วันนี้ (15 มีนาคม 2559) เมียนมาได้เริ่มกระบวนการเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ โดย ถิ่น จอ เพื่อนสนิทของ ออง ซาน ซูจี ก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิปดีพลเรือนคนแรกของเมียนมา ด้วยคะแนนเสียงชนะขาดลอย
เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์เมียนมาที่มีประธานาธิปดีพลเรือนคนแรกในรอบ 50 ปี ซึ่ง ‘ถิ่น จอ’ ได้รับคะแนน 360 จากสมาชิกสภาทั้งหมด 652 ที่นั่ง
ถือได้ว่าเป็นคะแนนเสียงเกินครึ่งของสภา !!
สำหรับการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ เรียกได้ว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์แห่งเมียนมาเลยที่ทั่วโลกจับตามองเลยก็ว่าได้ สื่อนอกอย่าง The Washington Post พาดหัวข่าวว่า “รัฐสภาเมียนมาโหวตเลือกประธานาธิบดีพลเรือนคนแรก ถือเป็นครั้งแรกในครึ่งศตวรรษ”
พร้อมกับระบุคำกล่าวของประธานาธิบดีคนใหม่แก่งเมียนมาว่า “เราต้องการที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตยย้ายไปข้างหน้า”
ขณะที่หลายฝ่ายรอคอยนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ที่มารับไม้ต่อจากรัฐบาลภายใต้การนำของนายพลเต็ง เส่ง อย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนทางธุรกิจในระยะยาว การมาของ ถิ่น จอ ครั้งนี้ จะเปลี่ยนอนาคตของเมียนมาเป็นอย่างไร ? ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า
“ทิศทางการดำเนินนโยบายของพรรค NLD จะเน้นเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) ควบคู่กับเสริมสร้างประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐ โดยการสนับสนุนให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการถ่ายโอนองค์ความรู้ การเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ”

ซึ่งหากภาวะการเมืองของเมียนมาเริ่มเข้าสู่ความมีเสถียรภาพแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่า นี่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาในเมียนมามากขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ พรรค NLD ได้มีแกนหลักของนโยบายด้านเศรษฐกิจ 5 ด้าน ได้แก่
- การดำเนินนโยบายการคลังอย่างรอบคอบ ใช้งบประมาณอย่างโปร่งใส ปฏิรูประบบการเก็บภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐบาล ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวมเป็นหลัก
- การปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดิน จัดตั้งหน่วยงานที่สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย และการมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เสริมสร้างความมีประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐ ลดการทุจริตคอร์รัปชั่น และทำให้การปฏิบัติราชการเป็นไปด้วยความโปร่งใส
- การพัฒนาภาคเกษตรกรรม เพิ่มศักยภาพผลผลิตสินค้าเกษตร และสนับสนุนให้มีการลงทุนจากต่างประเทศในธุรกิจการเกษตรที่สร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การแปรรูปสินค้าเกษตร เนื่องจากในปัจจุบัน พื้นที่ทางการเกษตรของเมียนมาหลายแห่งยังไม่มีการนำมาใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีกำลังการผลิตต่ำ นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก
- การปฏิรูประบบการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ และส่งเสริมให้ธนาคารกลางเมียนมามีความอิสระในการดำเนินนโยบายทางการเงิน รวมทั้งแก้ปัญหาการขาดแคลนเงินทุน หรือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของนักธุรกิจ ประชาชนทั่วไป และเกษตรกร
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยเมียนมาอาจขอความช่วยเหลือหรือขอเงินกู้จากองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชนทั้งท้องถิ่นและต่างชาติ การจัดตั้งหน่วยงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจในประเทศ โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น
ถิ่น จอ ประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกของเมียนมา และออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรค NLD ภาพจาก Gemunu Amarasinghe, AP
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า รัฐบาลชุดใหม่ ถิ่น จอ ประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกของเมียนมา ยังต้องมีการดำเนินการในด้านต่าง ๆในระยะถัดไปอีกมาก เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
เพราะตัวเลข FDI ในเมียนมาช่วง “2-3 ปีที่ผ่าน ภายหลังเมียนมาได้ออกกฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศฉบับใหม่ปี 2555 พบว่า การลงทุนส่วนใหญ่ที่เข้ามาในเมียนมายังคงเน้นหนักไปที่อุตสาหกรรมทางด้านพลังงานเป็นหลัก
สำหรับสัดส่วนมูลค่า FDI ที่ได้รับการอนุมัติในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นจาก 8.8% ในเดือนมิถุนายน 2557 เป็น 10.7% ในเดือนมกราคม 2559 ก็ยังแสดงถึงความสนใจลงทุนในเมียนมาที่มากขึ้นของนักลงทุนต่างชาติ”

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การเปลี่ยนแปลงเมียนมาไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่อาจจำเป็นต้องอาศัยเวลา แต่ต้องยอมรับว่ารัฐบาลชุดนี้คงต้องเผชิญกับโจทย์ทางเศรษฐกิจรอบด้านทั้งปัญหาอัตราเงินเฟ้อ, ค่าเงินจ๊าตที่อ่อนค่า, การขาดดุลการค้า และการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น
สำหรับปีงบประมาณ 2559/2560 ทางการเมียนมาคาดว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาน่าจะอยู่ที่ 7.8% ขณะที่ IMF คาดการณ์ไว้ที่ 8.4% ในปี 2559
ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เศรษฐกิจเมียนมาจะเติบโตได้ 7.8% ในปี 2559 เร่งขึ้นจาก 7.7% ในปี 2558
ถึงแม้ว่าค่าแรงในเมียนมาจะนับว่าถูกที่สุดในอาเซียน แต่ต้นทุนในด้านอื่น ๆ ที่เป็นต้นทุนแฝงของภาคธุรกิจยังถือว่าสูงอยู่ ทั้งการเช่าอาคารสำนักงาน ต้นทุนการพัฒนาบุคลากร ภาวะขาดแคลนแรงงานฝีมือ เป็นต้น
หากนักธุรกิจไทยที่สนใจจะเข้าไปลงทุนในเมียนมาคงจะต้องพิจารณาอุปสรรคที่อาจต้องเผชิญในการประกอบธุรกิจ เช่น ค่าเช่าอาคารสำนักงานที่อาจเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ค่าใช้จ่ายในการฝึกฝนและพัฒนาแรงงาน และการขาดแคลนแรงงานระดับบน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี โอกาสทางธุรกิจในเมียนมายังนับว่ามีอีกมากโดยเฉพาะในระยะข้างหน้า ดังนั้น การเข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับธุรกิจท้องถิ่นแต่เนิ่น ๆ และเตรียมความพร้อมในการทำธุรกิจข้ามประเทศ เช่น การฝึกทักษะด้านภาษา และการศึกษากฏหมายในการทำการค้าระหว่างประเทศ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจในเมียนมาได้