Linear TV รอวันตาย TV ออนไลน์กำลังมา

หากย้อนไปซัก 10 ปีก่อน คงไม่มีใครเชื่อว่าบริการ Online Video Streaming จะเข้ามาแทนที่การรับชมโทรทัศน์รูปแบบเดิม (Linear TV) ในอีกไม่กี่ปี เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่มีใครเข้าแข่งยื่นประมูลช่องทีวีดิจิทัลด้วยมูลค่ารวมกันนับหมื่นล้านบาทอย่างแน่นอน

 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมสื่อทีวีดิจิทัลไม่เติบโตอย่างที่ผู้ประกอบการ และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแล ตั้งเป้าหมายไว้ นอกเหนือจากเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เติบโตอย่างรวดเร็วและคุณภาพของคอนเทนต์ที่จะสร้างเรตติ้งให้กับช่องทีวีดิจิทัลแล้ว ต้องยอมรับว่า ความท้าทายที่สำคัญของทีวีดิจิทัล คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีรูปแบบการเสพคอนเทนต์สื่อทีวีต่างจากอดีต

 

รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีในการนำเสนอสื่อผ่านหลากหลายแพลตฟอร์มในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะการเสพคอนเทนต์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เช่น YouTube, LineTV และ Netflix เป็นต้น เพราะสามารถดูได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ถูกจำกัดด้วยผังรายกาย ทำให้ปัจจุบันมีการรับชมทีวีรูปแบบสตรีมมิ่งเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเข้ามาแย่งผู้ชมจากหน้าจอทีวี และย่อมส่งผลต่อเรตติ้งและโอกาสการหารายได้ของทีวีดิจิทัลหลังจากนี้

 

แน่นอนว่า ทีวีดิจิทัลหลาย ๆ ช่องได้พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ของตนเอง เพื่อขยายฐานคนดู เช่น ช่อง 7 มีช่องออนไลน์คือ BUGABOO ส่วนช่อง MONO มี MONOMAX ขณะที่ช่อง 3 มี Mello เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการปรับตัวรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคสื่อออนไลน์ครองเมืองนั่นเอง

 

แม้ว่าในขณะนี้คนไทยอาจจะยังไม่ถึงขั้นเลิกติดตามรายการทีวีในรูปแบบเดิม แต่ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่อุตสาหกรรทีวีดิจิทัลไทยจะเดินตามอุตสาหกรรมทีวีในสหรัฐฯ ซึ่งในปัจจุบันบริการ Online Video Streaming ในสหรัฐฯ ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง สวนทางกับธุรกิจเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมที่ยอดผู้ชมลดลงอย่างต่อเนื่อง จากในอดีตที่นับว่าเป็นธุรกิจบันเทิงขนาดใหญ่ที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนสูงถึง 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี มีจำนวนสมาชิกกว่า 100 ล้านราย หรือคิดเป็นเกือบ 90% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด

 

แต่เมื่อมีบริการ Online Video Streaming จากผู้เล่นอย่าง Netflix, Hulu และ Amazon Prime ส่งผลให้ธุรกิจ Pay TV ทั้งเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมในสหรัฐฯ เริ่มเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับบริการรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง โดย Statista ประเมินว่า จำนวนผู้ใช้บริการจะลดลงจาก 99.4 ล้านครัวเรือนในปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 95 ล้านครัวเรือน ในปี 2563 และในจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 40% ระบุว่าบริการ Online Video Streaming มีราคาถูกและใช้บริการได้ง่ายกว่า โดยมีอัตราค่าสมาชิกรายเดือนเฉลี่ยราว 8-10 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถูกกว่าการสมัครสมาชิกเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมอย่างน้อย 8 เท่า

 

จากกรณีศึกษาอุตสาหกรรมทีวีในสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นว่า ในปัจจุบันบริการ Online Video Streaming โดดเด่นกว่าการรับชมทีวีแบบดั้งเดิม ทั้งในด้านความสะดวกในการรับชม สามารถใช้บริการได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านอุปกรณ์ชนิดใดก็ได้ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ และสมาร์ตทีวีความหลากหลายของเนื้อหา และความสามารถในการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิวัติสื่อครั้งยิ่งใหญ่ในสหรัฐฯ ที่ท้าทายอุตสาหกรรมสื่อแบบเดิม ๆ อย่างมาก

 

และเมื่อย้อนกลับมาดูตลาด Online Video Streaming ในประเทศไทย จะพบว่าฐานผู้ชมซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดย Iflix ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการ Online Video Streaming ให้บริการอยู่ใน 28 ประเทศ และปัจจุบันมีผู้ใช้บริการถึง 15 ล้านราย เปิดเผยว่า ฐานผู้ชมส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ช่วงอายุ 25-34 ปี และ 18-24 ปี คิดเป็นสัดส่วน 34% และ 33% ตามลำดับ ในขณะที่เด็กวัยรุ่น (ไม่เกินอายุ 18 ปี) มีสัดส่วน 12% กลุ่มผู้ใหญ่อายุ 45-54 ปี และอายุ 53-64 ปี คิดเป็นสัดส่วน 5% และ 2% ตามลำดับ

โดยสมาชิกใช้เวลารับชมคอนเทนต์ Iflix โดยเฉลี่ยวันละ 124 นาที หรือคิดเป็น 2.5 วัน/สัปดาห์ โดยช่วงที่เสพสื่อคอนเทนต์มากที่สุดคือเวลา 21.00-01.00 น. สำหรับแพลตฟอร์มการเข้าถึงคอนเทนต์ ผ่านอุปกรณ์โมบายมากที่สุดคือ 69% รองลงมาคือผ่านเว็บ 20% และผ่านทีวี 11%

 

แม้ว่าขณะนี้ บริการ Online Video Streaming ในประเทศไทยจะอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่นับว่าสร้างแรงกระเพื่อมให้กับอุตสาหกรรมทีวีในรูปแบบดั้งเดิมพอสมควร ทั้งในแง่ของการแข่งขันทางธุรกิจเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด การผลิตคอนเทนต์ การพัฒนาเทคโนโลยี และคุณภาพของการให้บริการ และเชื่อว่าอีกไม่นานบริการนี้จะเติบโตและกินส่วนแบ่งจากทีวีแบบดั้งเดิมได้มากขึ้นอย่างแน่นอน

 

เพราะสิ่งที่ผู้ชมจะได้รับที่เหนือกว่าทีวีปกติทั่วไป คือ คอนเทนต์ที่ตรงกับความต้องการของตนเองและสามารถดูได้ทุกที่ทุกเวลา แบบไม่มีโฆษณาคั่นให้เสียอารมณ์ และที่สำคัญยังมีผู้เล่นรายใหญ่จากต่างชาติที่ยังซุ่มรอเข้ามาทำตลอดในอนาคตอีกหลายราย หากผู้ประกอบการไทยทั้ง Pay TV และ Free TV รวมไปถึงผู้ผลิตรายการ ถ้าไม่รีบปรับตัว ในอนาคตอันใกล้อาจจะกลายเป็นเหมือนธุรกิจร้านเช่าวิดีโอก็ได้