Plastic

‘ภาษีพลาสติก’ ปัญหาใหญ่ที่ไทยกำลังจะเจอจากการเป็นฐานการผลิตอันดับต้นๆ ของโลก

‘ภาษีพลาสติก’ (Plastic Tax) ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมือของภาครัฐเพื่อควบคุมการใช้พลาสติกในประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งหลักการเก็บภาษีนั้น มีแนวคิดเดียวกันกับ ‘ภาษีคาร์บอน’ (Carbon Tax) ที่เราคุ้นเคยกัน นั่นคือ เป็นมาตรการทางภาษีที่รัฐบาลเรียกเก็บจากผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือประเทศสมาชิกที่ผลิต นำเข้า หรือใช้ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์พลาสติก (แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและย่อยสลายยาก ไม่รวมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มาจากการรีไซเคิล)

โดยการจัดเก็บภาษีพลาสติกจะทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้น (เพราะต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น) ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ผู้ผลิตอาจผลักภาระไปให้ผู้บริโภคด้วยการขึ้นราคาสินค้าต่อหน่วย และราคาที่สูงขึ้นนี้ก็ทำให้ผู้บริโภคเลือกเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (จากค่านิยมของคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจ่ายแพงขึ้นกับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) หรือหากผู้ผลิตเลือกที่จะไม่ผลักภาระให้ผู้บริโภค ก็อาจจะเลือกผลิตสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้หรือบรรจุภัณฑ์ที่นำมาใช้ซ้ำแทนแทน

ซึ่งผลของการเก็บภาษีพลาสติก คือ ทำให้ปริมาณขยะพลาสติกลดลงเป็นไปตามนโยบายลดภาวะโลกร้อนของประชาคมโลก ในขณะที่ประเทศที่ภาครัฐเลือกนำวิธีจัดเก็บภาษีพลาสติกก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย แต่หากเรามองในมุมของประเทศผู้ผลิตพลาสติกรายใหญ่แล้ว จะต้องมีการปรับตัวอย่างเร่งด่วน เพราะการเก็บภาษีพลาสติกนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบต่อผู้ประกอบการ และเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก โดยเฉพาะกับประเทศไทย เพราะไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตพลาสติกที่สำคัญของโลก โดยในช่วงที่ผ่านมามีมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมโดยรวมมากถึง 1 ล้านล้านบาท

โดย ‘Business+’ พบข้อมูลว่า อุตสาหกรรมพลาสติกทั่วโลกในปี 2565 มีการผลิตพลาสติกทั้งหมด 360 ล้านตัน โดยประเทศไทยสามารถผลิตได้มาถึง 9.5 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 2.64% ของโลก นอกจากนี้ทวีปเอเชียยังเป็นภูมิภาคที่มีการผลิตพลาสติกสูงสุดคิดเป็นสัดส่วนถึง 51% ของการผลิตพลาสติกทั่วโลกอีกด้วย

ถึงแม้ว่า มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกของไทยในปี 2565 จะมีการขยายตัว 12.88% จากปีก่อนหน้า แต่ก็ต้องบอกว่าไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่นี้ในอนาคตเพราะหลายประเทศได้มีแนวคิดที่จะเริ่มนำโมเดลนี้มาใช้กันมากขึ้น โดยในปัจจุบันสหภาพยุโรป หรือ อียู ที่ได้เริ่มจัดเก็บภาษีพลาสติกตั้งแต่ต้นปี 2564 โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องจ่ายภาษีให้กับอียู ซึ่งคำนวณจากปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว ในอัตรา 0.8 ยูโรต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศสามารถออกมาตรการภาษีพลาสติกของตนเองแตกต่างกันออกไป อย่าง อิตาลีและสเปนเก็บภาษีพลาสติกจากผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้ซื้อ ซัพพลายเออร์ และผู้นำเข้า 0.45 ยูโรต่อกิโลกรัม ส่วน โปรตุเกสจะเริ่มเก็บภาษีพลาสติก 0.30 ยูโรต่อกิโลกรัม

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งประเทศนั่นคือ สาธารณรัฐโคลอมเบีย ซึ่งเป็นประเทศในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ที่ได้นำแนวคิดนี้มาใช้ และได้เริ่มออกมาตรการหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์พลาสติกตั้งแต่ปี 2559 โดยจัดเก็บภาษีคิดเป็นมูลค่า 20 เปโซโคลอมเบียต่อถุงพลาสติก 1 ใบที่มีขนาดใหญ่ หรือจัดเก็บภาษีในอัตราดังกล่าวกับห้างร้านที่มีรายได้เกินกว่า 104 ล้านเปโซโคลอมเบีย และทางรัฐบาลได้เพิ่มอัตราการจัดเก็บที่มูลค่า 10 เปโซโคลอมเบียทุกปีต่อเนื่องจนถึงปี 2563 โดยจัดเก็บตามอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ปี 2564 มีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 51 เปโซโคลอมเบีย และปี 2565 มีการจัดเก็บ 53 เปโซโคลอมเบีย ขณะที่ในปี 2566 มีการจัดเป็บภาษีที่ 60 เปโซโคลอมเบีย

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติกที่ได้รับการยกเว้นการเก็บภาษีดังกล่าว อาทิ ถุงพลาสติกที่ใช้ในการบรรจุผักและผลไม้ก่อนวางจำหน่าย  ถุงพลาสติกที่ไม่มีการจัดจำหน่าย  (เช่น ถุงขยะ ถุงพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติและเป็นไปตามมาตรฐานที่รัฐบาลกำหนด)

และยังได้ออกกฎหมายเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกมา หลังจากเคยประกาศนำกฏหมายนี้มาใช้เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566) โดยกฏหมายเพิ่มเติมนี้ ได้ปรับปรุงโครงสร้างด้านการเก็บภาษีให้ครอบคลุมถึงการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  การเก็บภาษีจากเงินปันผล  การเก็บภาษีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (หรือภาษีสีเขียว) และยังได้ออกกฎหมายเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับสินค้าพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว นอกจากนี้ รัฐบาลได้กำหนดบทลงโทษหากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าฯ ไม่สำแดงรายการหรือหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี โดยจะต้องจ่ายค่าปรับเพิ่มในอัตรา20% ของมูลค่าภาษีที่ต้องจ่ายจริง

ด่านหินอุตสาหกรรมพลาสติกไทย

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติกของไทยนั้น ‘สถาบันพลาสติก’ ประเมินว่า ในปี 2566 การส่งออกทั้งผลิตภัณฑ์พลาสติกและเรซิ่นจะขยายตัวประมาณ 3-5% เนื่องจากอุตสาหกรรมพลาสติกยังเป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมปลายทาง เช่น บรรจุภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การก่อสร้าง อุปกรณ์ทางการแพทย์

แต่หากพูดถึงในระยะยาวแล้ว ทางผู้ผลิตพลาสติกของไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความต้องการการใช้พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยความยั่งยืน ยกตัวอย่างประเทศโคลอมเบียที่มีแผนในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับการผลิต และใช้สินค้าเกษตรกรรมในประเทศเป็นวัตถุดิบในการผลิตบรรจุภัณฑ์และภาชนะต่าง ๆ เช่น มันสำปะหลัง มันฝรั่ง กาแฟ อะโวคาโด

เพราะปัจจุบันนี้ ผู้บริโภคต่างให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยจากผลการสำรวจความเห็นของผู้บริโภคชาวโคลอมเบีย เกี่ยวกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม โดย Boston Consulting Group (BCG) พบว่ากว่า 76% ของผู้ตอบแบบสำรวจยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นประมาณ 5-10% สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ซึ่งหากเรามองจากสถานการณ์ปัจจุบันนั้นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติกของไทยประมาณ 87% เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) และ 13% เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ เพราะอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกเป็นอุตสาหกรรมที่เข้าสู่ธุรกิจได้ง่าย เพราะใช้เงินลงทุนไม่มาก และเทคโนโลยีการแปรรูปเป็นขั้นพื้นฐานไม่ได้เป็นเทคโนโลยีระดับสูง แต่ภาวะการแข่งขันของธุรกิจก็รุนแรงและมีอัตรากำไรต่อหน่วย (Margin) ต่ำ ดังนั้น หากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากการเก็บภาษีจากประเทศคู่ค้า ก็จะยิ่งทำให้กำไรต่อหน่วยลดน้อยลงไปอีก ทางผู้ผลิตจึงต้องเร่งปรับตัวด้วยการหันมาผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือใช้เทคโนโลยีใหม่ๆที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงได้ ก็จะต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่นี้อย่างแน่นอน

ที่มา : DIPT , tradereport

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #Business #ภาษีพลาสติก #plastic #PlasticTax