MPS ธนาคารเก่าแก่ที่สุดในโลก ปรับโฉมรับยุคดิจิทัล

ธนาคารมอนเต เด ปาสคี ดิ เซียนา หรือ Monte Dei Paschi di Siena (MPS) ได้ชื่อว่าเป็นสถาบันการเงินชั้นนำจากสาธารณรัฐอิตาลีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งความเป็นธนาคารที่มีอายุยาวนานกว่า 5 ศตวรรษนั้นไม่ได้ทำให้สถาบันการเงินแห่งนี้เก่าและแก่ไปตามวัย อีกทั้งเมื่อต้องเผชิญแรงเหวี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ถาโถมเข้ามาตลอดเวลา ธนาคาร MPS ก็สามารถจะปรับตัวสู่เทคโนโลยีการเงินที่เปลี่ยนไป ทำให้ธนาคาร MPS ยังคงความทันสมัยและสามารถยืนหยัดครองใจกลุ่มลูกค้ามาจนถึงปัจจุบัน

“MPS” บนเส้นทางธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

ธนาคารมอนเต เด ปาสคี ดิ เซียนา หรือ Monte Dei Paschi di Siena (MPS) เป็นสถาบันการเงินชั้นนำจากสาธารณรัฐอิตาลีที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของโลก โดยเปิดให้บริการมายาวนานกว่า 500 ปี และเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของสาธารณรัฐอิตาลี ปัจจุบันมีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศมากกว่า 3,000 แห่ง และให้บริการลูกค้ากว่า 4.5 ล้านคนทั่วประเทศ โดยนับตั้งแต่ก่อตั้งธนาคารขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2015 ธนาคาร MPS มีความมุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ เพื่อสร้างนวัตกรรมและบริการธุรกรรมทางการเงินที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ธนาคาร MPS มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการลูกค้าครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งลูกค้ารายย่อยลูกค้าเอสเอ็มอี และลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่

โลกเปลี่ยน MPS จึงต้องปรับ

แม้จะเป็นสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ที่เปิดให้บริการมายาวนาน แต่ธนาคาร MPS ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจว่าเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จท่ามกลางการแข่งขันและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ตลอดเวลาที่ผ่านมา จึงมีการใช้งานเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจ

กระทั่งเมื่อโลกดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมการเงินแบบดั้งเดิม ทำให้ธนาคาร MPS ตัดสินใจปรับรูปแบบสาขาการให้บริการสู่ Digital Banking เพื่อให้สามารถพัฒนาบริการทางการเงินที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ายุคใหม่ได้อย่างตรงจุด

นอกจากนี้ การเติบโตอย่างรวดเร็วของธนาคาร MPS ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีการขยายสาขาจำนวนมากครอบคลุมกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศ โดยแต่ละสาขามีขนาดแตกต่างกันตามความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม ทั้งยังมีการพัฒนารูปแบบบริการทางการเงินใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น อาทิ บริการข้อความ ภาพ และเสียง (Digital Multimedia), การตลาดแบบผสมผสานทุกช่องทาง (Omni Channel
Marketing) และธนาคารเสมือน (Virtual Teller Machine) จึงเป็นผลให้ระบบเครือข่ายเดิมของธนาคารเริ่มไม่เพียงพอกับปริมาณความต้องการของผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากแต่ละสาขามีความต้องการแบนด์วิดธ์สูงขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 15% และบางสาขาต้องการอุปกรณ์พกพาและเทคโนโลยีสารสนเทศแบบใหม่ที่มีคุณภาพและสามารถรองรับแบนด์วิดธ์ได้มากขึ้น

ทำให้ทางธนาคาร MPS ต้องปรับปรุงเครือข่ายไอทีใหม่ให้มีความพร้อมในการใช้งานตอบโจทย์ทุกความต้องการอย่างครบถ้วน โดยโครงสร้างเครือข่ายไอทีที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นใหม่นี้จะต้องมีความต่อเนื่องและปลอดภัยในการให้บริการสอดรับกับการใช้งานในรูปแบบดิจิทัลและปริมาณการทำธุรกรรมของผู้ใช้งานในแต่ละสาขาที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

ปรับโครงสร้างเครือข่ายรองรับบริการยุคดิจิทัล

ทั้งนี้ ธนาคาร MPS ได้ร่วมกับหัวเว่ยในการวางแผน และหาแนวทางปรับปรุงระบบเครือข่ายไอทีใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยหัวเว่ยได้ทำการออกแบบระบบเครือข่ายแตกต่างกันตามความต้องการของแต่ละสาขาอย่างแท้จริง โดยในส่วนสาขาที่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินบางประเภทได้ด้วยตัวเอง เช่น ตู้เอทีเอ็ม หัวเว่ยเลือกใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อเพียงตัวเดียวที่มีความสามารถในการ
รองรับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้ถึง 2 รายเพื่อเพิ่มความมีเสถียรภาพในการเชื่อมต่อ

ขณะที่สาขาขนาดกลางและขนาดย่อม หัวเว่ยได้เลือกใช้อุปกรณ์แบบ Dual-Node และทำให้เราเตอร์ 2 ตัวเสมือนเป็นตัวเดียวกัน พร้อมทั้งยังมีคุณสมบัติ Dual-Homed เพื่อเชื่อมต่อไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่แตกต่างกัน ทำให้ระบบการทำงานมีความต่อเนื่อง และไม่เกิดปัญหาหากมีระบบใดระบบหนึ่งหยุดการทำงาน

สำหรับสาขาขนาดใหญ่ของธนาคาร MPS ที่มีจำนวน 50 สาขา ซึ่งเป็นสาขาที่ให้บริการหลากหลาย ขณะเดียวกันยังมีลูกค้าเข้ามารับบริการจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มองค์กรชั้นนำ หัวเว่ยเลือกใช้เครือข่ายส่วนตัวเสมือน หรือ Virtual Private Network (VPN) แบบ MPLS VPN E1 เพิ่มเติมจากอุปกรณ์แบบ Dual-Node ซึ่งสามารถรองรับการให้บริการทางการเงินที่มีความหลากหลายทั้งภาพ เสียง และข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น ทั้งยังทำการติดตั้งเราเตอร์ AR G3 ที่มาพร้อมกับ Multi-Core CPU และแบนด์วิดธ์ขนาดใหญ่กว่าเดิม ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้รวดเร็วกว่าเดิมถึง 7 เท่า และสามารถรองรับปริมาณผู้ใช้งานที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้ติดตั้งโซลูชัน Quality of Service ในทุกสาขาของธนาคาร MPS เพื่อตอบโจทย์ด้านคุณภาพการให้บริการกับลูกค้า ซึ่งช่วยให้ธนาคาร MPS สามารถจัดลำดับความสำคัญของบริการต่าง ๆ ที่เข้ามาในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถจัดลำดับความสำคัญของลูกค้าหรือประเภทของผู้ใช้บริการได้อีกด้วย เป็นผลให้ธนาคารสามารถจะกระจายแบนด์วิดธ์ให้กับ
แต่ละสาขาได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

ตอบโจทย์ความสะดวก รวดเร็ว เข้าถึงได้ทันที

จากความมุ่งมั่นในการพัฒนาและปรับปรุงระบบเครือข่ายใหม่ในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้สาขาของธนาคาร MPS ที่มีอยู่กว่า 3,000 แห่งสามารถตอบสนองการให้บริการกับผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วแล้ว ธนาคาร MPS ยังพร้อมที่จะรองรับรูปแบบการให้บริการใหม่ ๆ เช่น ธนาคารเสมือน เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้าได้มากยิ่งขึ้นด้วย เนื่องจากผู้ใช้บริการสามารถทำธุรกรรมทางการเงินที่ไหนและเมื่อไรก็ได้ด้วยตนเอง อาทิ จ่ายบิล โอน ถอน ฝาก เช็กยอดเงินได้เองแบบเรียลไทม์ ทั้งยังช่วยให้ธนาคาร MPS สามารถยืนหยัดและคงความทันสมัยครองใจกลุ่มลูกค้าอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต