‘Meta’ ถูกสั่งปรับกว่า 400 ล้านดอลลาร์ เหตุบังคับผู้ใช้ยอมรับโฆษณาแบบตรงเป้าหมาย

ข้อมูลส่วนบุคคล ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นการทำอะไรก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสื่อออนไลน์ที่หากข้อมูลส่วนบุคคลถูกเข้าถึงได้ง่ายมากเกินไป จะยิ่งส่งผลเสียต่อผู้คนมากขึ้น ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคลเจ้าของข้อมูลเอง หรือผู้ให้บริการต่างก็ควรให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการเป็นอันดับแรก ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงการปกป้องข้อมูลของผู้ใช้บริการจากบุคคลที่ 3 เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการที่ผู้ให้บริการจะเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นอาจจะเจอกับค่าปรับจำนวนมหาศาลดังเช่น ‘Meta’ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่าง ‘Facebook’ และ ‘Instagram’

 

โดยหน่วยงานกํากับดูแลความเป็นส่วนตัวของไอร์แลนด์ (DPC) ซึ่งเป็นหน่วยงานกํากับดูแลหลักของ ‘Meta’ และยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอื่น ๆ ของอเมริกา ที่มีสํานักงานใหญ่ในไอร์แลนด์ ระบุว่า การโฆษณาและการประมวลผลข้อมูลของบริษัท ‘Meta’ ละเมิดกฎหมายความเป็นส่วนตัวของสหภาพยุโรป ดังนั้นจึงถูกปรับ 2 รายการ รวมเป็นเงินมากกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลไอร์แลนด์กล่าวว่า ‘Meta’ ควรได้รับคำสั่งให้จ่ายค่าปรับ 2 รายการ ได้แก่ 1. ค่าปรับ 210 ล้านยูโร (222.5 ล้านดอลลาร์) จากการละเมิดกฎระเบียบการคุ้มครองข้อมูลทั่วไปของสหภาพยุโรป หรือ GDPR และ 2. ค่าปรับ 180 ล้านยูโร ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดกฎหมายเดียวกันโดย ‘Instagram’ คิดเป็นค่าปรับรวม 390 ล้านยูโร (414 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

 

ทั้งนี้ ค่าปรับเหล่านี้ถือเป็นจุดสิ้นสุดของการสอบสวนที่ยาวนาน 2 ครั้งของ ‘Meta’ ที่ดําเนินการโดยหน่วยงานกํากับดูแลของไอร์แลนด์ถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความล่าช้าในกระบวนการของ ‘DPC’ ซึ่งเริ่มดำเนินการตรวจสอบ ‘Meta’ ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2018 ซึ่งเป็นวันที่ GDPR ของสหภาพยุโรปมีผลบังคับใช้

 

โดยกฎระเบียบการคุ้มครองข้อมูลทั่วไปของสหภาพยุโรป (GDPR) กำหนดข้อกำหนดที่เข้มงวดสำหรับบริษัทเกี่ยวกับการประมวลผลข้อมูลของผู้คน ซึ่งบริษัทที่ฝ่าฝืนกฎมีความเสี่ยงที่จะถูกลงโทษสูงถึง 4% ของรายได้ต่อปีทั่วโลก

 

ในการพิจารณาคดีวันพุธที่ผ่านมา ‘DPC’ กล่าวว่า ‘Meta’ จะต้องทำให้การดำเนินการประมวลผลข้อมูลเป็นไปตามข้อกำหนดภายใน 3 เดือน

 

ด้าน ‘Meta’ กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ระบุว่า บริษัทฯ มีแผนที่จะอุทธรณ์คำตัดสิน เนื่องจากมองว่าคำตัดสินดังกล่าวไม่ถือเป็นการห้ามโฆษณาส่วนบุคคล และธุรกิจสามารถใช้แพลตฟอร์มของ ‘Meta’ ต่อไป เพื่อกำหนดเป้าหมายผู้ใช้ด้วยโฆษณาได้

 

“มันไม่ถูกต้องที่ Meta ไม่สามารถนำเสนอโฆษณาที่ปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคลทั่วยุโรปได้อีกต่อไป เว้นแต่จะมีการขอข้อตกลงของผู้ใช้แต่ละรายเสียก่อน การขาดการกำกับดูแลที่ชัดเจนระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลและผู้กำหนดนโยบายในเรื่องนี้ และในบางกรณีมีการถกเถียงกันว่าพื้นฐานทางกฎหมายใดที่เหมาะสมที่สุด นั่นเป็นเหตุผลที่เราคัดค้านอย่างรุนแรงต่อคำตัดสินขั้นสุดท้ายของ DPC และเชื่อว่าลักษณะของบริการของเรา เราปฏิบัติตาม GDPR อย่างเต็มที่ โดยอาศัยความจำเป็นตามสัญญาของการโฆษณาเชิงพฤติกรรม ด้วยเหตุนี้ เราจะยื่นอุทธรณ์เนื้อหาของคำตัดสินนี้” โฆษกของ ‘Meta’ กล่าว

 

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ‘Meta’ อาศัยความยินยอมของผู้ใช้ในการประมวลผลข้อมูลของพวกเขาเพื่อใช้ในการโฆษณาเชิงพฤติกรรม อย่างไรก็ตามหลังจาก GDPR มีผลบังคับใช้ บริษัทฯ ได้เปลี่ยนข้อกำหนดในการให้บริการสำหรับ ‘Facebook’ และ ‘Instagram’ และเปลี่ยนพื้นฐานทางกฎหมายสำหรับการประมวลผลข้อมูลเป็น ‘ความจำเป็นตามสัญญา’

 

ที่มา : CNBC

 

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

 

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #Meta #Facebook #Instagram #ข้อมูลส่วนบุคคล #Privacy