เปิดโครงสร้างธุรกิจเครือ ‘มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล’ ที่มีรายได้จากการขาย ‘น้ำพริก’ มากกว่าเวทีนางงาม

ใกล้ถึงวันที่ บมจ.มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MGI เจ้าของธุรกิจจัดการประกวดนางงามมิสแกรนด์ของ ‘ณวัฒน์ อิสรไกรศีล’ จะเปิดขายหุ้น IPO เพื่อเข้าตลาดหุ้นในช่วงต้นเดือนธ.ค.นี้ ซึ่งหากมองในแง่ของธุรกิจแล้ว ก็นับว่าเป็นธุรกิจน้องใหม่ของตลาดหุ้น ซึ่งก่อนหน้านี้มีเพียง บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป หรือ JKN ที่มีธุรกิจเวที MISS UNIVERSE แต่ความน่าสนใจของ MGI ไม่ใช่แค่การทำรายได้จากเวทีประกวดนางงามที่จะเน้นรายได้จาก Sponser หรือรายได้จากการ Vote เท่านั้น แต่บริษัทแห่งนี้กลับมีรายได้จากการขายสินค้าเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด โดยเฉพาะรายได้จากการขายน้ำพริกปลาสลิดที่ 9 เดือนที่ผ่านมาทำรายได้ถึง 64.11 ล้านบาท จากรายได้รวมของ MGI ซึ่งอยู่ที่ 432.45 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนรายได้สูงถึง 15%

หากย้อนกลับไปถึงจุดกำเนิดแล้ว บมจ.มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MGI) ก่อตั้งโดย คุณณวัฒน์ อิสรไกรศีล และคุณ รัชพล จันทรทิม ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรกเพียง 1.00 ล้านบาท และเริ่มจัดการประกวดนางงามในระดับประเทศ คือ MGT ขึ้นครั้งแรก ในลักษณะของการคัดเลือกตัวแทนจากส่วนกลางที่บริษัทเป็นผู้บริหารจัดการเอง

หลังจากนั้น บริษัทเริ่มเข้าสู่ธุรกิจพาณิชย์ในปี 2561 โดยการขายสินค้าอุปโภค ซึ่งผลิตภัณฑ์แรกของบริษัทคือ อันเดอร์อาร์ม เซรั่ม ภายใต้เครื่องหมายการค้า Nangngam จากนั้นเริ่มมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 2 ครั้ง คือ ปี 2563 เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 1 ล้านบาทเป็น 50 ล้านบาท และเริ่มต้นขายผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น น้ำพริกปลาสลิด ต่อมาได้เพิ่มทุนอีกครั้งในปี 2565 เพิ่มเป็น 75 ล้านบาท พร้อมแปรสภาพบริษัท เป็นบริษัทมหาชน เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.65 เพื่อนำบริษัทยื่นคำขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

และได้มีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรกจำนวนไม่เกิน 60,000,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 4.95 เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) จองซื้อตั้งแต่ 16.00 น. ของวันที่ 4 ธันวาคม 2566, วันที่ 6 ธันวาคม 2566 และ วันที่ 7 ธันวาคม 2566 โดยแต่งตั้ง บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

ทั้งนี้ ‘Business+’ พบข้อมูลว่า ปัจจุบันรายได้ในช่วง 9 เดือนของปี 2566 อยู่ที่ 432.45 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 77.13 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีการเติบโตเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งมีรายได้ 222.02 ล้านบาท ทั้งนี้หากแบ่งโครงสร้างธุรกิจของ MGI ในปัจจุบัน สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

โครงสร้างรายได้ สัดส่วน
ธุรกิจพาณิชย์ 40.86%
ธุรกิจประกวดนางงามมิสแกรนด์ 12.63%
ธุรกิจสื่อและบันเทิง 19.06%
ธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน 23.12%
ธุรกิจค่าเช่าช่วง MGI Hall 3.51%
รายได้อื่น 0.81%

ซึ่งจะเห็นได้ว่าธุรกิจพาณิชย์หรือการขายสินค้าของบริษัทนั้น มีสัดส่วนรายได้สูงที่สุด โดย MGI มีสินค้า 4 อย่างที่สร้างรายได้เป็นหลัก นั่นคือ น้ำพริกปลาสลิดสร้างรายได้ 64.11 ลบ. Face Serum รายได้ 14.46 ลบ. Neck Serum รายได้ 13.87 ลบ.และ Nangngam Anti Melasma รายได้16.63 ลบ. โดยรายได้ขายน้ำพริกปลาสลิดที่สร้างรายได้สูงสุดให้กับบริษัทมีแนวโน้มการเติบโตที่ค่อนข้างดี จากปี 2563 มีรายได้เพียง 35.48 ล้านบาท ก้าวกระโดดมาจนแตะ 68.06 ล้านบาทในปี 2564 และยังเติบโตต่อในปี 2566 ซึ่งรูปแบบการสั่งผลิตจะเป็นรูปแบบ ODM นั่นคือ บริษัทฯ จะได้รับสูตรการผลิตสินค้าเป็นของตัวเอง จากสัดส่วนรายได้ที่สูงที่สุด และเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องทำให้เราเห็นว่า บริษัทแห่งนี้พึ่งพารายได้จากการขายสินค้าที่มีโอกาสเติบโตสูงมากกว่าการจัดการประกวดเวทีนางงามเสียอีก

นอกจากนี้แล้วหากวิเคราะห์ในแง่ของการกำหนดราคาขาย IPO ที่ 4.95 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E Ratio) เท่ากับ 11.76 เท่า นำมาเทียบกับ P/E ของ SET อยู่ที่ 18.07 เท่า และ mai อยู่ที่ 108.47 เท่า ก็ยังถือว่าการตั้งราคา MGI ไม่ได้สูงมากนัก (คืนทุนเร็วกว่าตลาด)

แต่ถ้าหากมองภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ เราจะเห็นว่ามูลค่าการซื้อขายค่อนข้างเบาบาง และยิ่งมองในมุมของหุ้น IPO ด้วยแล้วนั้น ยิ่งเป็นช่วงที่อาจจะไม่ค่อยดีนัก อย่างที่เราพบข้อมูลสถิติของหุ้น IPO ในปี 2566 นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน มีบริษัทจดทะเบียนที่เสนอขาย IPO ทั้งหมด 37 บริษัท ด้วยมูลค่าระดมทุน 30,000.47 ล้านบาท ซึ่งในการซื้อขายวันแรกราคาต่ำกว่า IPO จำนวนมาก และมีหุ้นที่ยืนเหนือราคา IPO ได้เพียง 10 บริษัท และอีก 27 บริษัท ราคาอยู่ระดับต่ำกว่า IPO ซึ่งสาเหตุเกิดจากความไม่เชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทย ทั้งกรณีของ นักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุนหุ้นไทย รวมไปถึงความเชื่อมั่นผู้บริหารบริษัทในตลาดหุ้นไทยที่มีทั้งกรณีพบความไม่โปร่งใส หรือแม้แต่ด้านสภาพคล่องทางการเงิน โดยเฉพาะที่เกิดกับ JKN ซึ่งมีธุรกิจใกล้เคียงกันก็อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจเข้าลงทุน

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ที่มา : SET , SEC
ติดตาม Business+ ได้ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS