รู้จัก ‘สถาบันการเงินชุมชน’ กับกรณีศึกษาการบริหารงานที่ล้มเหลว จากประเด็น “ยายถอนเงินไม่ได้เพราะเงินหมด”

ช่วง 2-3 วันนี้ เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงได้เห็นข่าวของคุณยายท่านหนึ่งที่ได้ทำการฝากเงินไว้กับ ‘สถาบันการเงินชุมชน’ ไว้เป็นเวลานานนับสิบปีจนมีเงินฝากหลักแสนบาท แต่เมื่อต้องการจะถอนเงินมาใช้ในการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านจำนวน 50,000 บาทกลับไม่สามารถทำได้ เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินดังกล่าวแจ้งว่า “เงินหมด” ซึ่งในเวลาต่อมาทางสถาบันการเงินที่เป็นประเด็นได้ออกมาชี้แจงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่าสาเหตุที่ไม่สามารถทำการเบิกถอนให้กับคุณยายได้ เนื่องจากเงินหมดจริงดังที่ได้แจ้งคุณยายไป เนื่องจากขาดเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งเป็นผลมาจากลูกหนี้ที่ได้ทำการกู้เงินไปไม่ชำระหนี้คืน พร้อมระบุเพิ่มเติมว่าลูกหนี้บางรายมีการค้างส่งนาน 2-3 ปี เนื่องจากประสบปัญหาจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้คืนให้กับสถาบันการเงินชุมชนแห่งนี้ได้ตามกำหนด

ต่อเรื่องนี้ Business+ จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ ‘สถาบันการเงินชุมชน’ โดยลงลึกไปถึงบทบาทหน้าที่ทั้งในส่วนของตัวสถานบันการเงินและผู้ดูแลสถาบันการเงิน เพื่อให้ได้เห็นถึงประเด็นปัญหาที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสาเหตุที่นำมาซึ่งความผิดพลาดในการบริหารงานของสถาบันที่เป็นประเด็น

สถาบันการเงินชุมชน คืออะไร?
สถาบันการเงินชุมชน เป็นสถาบันการเงินที่จัดขึ้นโดยกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อให้บริการทางการเงินที่สามารถตอบสนองความต้องการแก่ประชาชนในชุมชนซึ่งขาดโอกาสในการเข้าถึง และใช้บริการทางการเงินของสถาบันการเงินทั่วไป ตามวัตถุประสงค์ หลักเกณฑ์ มาตรฐาน และรูปแบบ ซึ่งคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติกำหนด

วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชน ได้แก่

  1. แหล่งเก็บออมเงินที่มีความมั่นคง ปลอดภัย และมีผลตอบแทนที่เหมาะสม
  2. แหล่งเงินทุน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและบรรเทาความเดือดร้อนทั้งในระดับบุคคล ครัวเรือน และชุมชน
  3. เสริมสร้างสวัสดิการ และสวัสดิภาพของชุมชน
  4. เสริมสร้างวินัยทางการเงิน และให้คำปรึกษาทางการเงินแก่ชุมชน
  5. เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ร่วมกันในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน

สำหรับแหล่งที่มาของเงินทุนของสถาบันการเงินชุมชน ได้แก่ เงินรับฝาก, เงินจัดสรรจากรัฐ, การถือหุ้น, เงินกู้ยืม

โดยสถาบันการเงินให้บริการธุรกรรมต่าง ๆ ได้แก่ รับฝาก/ถอนเงิน, ให้สินเชื่อ, ลงทุนร่วมกับองค์กรการเงินอื่น, ลงทุนหาผลประโยชน์อื่นที่ไม่ขัด พรบ. กองทุน

ทั้งนี้ หากดูจากข้อมูลเหล่านี้ การมีอยู่ของสถาบันการเงินชุมชนก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ดีต่อประชาชนในพื้นที่ เพราะนอกจากจะสามารถทำธุรกรรมฝาก-ถอนเงินได้โดยไม่ต้องเดินทางไกล เนื่องจากสถาบันการเงินชุมชนมักอยู่ใกล้กับแหล่งชุมชนมากกว่าสถาบันการเงินอื่น ๆ อาทิ ธนาคารต่าง ๆ ที่มักอยู่ไกลออกไปจากที่พักอาศัยของประชาชน ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินเท่ากับการใช้บริการจากสถาบันการเงินชุมชนที่มีความใกล้ชิดกับชุมชนมากกว่า นอกจากนี้ชาวชุมชนยังมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นอีกด้วย

แล้วเกิดอะไรขึ้นกับสถาบันการเงินชุมชนที่เป็นประเด็นกันล่ะ? โดยหากลงลึกไปถึงรายละเอียดของสถาบันการเงินชุมชนที่ปรากฏในข่าว พบว่าสถาบันการเงินชุมชนแห่งนี้มีปัญหาด้านการเงินอยู่ในขั้นวิกฤติ เนื่องจากไม่ได้มีเพียงแค่กรณีของคุณยายที่ต้องการเบิกเงินไปซ่อมแซมบ้านแต่ทางสถาบันการเงินแห่งนี้ไม่สามารถให้เบิกได้ด้วยเหตุผลว่า “เงินหมด” เพราะเมื่อมีข่าวของคุณยายออกมา ก็ได้มีชาวบ้านรายอื่น ๆ ออกมาเปิดเผยถึงปัญหาการเบิกเงินของตัวเองที่ประสบปัญหาเดียวกับคุณยายเช่นกัน ซึ่งทางสถาบันการเงินชุมชนแห่งนี้ได้ออกมายอมรับในภายหลังว่าขณะนี้ทางสถาบันฯกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดสภาพคล่อง เนื่องจากปัจจุบันทางสถาบันฯมียอดเงินฝากจากสมาชิกเป็นจำนวนรวมประมาณ 14 ล้านบาท และมียอดหนี้รวมกว่า 19 ล้านบาท จากลูกหนี้จำนวน 413 ราย อย่างไรก็ดี ทางสถาบันฯเผชิญกับปัญหาการไม่ชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยลูกหนี้บางรายมีการค้างส่งนาน 2-3 ปี เนื่องจากประสบปัญหาจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ เป็นเหตุให้ทางสถาบันฯประสบปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียน จึงไม่สามารถทำการเบิกถอนเงินให้กับสมาชิกดังที่ปรากฏในข่าว

ทั้งนี้ หากจะกล่าวว่าเรื่องราวของสถาบันการเงินชุมชนแห่งนี้สามารถนำมาเป็นกรณีศึกษาได้เป็นอย่างดีในแง่ของการบริหารงานที่ล้มเหลวคงไม่ผิดนัก เนื่องจากหากลงลึกไปยังรายละเอียดของการบริหารงานและผลลัพธ์ที่พึงเป็นของการจัดตั้งสถาบันการเงินนั้น ดูเหมือนว่าสถาบันการเงินชุมชนแห่งนี้อาจมีการปฏิบัติงานที่ไม่ตรงตามหลักการพัฒนากองทุนเป็นสถาบันการเงินชุมชน ของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ซึ่งได้ระบุไว้ ดังนี้

การบริหารงาน

– มีการจัดทำงบการเงินได้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน

– มีความสามารถในการหารายได้และทำกำไร

– มีหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน ต่ำกว่าร้อยละ 2 ของเงินให้กู้ยืม

– มีเงินสำรองไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ของวงเงินกู้ยืมแก่สมาชิกและเงินกู้จากแหล่งเงินทุนภายนอก

ผลลัพธ์ของสถาบันการเงินชุมชน

– ความสามารถในการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

– ความหลากหลายของบริการทางการเงินแก่ชุมชน

– การขยายโอกาสการเข้าถึงและให้บริการทางการเงินแก่คนจน

– ความพึงพอใจของสมาชิกและผู้ใช้บริการ

นอกจากนี้ ยังมีการระบุไว้ในส่วนของมาตรฐานสถาบันการเงินชุมชนว่า สถาบันการเงินชุมชนต้องมีขีดความสามารถในการดำรงอยู่ในการให้บริการ โดยเฉพาะผู้ที่ขาดโอกาสในการใช้บริการทางการเงินทั่วไปอย่างต่อเนื่อง และบริหารจัดการให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำเนินงานพร้อมขยายกิจกรรมทางธุรกิจ

ดังนั้น หากดูจากหลักการดังกล่าว การที่สถาบันการเงินชุมชนแห่งนี้ขาดสภาพคล่องจากปัญหาการเก็บหนี้ไม่ได้ จนนำไปสู่การขาดเงินทุนหมุนเวียนนั้นไม่เป็นไปตามการบริหารงานของสถาบันการเงินชุมชน 3 ประการ ได้แก่ มีความสามารถในการหารายได้และทำกำไร, มีหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน ต่ำกว่าร้อยละ 2 ของเงินให้กู้ยืม และมีเงินสำรองไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ของเงินวงเงินกู้ยืมแก่สมาชิกและเงินกู้จากแหล่งเงินทุนภายนอก รวมถึงไม่เป็นไปตามมาตรฐานสถาบันการเงินชุมชนในแง่ของการบริหารจัดการให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำเนินงานพร้อมขยายกิจกรรมทางธุรกิจ อีกทั้งยังกระทบต่อผลลัพธ์ 3 ประการ คือ ความสามารถในการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน, การขยายโอกาสการเข้าถึงและให้บริการทางการเงินแก่คนจน และความพึงพอใจของสมาชิกและผู้ใช้บริการ เนื่องจากเมื่อไม่สามารถบริหารจัดการให้สถาบันฯมีความคล่องตัวในการดำเนินกิจการได้ รวมทั้งไม่สามารถนำเงินมาคืนให้กับสมาชิกที่ได้ทำการฝากเงินไว้กับสถาบันฯ นอกจากจะถือเป็นความล้มเหลวของการบริหารจัดการด้านการเงินภายในแล้ว ยังไม่สามารถให้บริการต่อสมาชิกอย่างที่ควรจะเป็น อีกทั้งยังนำมาซึ่งการสร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาสมาชิกที่ได้มอบความไว้วางใจให้กับสถาบันการเงินชุมชนแห่งนี้ในการดูแลทรัพย์สินอีกด้วย

ที่มา : ข่าวสด, บทความ ‘หลักการพัฒนากองทุนเป็นสถาบันการเงินชุมชน’ ของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #สถาบันการเงินชุมชน #เงินฝาก #ออมเงิน #เงินออม