Plastic

กำไรบริษัท ‘พลาสติก’ เปลี่ยนแปลงอย่างไร หลังไทยใช้มาตรการลดใช้ถุงครบ 3 ปี

อุตสาหกรรมพลาสติกเป็น 1 ใน 6 อุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศไทย โดยในปี 2565 บริษัทผู้ผลิตถุงพลาสติกในประเทศไทยสามารถผลิตออกสู่ตลาดโลกได้มากถึง 9.5 ล้านตันคิดเป็นสัดส่วน 2.64% จากอุตสาหกรรมพลาสติกทั่วโลกที่มีการผลิตพลาสติกทั้งหมด 360 ล้านตัน ดังนั้น อุตสาหกรรมนี้จึงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมพลาสติกทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเอง ยังมีประเด็นที่จะต้องได้รับผลกระทบหากไม่พัฒนาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป นั่นคือ ทั่วโลกกำลังรณรงค์ให้ลดใช้ถุงพลาสติก เพราะถุงพลาสติกเป็นปัญหาหลักของภาวะโลกร้อน ซึ่งประเทศไทยก็ได้มีการนำมาตรการลดใช้ถุง และให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับผู้ประกอบการมาใช้อย่างจริงจังด้วยการงดแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากร้านค้าปลีกขนาดใหญ่อย่างเป็นทางการในปี 2563

โดยรัฐบาลชุดเก่าได้กำหนด Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ คือ

  1. การลดและเลิกใช้พลาสติกเป้าหมายด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  2. การนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570

โดยเราพบข้อมูลว่าในปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถลดใช้ถุงพลาสติกในประเทศได้กว่า 148,669 ตัน ภายในระยะเวลา 3 ปี หรือลดลงถึง 43% แน่นอนว่า ตัวเลขการใช้ถุงที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญนี้จะมีผู้ได้รับผลกระทบ นั่นก็คือ ผู้ผลิตและจำหน่ายพลาสติก เพราะมาตรการนี้จะทำให้ความต้องการในตลาดลดน้อยลง โดยเฉพาะกับถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียว เพราะทางภาครัฐได้สนับสนุนผู้ประกอบการลดปริมาณการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ยาก

ซึ่งมาตรการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนมาใช้เม็ดพลาสติกชีวภาพเพื่อการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ โดยบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายค่าซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพตามประเภทที่กำหนดและได้รับใบรับรองผลิตภัณฑ์ จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมาหักเป็นรายจ่ายได้เพิ่มอีก 25% สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2567 ซึ่งมาตรการทางภาษีนี้เป็นส่วนสำคัญในการลดใช้พลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ทางชีวภาพได้อย่างมาก และจะต้องกระทบต่อยอดขายของผู้ผลิตพลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกใช้ครั้งเดียวที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตามจากการสำรวจข้อมูลของ ‘Businesss+’ กลับเห็นว่า ผลประกอบการของบริษัทเหล่านี้ตั้งแต่ก่อนใช้มาตรการดังกล่าว (ปี 2562) กับปีที่ผ่านมา (ปี 2565) กลับเป็นไปในทิศทางที่สวนทางกัน

โดยผลประกอบการของผู้ผลิตรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ กลับมีทิศทางการเติบโตที่ดีขึ้น ดังนี้

Plastic

จะเห็นได้ว่าทั้ง 4 บริษัทมีผลประกอบการที่เติบโตได้ดีในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา มีเพียงแค่ บริษัท ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) จำกัด (มหาชน) หรือ TPLAS ที่กำไรสุทธิลดลง

ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบเกิดจากการปรับเปลี่ยนการผลิตหันมาผลิตพลาสติกรีไซเคิลมากขึ้น ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการภาครัฐ รวมไปถึงตามความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม หลังจากไทยเริ่มใช้มาตรการลดใช้ถุงพลาสติกตั้งแต่ 1 ม.ค.63 และส่งเสริมใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ด้วยการให้สิทธิ์พิเศษกับบริษัทที่ซื้อพลาสติกย่อยสลายได้สามารถนำรายจ่ายค่าซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายมาหักเป็นรายจ่ายได้เพิ่ม 25% (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค 65 ถึง 31 ธ.ค.67)

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผลประกอบการของกลุ่มบริษัทที่ทำพลาสติกปรับตัวดีขึ้น คือความต้องการบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทกล่องใส่อาหารเพิ่มสูงขึ้นในช่วง COVID-19 เนื่องจากผู้บริโภคในยุควิถีใหม่ (New Normal) นิยมสั่งอาหารแบบจัดส่งถึงที่ (Delivery) หรือซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่บ้านมากขึ้น

โดยส่วนใหญ่พบว่ายอดขายตลาดภายในประเทศได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากเกิดการระบาด โดยผลิตภัณฑ์ที่เติบโตได้ดีเป็นกลุ่มถุงขยะรีไซเคิล ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยได้หันมาผลิตภาชนะที่สามารถใช้ซ้ำได้ หรือสามารถย่อยสลายได้ เช่น ภาชนะชานอ้อย ซึ่งถือเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่จะมีราคาสูงกว่าพลาสติกมาก และ กาบหมากที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

นอกจากนี้แล้วแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมพลาสติกนั้น ‘ttb analytics’ คาดการณ์ว่าในปี 2566 มูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์รวมในประเทศไทยจะเติบโต 4% อยู่ที่ 6.69 แสนล้านบาท โดยบรรจุภัณฑ์กระดาษเติบโตสูงสุด เติบโตรองลงมาเป็นบรรจุภัณฑ์โลหะ และบรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งเกิดจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ส่งผลทำให้การค้าขายดีขึ้น

ถึงแม้ว่าภาพรวมอุตสาหกรรมพลาสติกกำลังเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งการปรับตัวของผู้ผลิต และกำลังซื้อที่ฟื้นขึ้น แต่อีก 2 ปัจจัยที่ท้าทายของผู้ประกอบการคือประเด็นการเก็บภาษีพลาสติก ซึ่ง ‘Business+’ ได้เคยกล่าวถึงไปแล้วใน Content ‘https://www.thebusinessplus.com/plastic/‘ ซึ่งนับว่ายังเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในเวลานี้ และยังมีประเด็นเรื่องของต้นทุนของการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งกระทบทั้งต้นทุนขนส่ง และต้นทุนวัตถุดิบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องใช้กลยุทธ์ในการบริหารห่วงโซ่อุปทาน และการลดต้นทุน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น

ที่มา : SET , BOT

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #Business #SET #พลาสติก #มาตรการลดใช้ถุง