‘สาระ ล่ำซำ’ CEO ที่ไม่ได้นั่งอยู่บนหอคอย’
การบริหารองค์กรอย่าง ‘เมืองไทยประกันชีวิต’ ให้เป็นบริษัทประกันชีวิตที่ได้ดำเนินธุรกิจเคียงคู่อยู่กับคนไทยมากว่า 73 ปี และเป็นบริษัทที่สามารถปรับตัวก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องยอมรับว่า “สาระ ล่ำซำ” คือซีอีโอที่ไม่ได้นั่งบริหารแค่บนหอคอยสั่งการ แต่เป็นซีอีโอสายลุยที่ลงมาทำงานด้วยตัวเองตั้งแต่วันแรก
ด้วยผลงานที่โดดเด่นของ “คุณสาระ ล่ำซำ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ทำให้คุณสาระเป็นที่ยอมรับและได้รับรางวัลจากหลากหลายสถาบัน ล่าสุดได้รับรางวัลสุดยอดผู้นำองค์กรแห่งปี THAILAND TOP CEO OF THE YEAR 2024 ประเภทอุตสาหกรรมประกันชีวิต ซึ่งเป็นการรับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ผู้ที่ได้รับรางวัล มีผลงานบริหารองค์กรโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ บทความจึงเป็นการถ่ายทอดความคิดและวิธีการบริหารของคุณสาระที่ทำให้ประสบความสำเร็จในทุกวันนี้
ผู้นำแบบไม่นั่งสั่งการบนหอคอย โลกเปลี่ยนแปลง ต้องลงมาเรียนรู้ไปพร้อมกัน
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง กฎหมาย รวมไปถึงการพัฒนาของเทคโนโลยี การดิสรัปชันของธุรกิจ ความแตกต่างของแต่ละเจเนอเรชัน และพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้รู้สึกว่า ผมต้องลงมาดำเนินการด้วยตัวเอง เพราะเรื่องบางเรื่องหรือนโยบายทางธุรกิจที่เคยสำเร็จในอดีต อาจไม่ได้เวิร์กในปัจจุบันและอนาคตอีกต่อไป การบริหารธุรกิจให้อยู่รอดและมั่นคงในปัจจุบันจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนและต้องลองอะไรใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องอาศัยการวางแผนและลงมือทำร่วมกับทุกคนในองค์กรไปด้วยกัน บางเรื่องยอมรับว่าเราก็ไม่รู้ แต่คนอื่นอาจรู้และเชี่ยวชาญกว่าเรา จึงต้องรับฟังและคิดตัดสินใจเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ไปด้วยกัน ไม่เช่นนั้นงานจะเดินช้าและไม่ประสบความสำเร็จ
วางโครงสร้างให้ดี แล้วทุกอย่างจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง
คุณสาระอธิบายเพิ่มว่า การลงมากำกับบริหารองค์กร เมืองไทยประกันชีวิตด้วยตนเองนั้น อยากให้มองว่าเป็นการสร้างเวทีทำงานให้เกิดการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันอยู่เสมอ เสมือนเป็น Forum เน้นเรื่องการกระตุ้นให้ทุกคนมีส่วนร่วมหรือ Empowerment ให้แต่ละหน่วยงาน (Business Units: BUs) โฟกัสการทำงานร่วมกัน
ด้วยกระบวนการเหล่านี้ ผมเชี่อว่าจะเกิดความเป็น Ownership ของแต่ละคนแต่ละหน่วยงาน ซึ่งท้ายสุดจะส่งผลดีต่อองค์กร เนื่องจากทุกคนได้เห็นและมองเป้าหมายเดียวกันในการที่จะมุ่งหาวิธีการขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง คำถามที่เราจะต้องคิดต่อไป คือ เราหรือผู้นำแบบไหนที่จะมาเป็นต้นแบบ เพื่อสร้าง DNA ให้คนในองค์กรเห็นเป้าหมายชัดเจนมากขึ้น
“ถ้าผมไม่เริ่มลงมือทำเป็นแบบอย่าง ผู้บริหารหรือพนักงานทุกคนของผมจะเริ่มลงมือทำได้อย่างไร บางครั้งผมต้องการให้คนในองค์กรโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริหารระดับสูงสามารถลงมา Take Action และ Execution ให้เกิดผลลัพธ์ให้เป็นที่ชัดเจนให้ได้ ซึ่งการที่จะเป็นเช่นนั้นได้ คนในองค์กรทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะต้องลงรายละเอียดสำคัญ ๆ ของการทำงานได้ ดังนั้น ถ้าให้ทุกคนเห็นเป้าหมายร่วมกัน ผมจึงต้องนำทัพและลงมือทำเป็นตัวอย่าง เพราะไม่เช่นนั้น ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นอาจไม่ใช่ในทิศทางหรือนโยบายที่ต้องการ”
ความท้าทายที่สุด คือ การบริหารจัดการคน
คุณสาระเน้นย้ำว่า “ผมอยากให้คนในองค์กรทุกคนสามารถลงรายละเอียดงานได้” ซึ่งในความเป็นจริงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เพราะความท้าทายที่สุดคือ “เรื่องของคน” เราจะทำอย่างไรให้ทุกคนขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ซึ่งอีกเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ผมต้องลงมาจากหอคอย เพื่อดูว่าคนไหนเข้าใจหรือไม่เข้าใจ คนไหนเป็นคนที่มีความสามารถในเรื่องที่รับผิดชอบและทำได้ดีอยู่แล้ว หรือคนไหนเป็นคนที่ต้องได้รับการพัฒนาเสริมทักษะ Upskill และ Reskill เพิ่มเติม
“คนในองค์กรย่อมไม่มีใครรู้ทุกเรื่อง เพราะอย่างผมเองก็ไม่ได้รู้ในบางเรื่อง ถ้าผมรู้ว่ามีคนในองค์กรที่รู้และเชี่ยวชาญในเรื่องที่ผมไม่รู้ ผมมองว่าการสร้างบรรยากาศที่ดีในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันก็เป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่เมืองไทยประกันชีวิต ผมไม่ต้องการคนที่เป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่สามารถทำได้ทุกเรื่อง แต่ผมขอแค่คนที่เข้าใจในแต่ละฟังก์ชันงานที่ตัวเองเชี่ยวชาญ และเปิดใจรับฟังสิ่งใหม่ ๆ จากผู้อื่นอยู่เสมอ”
สำหรับเรื่อง Generation Gap โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ ก็ต้องยอมรับว่าเราได้อะไรจากคนรุ่นใหม่พอสมควร ที่เมืองไทยประกันชีวิตจึงเปิดกว้างให้กับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูง ขอแค่คนที่จะขึ้นมาเป็นผู้บริหารเข้าใจทิศทางและเป้าหมายของบริษัท ที่สำคัญจะต้องมีจรรยาบรรณในการขับเคลื่อนธุรกิจร่วมด้วย เนื่องจากธุรกิจประกันชีวิตเป็นธุรกิจการเงินประเภทหนึ่งที่ต้องอาศัยความเชื่อถือและความไว้วางใจจากลูกค้าหรือผู้เอาประกันภัย ผมจึงให้ความสำคัญในเรื่อง “จรรยาบรรณ” เป็นอย่างมาก การบริหารองค์กรให้มีความน่าเชื่อถือเริ่มจากคนของเรามีความน่าเชื่อถือและน่าไว้ใจกันได้ก่อน รวมถึงไม่มองว่าทุกอย่างจะส่งผลดีเสมอไป จะต้องหมั่นเตรียมแผนสำรองอยู่เสมอ หากเกิดอะไรไม่คาดคิดหรือส่งผลไม่ดีเกิดขึ้น เพราะหน้าที่สำคัญของเราต้องบริหารความเสี่ยงของผู้เอาประกันภัยและปฏิบัติตามที่ระบุไว้ในสัญญากรมธรรม์อย่างเคร่งครัดในการรักษาความไว้วางใจที่ผู้เอาประกันภัยมีให้กับบริษัทประกันชีวิต
เมิน “รีไทร์” เพราะมีความท้าทายใหม่ ๆ รอให้ท้าทาย
เราถามถึงคุณสาระทิ้งท้ายว่า “คิดถึงแผนรีไทร์บ้างหรือไม่ เพราะเข้ามาบริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มากว่า 20 ปีแล้ว” ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า “ใคร ๆ ก็คิดเรื่องรีไทร์เพื่อใช้ชีวิตช่วงวัยเกษียณ แต่ผมมองว่ายังไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสมในตอนนี้ จากโฆษณาของบริษัทฯ ที่ปรากฎอยู่ตามสื่อ “ก่อนเกษียณมีหลายอย่าง หลายโปรเจกต์ที่ผมอยากจะทำ” ผมจึงมองว่าเรื่องใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) นับว่าเป็นความท้าทายใหม่สำหรับผมที่เผชิญอยู่ และรอก้าวข้ามได้อย่างสง่างามในเร็ว ๆ นี้”
รับชมในรูปแบบ Video