เศรษฐา

รัฐบาล ‘เศรษฐา’ อาจขึ้นชื่อว่า
ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ที่ต้นทุนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย!

ภายหลังจากประเทศไทยได้มีรัฐบาลชุดใหม่ และมีผู้นำคือ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยจากพรรคเพื่อไทย ก็ได้มีการนำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้านต่างๆ มาวิเคราะห์มากมาย โดยเฉพาะ 3 นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลาย นั่นคือ นโยบายเติมเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ในกระเป๋าคนไทยที่มีอายุเกิน 16 ปีขึ้นไปจำนวน 55-56 ล้านคน ในวงเงินคนละ 10,000 บาท , การปรับลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ทั้งค่าไฟฟ้า และน้ำมัน , พักหนี้เกษตรกร 3 ปี และช่วยเหลือ SMEs ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

โดย ‘Business+’ มองว่า หากรัฐบายทำทั้ง 3 นโยบายพร้อมๆ กันจะต้องใช้งบประมาณมหาศาล ซึ่งหากเรามองเพียงแค่ 1 นโยบายซึ่งถูกถกเถียงกันอย่างมากทั้งนักวิเคราะห์ นักการเงิน และนักเศรษฐศาสตร์ คือ ‘เติมเงินดิจิทัล’ ที่จะเริ่มในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2567 เราพบว่าจำนวนเงินที่จะต้องใช้ราว 560,000 ล้านบาท แน่นอนว่าจำนวนเงินที่มากขนาดนี้ก็จะอาจจะกระทบต่อสภาพคล่องของเงินในคลังได้

ซึ่งทางรัฐบาลได้ชี้แจงว่าได้มีการประเมินผลกระทบร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยทั้งระยะกลางและระยะยาว ซึ่งมองไปถึงภาพรวมเครดิตเรตติ้ง และการเข้าลงทุนของนักลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งมองเห็นว่าคุ้มค่า เพราะการแจกเงินดิจิทัล 560,000 ล้านบาท จะช่วยกระตุ้น GDP ปี 2567 ให้ขยายตัวได้ถึง 5% จากการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจหลายรอบ

ด้าน ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ออกมาแถลงว่า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 3-4% เม็ดเงิน 560,000 ล้านบาท จะหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ 2-3 รอบ ก่อให้เกิดมูลค่าถึง 1.5 ล้านล้านบาท ส่วนความเห็นของ ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีคลัง ก็ประเมินว่า เงินก้อนนี้จะก่อให้เกิดรายได้ภาษีกว่า 100,000 ล้านบาท ตามที่คาดการณ์เอาไว้

ดูเหมือนว่าความเห็นจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งในส่วนของศูนย์วิจัย ธนาคารแห่งประเทศไทย และการคลัง อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกความเห็นที่เราให้ความสนใจ นั่นคือ บทวิเคราะห์จาก KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจเกียรตินาคินภัทร ซึ่งได้มองว่า นโยบายเหล่านี้อาจไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้ เพราะช่วยเศรษฐกิจได้เพียงระยะสั้น และกระตุ้น GDP ได้เพียง 1% เท่านั้น จึงถือว่าเป็นการใช้ต้นทุนที่สูงเป็นประวัติศาสตร์เลยทีเดียว

โดย KKP Research วิเคราะห์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งการแจกเงิน การอุดหนุนราคาพลังงาน และการพักหนี้ ที่มีต้นทุนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์อาจมีความไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นนโยบายแจกเงินแบบเหวี่ยงแหท่ามกลางข้อจำกัดด้านการคลังและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ความไม่คุ้มค่าในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ผลได้ผลเสียที่มีต่อนโยบายในระยะยาว เพราะการใช้ทรัพยากรทางการคลังที่เน้นผลระยะสั้นและมีต้นทุนสูงจะสร้างข้อจำกัด ความเสี่ยงทางการคลังและเศรษฐกิจ อีกทั้งอาจสร้างผลกระทบในทางลบ เช่น การบั่นทอนวินัยทางการเงินและการต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐ และผลกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งจะกระทบต่อเสถียรภาพของอัตราดอกเบี้ยและค่าเงินบาทได้ ด้วยข้อจำกัดและความเสี่ยงทางการคลังที่จะมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ทรัพยากรมีเหลืออยู่น้อยลงในการจัดการกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญกว่าต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

ซึ่งการทำนโยบายเศรษฐกิจกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นในอดีตจะเป็นช่วงที่ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากแรงหนุน (tailwinds) จากปัจจัยภายนอก เช่น การฟื้นตัวหลังของเศรษฐกิจโลกหลังวิกฤตเศรษฐกิจ การอ่อนค่าของค่าเงินบาทหลังวิกฤตปี 2540 ที่ช่วยสนับสนุนการส่งออก วัฏจักรราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับขึ้นส่งผลต่อรายได้ในภาคเกษตร ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดี และอาจทำให้ดูเหมือนว่านโยบายระยะสั้นที่ทำในช่วงเวลานั้นเป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จอย่างดี ขณะที่ข้อจำกัดด้านด้านการคลังและต้นทุนต่อเศรษฐกิจไทยในอดีตอาจจะไม่ได้สูงมาก

ขณะที่ปัจจุบันปัจจัยที่เคยเป็นแรงหนุน (tailwinds) กลับกลายเป็นแรงต้าน (headwinds) ต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นกว่าเดิม การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหลายด้านจากทั้งภายนอกประเทศและภายในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยยากที่จะกลับไปเติบโตในระดับสูงเหมือนก่อน อาจทำให้การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นภายใต้สถานการณ์แบบปัจจุบันจะส่งผลให้ทั้งประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจลดน้อยลง และมีต้นทุนต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่าในอดีตอย่างมาก ซึ่งสะท้อนจากหลายประเด็น คือ

1) เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งเกิดจากปัญหาเรื่องโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขัน มากกว่าปัญหาด้านอุปสงค์ สังเกตได้จากเศรษฐกิจไทยไม่ได้เพิ่งชะลอตัวในช่วงนี้ แต่มีแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัวลงมาเรื่อยๆ

2) วัฏจักรเศรษฐกิจโลก สินเชื่อในประเทศที่ชะลอตัว และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไทยกำลังเจอแรงต้านที่สำคัญ

3) ข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจของไทยมีมากขึ้นในปัจจุบัน ทั้งด้านต่างประเทศที่ดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับต่ำลงและด้านการคลังที่หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นมากจึงเป็นความเสี่ยงต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรและค่าเงินบาท ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจไม่สามารถแก้ได้ด้วยเพียงการกระตุ้นอุปสงค์ผ่านการแจกเงิน

“KKP Research ประเมินว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดที่รัฐบาลใหม่กำลังจะดำเนินการจะช่วยกระตุ้น GDP เพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 1% จากต้นทุนด้านงบประมาณที่ต้องใช้สูงถึงกว่า 3.6% ของ GDP หรือคิดเป็น 18% ของวงเงินงบประมาณเดิม การขาดดุลการคลังต่อปีที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐและต้นทุนอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจทำให้หนี้สาธารณะแตะกรอบบนที่ 70% ได้เร็วขึ้นภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี” เอกสารเผยแพร่ ระบุ

นอกจากนี้ยังมีความกังวลผลกระทบทางอ้อมซึ่งไม่ได้มีเฉพาะต้นทุนทางการคลัง แต่จะยังส่งผลต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินในอีกหลายมิติ ซึ่งเริ่มสะท้อนผ่านตลาดการเงินในช่วงที่ผ่านมา คือ

1) การใช้จ่ายภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากและการตรึงราคาสินค้าในประเทศ จะทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดภาวะ Twin deficits หรือขาดดุลการคลังพร้อมกับการดุลบัญชีเดินสะพัด ความกังวลของนักลงทุนส่วนหนึ่งสะท้อนในการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในประเทศและการปรับตัวอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา

2) การขาดดุลของภาครัฐ ภาระจากมาตรการกึ่งการคลังที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และความกังวลต่อวินัยทางการคลังของรัฐ เพิ่มความเสี่ยงให้รัฐบาลไทยอาจถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลง ภาระทางการคลังที่มากขึ้นหมายความว่าความจำเป็นต้องมีการกู้เงินเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งทำให้สภาพคล่องในตลาดที่ตึงตัวจะทำให้ต้นทุนทางการเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยทั้งในตลาดพันธบัตรและในธนาคารปรับตัวสูงขึ้น เกิดปัญหา Crowding out effect การลงทุนภาคเอกชนลดลง และความเสี่ยงสำคัญที่ตามมา คือ ประเทศไทยอาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง

3) ต้นทุนสำคัญที่สุด คือต้นทุนค่าเสียโอกาสในการนำเงินไปใช้เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจไทยเชิงโครงสร้างในระยะยาว การใช้จ่ายในจำนวนเงินมากถึง 560,000 ล้านบาท จะทำให้รัฐบาลไทยมีต้นทุนค่าเสียโอกาสในการนำเงินไปใช้ลงทุนในโครงการอื่นๆ ที่เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ดังนั้น นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เน้นเฉพาะการกระตุ้นอุปสงค์ระยะสั้นอาจเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด โดยเฉพาะการแจกเงินให้กับคนทั้งประเทศซึ่งอาจไม่มีความจำเป็นและสร้างภาระต้นทุนภาครัฐที่สูงจนเกินไป ขณะที่ขาดนโยบายระยะยาวด้านการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่เป็นปัญหาอุปสรรคมากกว่าต่อเศรษฐกิจไทย การทำนโยบายเศรษฐกิจไม่ได้มีเฉพาะการแจกเงิน

ซึ่ง 2 แนวทางที่ KKP Research แนะนำภาครัฐควรพิจารณาดำเนินการในปัจจุบัน คือ การใช้มาตรการให้ความช่วยเหลือแบบเฉพาะกลุ่ม (targeted measures) ที่มีความเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจและรายได้ที่ชะลอตัว ซึ่งจะเหมาะสมมากกว่ากับบริบทของเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวแล้วแต่ยังไม่ทั่วถึง หรือมีมาตรการในการคัดกรองผู้รับความช่วยเหลือ ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนในการดำเนินนโยบายได้มากและมีประสิทธิผลคุ้มค่ากว่าแจกถ้วนหน้าแบบไม่เจาะจง

นอกจากนี้นโยบายภาครัฐจำเป็นที่จะต้องมุ่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาวฝั่งอุปทานของเศรษฐกิจไทย โดยควรให้ความสำคัญกับนโยบายที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในระยะยาว เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ลดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นและสร้างต้นทุนต่อการทำธุรกิจ ลดการคอร์รัปชันและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของภาครัฐ ปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะแรงงานและสร้างทรัพยกรบุคคลที่มีคุณภาพ สร้างแรงจูงใจในการจัดสรรทรัพยากรจากภาคเศรษฐกิจที่อยู่ในโลกเก่าไปสู่โลกใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น

เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ที่มา : KKP Research , หอการค้าไทย
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS