‘Major Cineplex’ ผู้นำนวัตกรรมความบันเทิงล้ำสมัย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการชมภาพยนตร์

หากจะพูดถึงผู้นำความบันเทิงนอกบ้าน ‘Major Cineplex’ คงเป็นชื่อแรก ๆ ที่ผู้คนต่างนึกถึง เพราะนอกจากจะเป็นผู้ให้บริการด้านโรงภาพยนตร์ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกแบบครบครันแล้ว ยังมีความโดดเด่นในด้านการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มานำเสนอให้ผู้บริโภคอยู่เสมอ

 

คุณนรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงผลิตภัณฑ์ที่ผลักดันให้ ‘Major Cineplex’ มีความโดดเด่นจนคว้ารางวัล PRODUCT OF THE YEAR AWARDS 2022 กลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและสันทนาการ ประเภทโรงภาพยนตร์ ไปครอง ซึ่งประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ได้แก่

 

  1. M Pass ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ในด้านไลฟ์สไตล์ลูกค้าในลักษณะของการสมัครสมาชิก ด้วย ณ ปัจจุบัน ผู้บริโภคค่อนข้างจะเพลิดเพลินกับไลฟ์สไตล์ในรูปแบบของการสมัครสมาชิกโดยชำระค่าบริการเป็นรายเดือน จึงเป็นที่มาของผลิตภัณฑ์ M Pass โดยหากลูกค้าเป็นนักเรียน-นักศึกษา จะมีค่าบริการเริ่มต้นอยู่ที่เดือนละ 200 บาท ซึ่งสามารถชมภาพยนตร์ได้ทุกเรื่อง โดยในปัจจุบันมีจำนวนสมาชิก M Pass อยู่ที่ประมาณเกือบ 200,000 ราย และตั้งเป้าว่าในปี 2566 จะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นมาที่ 500,000 ราย

 

“ความสบายใจของลูกค้าก็คือจ่ายรายเดือนทุก ๆ เดือน และสามารถดูหนังได้ทุกเรื่อง ซึ่ง M Pass ถือว่าตอบโจทย์ผู้บริโภคมาก เนื่องจากผู้ที่ถือบัตร M Pass ก็จะดูหนังเยอะ อย่างน้อยโดยเฉลี่ยก็เดือนหนึ่งประมาณ 2-3 เรื่อง เขาก็จะมีการพูดคุยกับเพื่อน ๆ เรื่องหนังค่อนข้างเยอะ ก็ทำให้กลุ่มเพื่อนหรือวัยรุ่นพูดคุยเรื่องหนังกันตลอดเวลา ซึ่งวัฒนธรรมเรื่องหนังก็จะทำให้เกิดเป็นการสนทนาในสังคมโซเชียลมีเดีย ในโลกออนไลน์ และจะผลักดันให้ Movie Culture เติบโตมากขึ้นไปด้วย”

 

  1. Mobile First คือบริการที่ลูกค้าสามารถซื้อตั๋วชมภาพยนตร์และเลือกที่นั่งผ่านโทรศัพท์มือถือ และปรินต์ตั๋วได้ด้วยตนเอง หรือใช้เป็น Smart Ticket ผ่านเครื่องอ่าน QR Code ซึ่งลูกค้าสามารถเดินเข้าโรงภาพยนตร์ได้เลยแทนการซื้อผ่าน Box Office เนื่องจากปัจจุบันมีผู้คนใช้โทรศัพท์มือถือในการซื้อตั๋วภาพยนตร์ 35% ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่ค่อนข้างสูง และมีอัตราการเติบโตที่ดีมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาแบบก้าวกระโดดจากเดิม 9%

 

โดยในปี 2566 ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 95% ใน 24 สาขาเรือธงของ Major Cineplex ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 คือทำให้ลูกค้าสามารถซื้อตั๋วผ่านโทรศัพท์มือถืออย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะมี features ใหม่ ๆ รวมถึงมีเรื่องของ Movie Culture ใหม่ ๆ เข้ามาอยู่ในแอปพลิเคชันมากขึ้น

 

“ในวันนี้เรามุ่งสู่ขั้นต่อไปจาก Cashless Cinema คือ Mobile First โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เราได้เปิดตัวในส่วนของ Cashless Cinema ไปแล้ว คือการที่ลูกค้าไม่จำเป็นต้องใช้เงินสด โดยสามารถใช้บัตรเครดิต, QR Code หรือช่องทางอื่น ๆ ได้ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ล่าสุด 95% ของลูกค้า Major ไม่ใช้เงินสดในการซื้อตั๋วภาพยนตร์ ถือว่าเป็น Key Success ของเราเลย เราสามารถต่อยอด Personalization จาก Database ของพฤติกรรมลูกค้าที่ซื้อ Cashless กับเราได้มากขึ้น เพื่อนำเสนอ Personalized Offer ให้โดนใจลูกค้ามากขึ้น

 

และนอกจากนี้ Mobile First จะช่วยในการหมุนเวียนเปลี่ยนงานในส่วนของพนักงาน จากเดิมที่มีพนักงานจำหน่ายตั๋วและพนักงานตรวจสอบตรงทางเข้าโรงภาพยนตร์ ก็จะนำพนักงานทั้งหมดไปเป็นพนักงาน Service แทน ซึ่งจะไปอยู่ในส่วนของ VIP Lounge และในส่วนของการดูแลลูกค้ามากขึ้น ซึ่งจะตอบโจทย์ในแง่ของบริษัทที่จะโฟกัสเรื่อง Customer Happiness ด้วย”

 

  1. ธุรกิจป๊อปคอร์น Major Cineplex ประสบความสำเร็จในส่วนของธุรกิจป๊อปคอร์นเป็นอย่างมาก โดยในช่วง COVID-19 มีลูกค้าสั่งซื้อป๊อปคอร์นไปรับประทานที่บ้านค่อนข้างมาก ทั้งนี้ ณ ปัจจุบัน รายได้จากป๊อปคอร์นเฉพาะที่จำหน่ายนอกโรงภาพยนตร์ หรือที่เรียกว่า Popcorn Out Of cinema ซึ่งไม่รวมในส่วนที่จำหน่ายในโรงภาพยนตร์ มียอดขายอยู่ที่เดือนละประมาณ 50 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งมั่นใจว่าจะมียอดขายในส่วนนี้อยู่ที่ประมาณ 600 ล้านบาทต่อปี

 

โดย Popcorn Out Of cinema จำหน่ายผ่านหลายช่องทาง ประกอบด้วย 1. Delivery Platform เช่น Grab, Line Man, Food Panda 2. E-Commerce เช่น Lazada, Shopee 3. Hypermarket และ Convenience Store เช่น Gourmet Market, 7-Eleven, Villa Market เป็นต้น

 

“เชื่อว่าสินค้าของเราจะได้รับความนิยมเป็นขนมขบเคี้ยว ที่เราสามารถจับตลาดขนมขบเคี้ยวซึ่งถือเป็นตลาดที่ค่อนข้างจะใหญ่พอสมควรให้ได้ และอาจจะมีเรื่องของการส่งออกไปต่างประเทศด้วยหลังจากนี้ ซึ่งขณะนี้ Major กำลังปรึกษากับทางผู้จัดจำหน่ายในประเทศไทยที่มีความเก่งในด้านของการส่งสินค้าไปต่างประเทศ เพื่อที่จะเอาป๊อปคอร์นไปขายในต่างประเทศด้วย ซึ่งในส่วนของธุรกิจป๊อปคอร์นมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว”

 

  1. ภาพยนตร์ไทย โดย Major มีการปรับตัวในแง่ของการที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่โรงภาพยนตร์ แต่ยังเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยด้วย โดยตอนนี้ตั้งเป้าว่าจะมีภาพยนตร์ไทยทั้งหมด 20 เรื่องต่อปี ที่นำมาจัดจำหน่าย ซึ่ง Major จะเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายทั้ง 20 เรื่อง จะขายสิทธิ์ให้กับทาง Netflix และหลังจากนั้นก็ขายสิทธิ์ให้กับโรงภาพยนตร์ของต่างประเทศด้วย

 

  1. More Than Just a Cinema เป็นมากกว่าโรงภาพยนตร์ ทาง Major มีการนำเสนอ คอนเทนต์ทางเลือก ที่ไม่ใช่ภาพยนตร์ อย่างเช่นการ Live Streaming งานแสดงสดต่าง ๆ จากต่างประเทศ มาให้ชมในโรงภาพยนตร์จอยักษ์ คมชัดทั้งภาพและเสียง เหมือนเข้าไปอยู่ในสถานที่จริง เช่น คอนเสิร์ตจากเกาหลีใต้, การแข่งขันกีฬา Super Bowl, ฟุตบอล, เทนนิส, งานประกาศผลรางวัลออสการ์, งานประกวด Miss Universe

 

นอกจากนี้ Major Cineplex ยังตอบโจทย์ในเรื่องของเทคโนโลยีให้แก่ลูกค้าได้เป็นอย่างดี โดยการอัปเกรดระบบฉายภาพยนตร์อย่างสม่ำเสมอ โดยล่าสุดได้นำเทคโนโลยีการฉายแบบใหม่ล่าสุดของโลก ที่เรียกว่า IMAX with Laser ซึ่งเป็นระบบการฉายที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งใช้งบลงทุนค่อนข้างสูง มีความโดดเด่นด้วยระบบฉายที่สว่าง คมชัด สมจริง และเป็นระบบ 3 มิติที่ดีที่สุดในโลก โดยจะเริ่มใช้กับเรื่อง Avatar 2 เป็นเรื่องแรก ซึ่งจะทำการอัปเกรดการฉายเป็นระบบใหม่นี้ใน 3 สาขา ได้แก่ Icon CineConic, Paragon Cineplex และ Mega Cineplex นอกจากนี้ยังมีระบบฉายแบบ 3 จอ Screen X แห่งใหม่ล่าสุดที่พารากอน ซีนีเพล็กซ์