OTO

‘วันทูวัน’ จะพลิกฟื้นกำไรอย่างไร? เมื่อรายได้จากธุรกิจหลักไม่เติบโต

หลังจากที่ บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ OTO ได้ถูกขายหุ้นทิ้งออกมาแบบถล่มทลายไปเมื่อเดือนมิ.ย.2566 ที่ผ่านมา ซึ่ง ‘Business+’ ได้วิเคราะห์งบการเงินทั้ง 3 ส่วนของ OTO ในคอนเทนต์ก่อนหน้านี้ถึงความสามารถในการทำกำไร และสภาพคล่องของ OTO ซึ่งพบว่าขณะนี้ผลประกอบการยังลุ่มๆ ดอน ๆ ด้วยผลการดำเนินงานที่สลับระหว่างขาดทุนกับมีกำไรสุทธิ โดยเห็นภาพชัดเจนว่า ในปีที่มีกำไรสุทธินั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการบันทึกกำไร และรายได้พิเศษ (ไม่ใช่รายได้จากการดำเนินธุรกิจ) ดังนั้น อาจพูดได้ว่า ธุรกิจหลักที่ OTO ทำอยู่ไม่ได้รุ่งเรือง และไม่ได้ทำให้ธุรกิจเติบโตเลย

ซึ่งผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมายังประสบกับผลขาดทุนสุทธิ 274.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 110.54 ล้านบาท โดยที่สาเหตุหลักมี 2 สาเหตุ คือ รายได้จากธุรกิจให้บริการออกแบบพัฒนา และติดตั้งศูนย์บริการข้อมูลแบบเบ็ดเสร็จซึ่งเป็นธุรกิจหลักมีรายได้ลดลง 21.8 ล้านบาท และอีกส่วนคือ มีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการนำเงินไปเงินลงทุนในตราสารทุน นั่นยิ่งตอกย้ำว่าขณะนี้ OTO จะไม่สามารถพึ่งพารายได้จากธุรกิจหลักเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

โดยในวันนี้ (22 ก.ย.2566) คุณจิรายุ เชื้อแย้ม ประธานกรรมการบริหาร OTO จึงได้ออกมาเปิดเผยแผนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยมีเป้าหมายเพื่อค้นหาธุรกิจที่จะเข้ามาเป็นรายได้หลักที่มั่นคง นั่นคือ ธุรกิจ “Smart Call Center” และ “P2P Lending Platform”

ซึ่งธุรกิจแรก ด้านงาน call center ถือว่ายังเป็นธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับ OTO เพียงแต่แผนการเพิ่มรายได้คือ การพัฒนาด้วยการนำ AI และ Big Data เข้ามาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะทางผู้บริหารยังมองว่า call center ยังเป็นบริการที่มีความต้องการสูงในแทบทุกองค์กร ที่อำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการติดต่อกับบริษัทต่างๆโดยตรง ซึ่งการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการทำงานให้มีความแม่นยำ ปลอดภัย ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ผนวกกับการนำ BigData มาร่วมประมวลผล สร้างประสิทธิภาพสูงสุดแก่ลูกค้า ดังนั้น OTO จึงเรียกธุรกิจใหม่นี้ว่า เป็นการให้บริการธุรกิจ “Smart Call Center”

ธุรกิจที่ 2 คือ การสร้าง Growth ใหม่ให้แก่องค์กร อย่างธุรกิจ peer to peer lending platform (P2P) นั่นคือ OTO จะเป็นตัวกลางผู้ให้บริการระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสนับสนุนการก่อให้เกิดการกู้ยืมระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ โดยจับคู่ระหว่างผู้ที่ต้องการกู้เงินและผู้ที่ต้องการให้กู้ รวมถึงอำนวยความสะดวกในการทำสัญญาสินเชื่อ การนำส่งและจ่ายคืนเงินกู้ และการติดตามหนี้ ซึ่งขณะนี้ OTO ได้เข้าซื้อธุรกิจ P2P “Nestify” อยู่ระหว่างรอการอนุญาตจากแบงก์ชาติ

สำหรับเม็ดเงินลงทุนนั้น OTO จะจัดหาแหล่งเงินทุนจากการเพิ่มทุน ซึ่งคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติการเพิ่มทุนมูลค่า 720 ล้านบาท จำนวนหุ้น 1,200,000,000 หุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นแบบเฉพาะเจาะจง (PP) จะกระจายสู่กลุ่มนักลงทุน 6 รายได้แก่ บริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AQUA บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ OTO

นอกจากนี้ยังเตรียมแจกวอแรนต์ฟรี (การออกและจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทครั้งที่ 2 (OTO-W2)) แก่ผู้ถือหุ้น สัดส่วน 11:5 (หุ้นเดิม:หุ้นใหม่) จำนวนไม่เกิน 906,016,595 หน่วย มีอายุ 2 ปี และกำหนดราคาใช้สิทธิที่ 1.30 บาท ต่อหุ้น โดยที่ประชุมฯ ได้มีมติอนุมัติการเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2567 และกำหนดวันประชุมในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และกำหนดวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2567 (Record Date) ในวันที่ 15 มกราคม 2567

เป็นที่น่าจับตามองต่อว่า OTO จะสามารถพลิกฟื้นกำไรได้หรือไม่? เพราะถึงแม้ผู้บริหาร OTO มองว่า 2 ธุรกิจใหม่นี้เข้ามาเป็นรายได้หลักที่มั่นคง แต่ในมุมมองของการเติบโตของธุรกิจแล้วนั้น ธุรกิจ Call center อาจจะยังคงเป็นช่องทางการมีส่วนร่วมที่ลูกค้าต้องการมากที่สุด แต่ก็ไม่ได้อยู่ในช่วงที่ธุรกิจจะมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่วนธุรกิจ FinTech เป็น Mega Trend ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจและมีการเติบโตเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากกฏเกณฑ์ที่อาจเข้มงวดขึ้นในอนาคต หรืออาจถูกใช้เป็นเครื่องมือการทุจริตด้านการฟอกเงิน

นอกจากนี้กว่าธุรกิจใหม่จะสร้างกำไรให้กับบริษัทฯ ยังต้องใช้เวลาเพราะช่วงแรกจะเป็นการเข้าลงทุน จึงอาจมีค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้ประเด็นระยะสั้นต่อนักลงทุนแล้ว คือการออกหุ้นเพิ่มทุนนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นในแง่ของ Dilution effect ซึ่งจะสร้างผลกระทบที่ทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทน้อยลง (หมายรวมถึงส่วนแบ่งกำไร และปันผลที่จะลดลง) ซึ่งจะเห็นผลทันทีหลังจากทำการเพิ่มทุนสำเร็จ

อ่านคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/oto-2/ 

ที่มา : OTO ,SET
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS