Layoff

ทำไมบริษัทเทคโนโลยีถึงแห่ Layoff พนักงาน? แม้ทั่วโลกยังขาดแคลนบุคลากรด้าน IT

นับตั้งแต่เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็ทำให้อาชีพในสายงาน Tech/IT เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานเป็นอย่างมาก จนเกิดภาวะขาดแคลนบุคลากรด้าน IT ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าในปี 2566 ทั่วโลกจะเผชิญกับปัญหาขาดแคลนบุคลากร IT มากกว่า 2 ล้านตำแหน่ง (อ้างอิง : เอ็กซ์พีริส บริษัทในเครือแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย)

และภาวะขาดแคลนบุคลากรนี้ทำให้อาชีพ IT กลายเป็นอาชีพที่มีค่าจ้างต่อเดือนสูงมาก โดยพบข้อมูลของประเทศไทยว่าในปี 2565 สายงานด้าน Tech/IT การธนาคารและการเงิน, โทรคมนาคม เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับรับการเสนออัตราเงินเดือนสุงสุด และเป็นสายงานที่ได้รับการปรับเงินเดือนสูงที่สุด มากถึง 41% (อ้างอิง JobsDB)

แต่ถึงแม้ความต้องการบุคลากรด้าน IT จะสูงมาก และให้ค่าตอบแทนสูง แต่ในช่วงปลายปี 2565 มาจนถึงไตรมาส 1 ของปี 2566 เรากลับได้เห็นข่าวการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก (Layoff) ของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกหลายราย จนทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า ถ้าตลาดขาดแคลนบุคลากรด้าน IT แล้วทำไมบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่จากทั่วโลกถึงได้เลิกจ้างพนักงานกันเป็นจำนวนมาก?

โดยรายงานของบริษัทจัดหางานอย่าง Challenger, Gray & Christmas ระบุว่า ภาคส่วนเทคโนโลยีกลายเป็นอุตสาหกรรมที่เลิกจ้างมากที่สุดในปี 2565 โดยได้เลิกจ้างพนักงานไปกว่า 97,000 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2021 ถึง 649% หรือมากถึง 6 เท่าตัวทีเดียว หลังจากการเพิ่มจำนวนพนักงานเป็น 3 เท่าในช่วงเริ่มต้นของการเผชิญวิกฤตโรคระบาด

‘Business+’ ได้สำรวจและรวบรวมข้อมูลการเลิกจ้างพนักงานของบริษัทเทคโนโลยีตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 จนถึงต้นปี 2566 ไล่เรียงมาตั้งแต่ Twitter แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่ได้ปรับลดพนักงานจำนวนไปจำนวน 3,700 ตำแหน่ง หรือคิดเป็น 50%ของพนักงานทั้งหมด ตามมาด้วย Meta บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ผู้ให้บริการ Facebook ได้ปลดพนักงานไปกว่า 11,000 คน หรือคิดเป็น 13% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2565

ต่อมาเป็นคิวของ Amazon หนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา เจ้าของธุรกิจ E-Commerce และให้บริการด้านซอฟแวร์ ได้ประกาศแผนปลดพนักงานกว่า 18,000 ตำแหน่ง เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 ตามมาด้วย Microsoft ที่ได้ประกาศออกมาช่วงกลางเดือนมกราคมเช่นเดียวกัน ว่ามีแผนที่จะปรับลดพนักงานจำนวน 10,000 คน คิดเป็นเกือบ 5% ของพนักงานทั้งหมด และภายในเดือนมกราคม ยังมีเจ้าใหญ่อีกรายคือ Alphabet Inc. บริษัทแม่ของ Google ที่ได้ออกมาประกาศเลิกจ้างงานประมาณ 12,000 ตำแหน่ง คิดเป็น 6% ของจำนวนพนักงานทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีบริษัท Philips ผู้นำด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสุขภาพจากเนเธอร์แลนด์ ประกาศการเลิกจ้างพนักงานในปีนี้ ด้วยจำนวนที่มากถึง 6,000 คน หรือคิดเป็น 13% ของพนักงานทั้งหมด

หลังจากนั้นไม่กี่วัน Paypal บริษัทชำระเงินออนไลน์ ก็ประกาศลดประมาณ 2,000 ตำแหน่ง คิดเป็น 7% ของพนักงานทั่วโลก และยังมีบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอีกมากมายที่ประกาศเลิกจ้างพนักงานออกมาในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 เช่น Zoom เจ้าของการให้บริการโปรแกรมสำหรับการประชุมที่มีแผนลดจำนวนพนักงานประมาณ 15% หรือพนักงานกว่า 1,300 ตำแหน่ง รวมไปถึง Dell Technologies ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ ประกาศลดพนักงานประมาณ 6,650 ตำแหน่ง

โดย ‘Business+’ มองว่า การเลิกจ้างพนักงานของบริษัทเหล่านี้มีสาเหตุหลักๆ อยู่ 3 สาเหตุหลักๆ สาเหตุแรก คือ ในช่วง COVID-19 ทั่วโลกมีความต้องการใช้งานเทคโนโลยีจำนวนมากจนทำให้บริษัทเหล่านี้จำเป็นต้องพัฒนา หรือ สร้างระบบใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการด้านดิจิทัล จึงได้มีการจ้างบุคลากรด้าน IT เพิ่มขึ้นจำนวนมาก

ยกตัวอย่าง การจ้างงานของ Google ในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่พนักงานได้เพิ่มขึ้นจาก 119,000 คน ในช่วงปลายปี 2562 ขึ้นมาเป็นเกือบ 187,000 คนเมื่อปลายปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย คนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่เศรษฐกิจยังคงชะลอตัว เพราะมีอีกหลายสาเหตุเช่น ต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น และภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้อำนาจเงินของผู้บริโภคด้อยค่าลง นอกจากนี้การเติบโตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีก็เริ่มชะลอตัว  เนื่องจากพฤติกรรมของผู้คนกำลังเปลี่ยนกลับไปเป็นแบบเดิม และยังต้องเผชิญกับสภาวะการแข่งขันที่สูงมาก จึงกลายเป็นตัวกดดันผลประกอบการของบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายจนต้องหันมาใช้กลยุทธ์ลดต้นทุน และเพิ่มความสามารถในการทำกำไรด้วยการหยุดจ้างงาน และปรับลดพนักงานลง

สาเหตุที่สอง คือ ธรรมชาติของกรอบการสร้าง หรือพัฒนาโปรเจคต่างๆ ของบริษัทด้านเทคโนโลยีจะใช้คนจำนวนมากแค่เฉพาะช่วงการออกแบบ การสร้าง และการพัฒนา ซึ่งจะประกอบไปด้วยสายงานหลายด้าน เช่น Project Manager, Product owner, software analysis,Developer, Tester, Quality assurance และอื่นๆ อีกมากมาย โดยแต่ละโปรเจคจะมีกรอบการทำงานที่สั้น เพราะถูกบีบด้วยเทคโนโลยีที่นำมาใช้กับฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากสร้างหรือพัฒนาช้าจะทำให้ไม่สามารถตอบสนองตลาดได้อย่างทันท่วงที และยิ่งใช้เวลาสร้างนานก็ยิ่งมีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งธรรมชาติของธุรกิจนี้ทำให้ช่วงแรกของการสร้าง และพัฒนา จะใช้บุคลากรจำนวนมาก ทำให้มีการจ้างงานค่อนข้างสูง แต่เมื่อพัฒนาหรือสร้างเสร็จจะกลายเป็นช่วงการซ่อมบำรุง (Maintenance)

โดยที่กระบวนการ Maintenance นี้ไม่จำเป็นต้องใช้คนจำนวนมากอีกแล้วจะเหลือเพียงตำแหน่งที่จำเป็นเท่านั้น จึงทำให้ในบางบริษัทเลือกที่จะจ้างเป็นบางบริษัทเลือกที่จะจ้างบริษัท Outsource แต่ถ้าหากบริษัทใดที่มีการจ้างงานประจำและกำลังเผชิญกับผลประกอบการที่ขาดทุน ก็อาจจำเป็นต้องปลดพนักงานออกไม่เว้นแม้แต่พนักงาน IT ที่มีความสามารถสูง เพราะตำแหน่งงานเหล่านี้ล้วนมีค่าจ้างที่สูงตามไปด้วย หลายบริษัทจึงเลือกที่จะเหลือพนักงานระดับ Senior ไว้เพียงไม่กี่คน และจ้างงานคนใหม่ที่มีค่าจ้างไม่สูงมากนัก มาทำในส่วนงานที่เป็นการ Maintenance

สาเหตุที่ 3 คือ การพัฒนาโปรเจคด้าน IT ต่าง ๆ ส่วนใหญ่องค์กรจะมีการกำหนดงบประมาณที่ชัดเจน และใช้งบประมาณจำนวนมากในการพัฒนาแต่ละครั้ง ทำให้หลายองค์กรต้องตรวจสอบความคุ้มค่า และวัดผลสำเร็จอย่างเข้มงวด หากโปรเจคที่ทำไม่คุ้มค่า หรือสูญเปล่า ไม่ได้สร้างผลประกอบการ หรือประสิทธิภาพให้องค์กรแบบวัดผลได้ โปรเจคต่อไปก็จะถูกคุมงบประมาณให้น้อยลง หรืออาจจะไม่ส่งเสริมให้มีการสร้างโปรเจคต่อไป และส่งผลต่อจำนวนการจ้างงานบุคลากร IT ที่น้อยลงได้เช่นเดียวกัน

ทั้ง 3 เหตุผลนี้เพียงพอที่จะทำให้เราได้เห็นการปลดพนักงานของบริษัทเทคโนโลยีเป็นจำนวนมากหลัง COVID-19 โดยเพียงแค่ไม่กี่เดือนแรกของปี 2566 ก็ทำให้เกิดจากเลิกจ้างงานเกือบ 1 แสนราย เมื่อเทียบกับทั้งปี 2022 ที่มียอดเลิกจ้างพนักงานรวม 159,786 คน

สำหรับการจ้างงานของประเทศไทยแล้ว ถึงแม้ว่า ‘แมนพาวเวอร์กรุ๊ป’ ผู้เชี่ยวชาญด้าน HR Solution อันดับ 1 ของสหรัฐอเมริกา จะเปิดเผยข้อมูลว่า ปัจจุบันสายงานที่หาบุคลากรยากที่สุดในประเทศไทย คือ สายงาน IT เนื่องจากมีนักศึกษาเข้าเรียนในสายไอทีเพียงปีละ 16,000-20,000 คน เรียนจบการศึกษาจริงเพียงปีละ 8,000 คนก็ตาม แต่เรามองว่าคนในอาชีพนี้ก็มีโอกาสที่จะถูกปลดฟ้าผ่าได้เช่นเดียวกัน หากเลือกเข้าทำงานในองค์กรที่ไม่ได้มีการวางแผนการจ้างคนที่ดีตั้งแต่ต้น หรือแม้กระทั่งกับบริษัทที่ผลประกอบการเริ่มย่ำแย่

ดังนั้น สิ่งที่สายอาชีพนี้จะสามารถวางแผนเพื่อรับมือได้ คือการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อก้าวทันเทคโนโลยีซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เพราะถึงแม้จะบอกว่าสาย IT เป็นสายที่มีความต้องการตัวสูงก็ตาม แต่ความสามารถด้าน IT มีหลากหลาย และไม่ใช่ทั้งหมดที่ตรงกับความต้องการของนายจ้าง

ส่วนผู้ประกอบการด้าน IT หรือ เทคโนโลยีต่างๆ นั้น ถึงแม้ว่าการปลดพนักงานจะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มความสามารถในการทำกำไรได้สูงขึ้นก็จริง แต่ต้องแลกมาด้วยชื่อเสียง และผลกระทบต่อความรู้สึกของพนักงาน และคนที่จะเข้ามาร่วมงานในอนาคต ดังนั้น บริษัทจึงควรกำหนดกรอบการทำงานให้ชัดเจน เช่น ทำสัญญาจ้างแบบกำหนดระยะเวลาชัดเจน รวมไปถึงควบคุมการจ้างงานพนักงานประจำให้อยู่ในระดับที่สมดุลอยู่เสมอ