 20 ก.พ. 2567 โดยให้ซื้อด้วยบัญชี Cash Balance ซึ่งสาเหตุเกิดมาจากการที่ POMPUI ไม่มีคุณสมบัตรตามที่ตลาดหลักทรัยพ์กำหนด หลังจากงบการเงินของบริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าศูนย์ และผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินประจำปี 2547 – 2549

ต่อมาถึงแม้ว่า POMPUI จะกลับมามีส่วนของผู้ถือหุ้นมากกว่าศูนย์ได้ และผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นต่องบการเงินแต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการให้มีคุณสมบัติเพื่อกลับมาซื้อขายได้ตามหลักเกณฑ์และภายในระยะเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด จึงต้องถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567

ถึงแม้ POMPUI จะถูกถอดออกจากตลาดหุ้นไปแล้ว แต่บริษัทยังสามารถดำเนินกิจการได้ต่อ แต่อาจจะทำให้ความเชื่อมั่นระหว่างคู่ค้าอาจน้อยลง และทำให้ POMPUI จัดหาแหล่งเงินทุนเสริมสภาพคล่อง หรือขยายธุรกิจได้ยากขึ้นกว่าการอยู่ในตลาดหุ้น โดยข้อมูล ณ ไตรมาส 3/2566 พบว่า POMPUI มีส่วนของผู้ถือหุ้น 130.50 ล้านบาท และมีขาดทุนสะสม 468.61 ล้านบาท ขณะที่มีสินทรัพย์ 819.24 ล้านบาท และหนี้สิน 688.74 ล้านบาท โดยปัจจุบัน POMPUI มี คุณสุธรรม โตทับเที่ยง เป็นประธานกรรมการ และน้องสาว คุณศิริพร โตทับเที่ยง เป็นประธานกรรมการบริหาร, กรรมการผู้จัดการ, กรรมการ

ที่มา : SET , corpusx , เว็บไซต์บริษัท

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ในช่องทางอื่นๆ ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #Business #ปลากระป๋อง #ปลากระป๋องปุ้มปุ้ย #ปุ้มปุ้ย #ปุ้มปุ้ยปลายิ้ม