เศรษฐกิจ

ส่อง 3 นโยบายภาครัฐ ที่จะช่วยบูสต์เศรษฐกิจยาวถึงปีหน้า

จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปี 66 มีแนวโน้มชะลอตัวลง หลังชาติมหาอำนาจอย่างจีน ยุโรป มีการฟื้นตัวช้า ส่วนสหรัฐอเมริกายังคงทรงตัว อีกทั้งจากภาวะเงินตึงตัวจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มจะสูงต่อเนื่องเข้ามาลดทอนอุปสงค์ และกดดันการค้าโลก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจจะส่งผลให้การส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้เกิดการติดลบ เนื่องจากต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคจากการที่จีนเข้ามาทำการค้าในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยตั้งราคาที่ถูกกว่าทำให้ส่งออกไทยต้องเผชิญอุปสรรคมากขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกของไทยหดตัวต่อเนื่อง 10 เดือนติดต่อกันนับตั้งแต่เดือน ต.ค.65

โดยจากสภาวะที่เศรษฐกิจมีการชะลอตัวไม่เพียงกระทบแค่ภาคการส่งออกเท่านั้น แต่กระทบถึงภาคอุตสาหกรรมการผลิตด้วย ซึ่งผู้ประกอบการจะชะลอแผนขยายการผลิตออกไปเพื่อให้สามารถดำเดินธุรกิจต่อไปได้ เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด โดยใจความสำคัญหลักก็คือ ‘เงินลงทุน’ ที่เมื่อลงทุนไปแล้วต้องไม่เกิดการจมทุน และยังต้องรักษากระแสเงินสดไว้ให้ได้มากที่สุด

ซึ่งจากหลาย ๆ ปัจจัยทำให้หลายสถาบันได้ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปี 66 ดังนี้ ธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับลดประมาณการ GDP ไทยปี 66 เหลือโต 3.4% จากเดิมเคยคาดไว้ที่ 3.9% มีสาเหตุมาจากภาคการส่งออกหดตัวกดดัน ขณะที่ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ปรับลดลงสู่ 3% จากเดิม 3.4% เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอ่อนแรงลง และภาคการส่งออกอาจติดลบ ส่วนศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 3% จากเดิม 3.6% มีสาเหตุมาจาก GDP ไตรมาส 2/66 ชะลอตัวกว่าที่คาด, มูลค่าการส่งออกยังต่ำกว่าเป้าหมาย นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณปี 67 รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงจากปรากฎการณ์เอลนีโญด้วย

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญความกดดันหลายด้าน ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องมีการแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงต้องชะลอแผนการลงทุนออกไป เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ ขณะที่ทางภาครัฐก็มีความพยายามที่จะประคองเศรษฐกิจไม่ให้ถดถอย โดยได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปลายปีนี้ไปจนถึงปีหน้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เศรษฐกิจ

โดยนโยบายที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและผลักดันการขยายตัวของ GDP ให้เพิ่มขึ้นมีด้วยกัน 3 นโยบาย ได้แก่

นโยบาย Free Visa

สำหรับนโยบายนี้ไทยมีเป้าหมายหลักเป็นนักท่องเที่ยวสัญชาติจีน โดยได้ยกเว้นวีซ่าให้ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย.66 ถึง 29 ก.พ.67 เป็นระยะเวลา 5 เดือน เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งจากผลการสำรวจภายหลังประกาศใช้มาตรการนี้ มียอดผู้เข้าชมเว็บไซต์เพื่อท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และมียอดจองเฉพาะในเดือนต.ค. เข้ามาแล้วกว่า 650,000 คน การค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวของไทยในเว็บไซต์ Trip.com เพิ่มขึ้น 800%

โดยอ้างอิงข้อมูลจาก Krungthai COMPASS ระบุว่า นโยบายนี้คาดจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 5 แสนคนในปีนี้ และ 4 แสนคนในปีหน้า ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ถึง 4.5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 0.2% ของ GDP

นโยบายลดราคาพลังงาน

ทางภาครัฐได้ปรับลดอัตราค่าไฟฟ้างวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 66 จาก 4.45 บาท/หน่วย ลดลงเหลือ 3.99 บาท/หน่วย อีกทั้งยังได้ลดราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 30 บาท/ลิตร เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของภาคครัวเรือน และช่วยลดต้นทุนในภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้เมื่อราคาพลังงานมีการปรับลดลงค่าใช้จ่ายที่ต้องแบ่งมาจ่ายในส่วนนี้ก็อาจจะถูกนำไปใช้ในส่วนอื่นแทน ซึ่งก็จะทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล

มาตรการนี้ทางภาครัฐต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนในปี 67 ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล มูลค่าประมาณ 5.6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3.2% ของ GDP โดยจะแจกเงินให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท ใช้จ่ายได้ภายใน 6 เดือน แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายในรัศมี 4 กิโลเมตรตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน ซึ่งนโยบายนี้ภาครัฐมีความคาดหวังที่จะกระจายรายได้สู่ชุมชน

สำหรับทั้ง 3 นโยบายที่ทางภาครัฐได้มีการทำออกมา อาจเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแค่เพียงระยะสั้นเท่านั้น เพื่อให้เม็ดเงินไหลเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และผลักดันให้ GDP ขยายตัว ซึ่งเมื่อมีการเติบโตการลงทุนก็จะเพิ่มเข้ามาตามวัฏจักรของความน่าสนใจในประเทศ แต่ในอีกมุมนึงนโยบายที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักวิเคราะห์ก็คือนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ที่อาจจะทำให้เงินเฟ้อพุ่ง รวมถึงรัฐจะขาดดุลและสร้างหนี้เสียมากขึ้น

.

ที่มา : Krungthai COMPASS, IQ

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

.

#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #กระเป๋าเงินดิจิทัล #ฟรีวีซ่า #เศรษฐกิจ #กระตุ้นเศรษฐกิจ #GDP #เศรษฐกิจโลก