โจนส์สลัด รอวันเติบใหญ่

ในตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพ นับเฉพาะร้านที่ขายผักสลัดมี 3 แบรนด์ใหญ่ ๆ คือ โอ้กะจู๋ สลัดแฟคเทอรี่ และโจนส์สลัด โดย 2 แบรนด์แรกมีพันธมิตรเข้าร่วมหุ้นไปแล้ว ถามว่าโอกาสของแบรนด์โจนส์สลัดมีไหมกับการร่วมหุ้นกับพันธมิตร คำตอบคือ มีแน่นอน

นั่นเพราะเชิงโครงสร้างธุรกิจของโจรสลัด ซึ่งจดทะเบียนในนาม บริษัท โจนส์สลัด จำกัด ด้วยทุน 23 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกดำเนินกิจการขายอาหารเพื่อสุขภาพในชื่อร้านโจนส์สลัด และบริษัท โจนส์สลัด มีเดีย จำกัด รับทำโฆษณาออนไลน์ในเฟซบุ๊ก เพจ Jones Salad ซึ่งปัจจุบัน ‘อาริยะ คำภิโล’ ผู้ร่วมก่อตั้ง บอกว่าเพจ Jones Salad ปัจจุบันมีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน หมายความว่า โจนส์สลัดกำลังรอวันเติบใหญ่ ทั้งแผนธุรกิจ 2 ส่วน

Key Success Factor อยู่ในจุดไหน เคล็ดลับคืออะไร ที่มองว่า โจนส์สลัดกำลังรอวันเติบใหญ่

คุณอาริยะ บอกกับเราว่า ปัจจุบันร้านโจนส์สลัดได้ขยายไปมากกว่า 23 สาขา และเราขอขอบคุณลูกค้าทุกท่านที่คอยสนับสนุน ติชม เพื่อให้เราได้พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ โดยเราสัญญาว่า “เราจะส่งมอบสุขภาพที่ดีไปสู่ผู้คนให้มากขึ้นไปเรื่อย ๆ สู่ความฝันที่ให้คนได้กินผักวันละชาม และมีสุขภาพที่แข็งแรงกันอย่างถ้วนหน้า

แน่นอนว่า ธุรกิจที่เกิดจาก Passion ได้ส่งผลให้ปีที่ผ่านมา ร้านโจนส์สลัด มีการขยายสาขานอกห้างสรรพสินค้ามากยิ่งขึ้น และได้รับการตอบรับที่ดีอย่างมาก นอกจากนี้เรายังมีสินค้าใหม่ เช่น Wrap Salad ที่เป็นการเอาสลัดทั้งชามมาม้วนไว้ในแรป ช่วยให้ลูกค้าสามารถทานสลัดที่อร่อยด้วยความสะดวกและรวดเร็ว

ส่งผลทำให้สถานะการเงินของบริษัทฯ เติบโตมากขึ้นไปด้วย โดยปี 2565 บริษัทฯ มียอดขาย 254,791,234 บาท ส่วนปี 2566 (ม.ค.-ก.ย) บริษัทฯ มียอดขาย 258,970,799  บาท และมีกำไรไปแล้ว 9,332,548  บาท โดยประมาณการปี 2566 ว่า บริษัทฯ จะมียอดขาย 342,700,000  บาท และมีกำไร 14,000,000  บาท

ยอดขายที่ถูกประมาณการเพิ่มขึ้น และมีกำไรจำนวนมาก คุณอาริยะ ย้ำว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้มีร้านอาหารสุขภาพเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่เราได้วางกลยุทธ์ที่จะเป็น Key Success ที่ยั่งยืนในตลาดที่จะมีการแข่งขันสูงขึ้นด้วย 3 key หลักคือ เร็วกว่า คุ้มกว่า อร่อยกว่า

เร็วกว่าได้ยังไง? คำตอบคือ 1. Technology & Central kitchen (90% ของเมนู ไม่ต้องผ่านเตา) 2. Professional staff โดยขั้นตอนการทำงานที่เป็นระบบและง่าย ทำให้พนักงานมีความชำนาญ และ 3. Kitchen Layout จำนวนเมนูที่ไม่มาก และการออกแบบครัวเพื่อความสะดวกในการทำงานของพนักงานในแต่ละเมนูช่วยเพิ่มความเร็วในการทำงานได้มาก

คุ้มค่ากว่าได้ยังไง? คำตอบคือ ราคาไม่แพง เพื่อเน้นขายต่อหน่วยในปริมาณมาก ๆ โดยที่เรายังเสนอให้คุณค่าในมุมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่ราคา

ส่วนประเด็น Multi-Function Staff โดยพนักงานสามารถทำงานได้หลายอย่าง ไม่ต้องจ้างจำนวนเยอะเกินไป จึงลดค่าแรงได้ ซึ่งส่งผลต่อค่าอาหาร โดยระบบบริหารจัดการวัตถุดิบตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น ฝ่ายจัดซื้อต้องคอยหาและต่อรองราคาวัตถุดิบให้ได้ราคาที่เหมาะสมตลอดเวลา ไปจนถึงขั้นตอนในการจัดเตรียมสินค้า เพื่อลดขั้นตอนหน้าร้าน เป็นต้น

“โจนส์สลัด เราเป็นองค์กรที่มีการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองตลอดเวลา โดยสมัยก่อนแค่น้ำสลัดที่อร่อย เราก็ขายได้แล้ว แต่เดี๋ยวนี้ลูกค้าต้องการมากกว่านั้น ลูกค้าต้องการหน้าตาอาหารที่สวยงามน่ากิน คุ้มค่า และการตลาดที่น่าสนใจในสื่อออนไลน์ช่วยให้ลูกค้าใหม่ ๆ อยากมาลองสินค้าของเรา เราก็ต้องเต็มที่”

แน่นอนว่าเรามองถึงแผนงานในอนาคต กับ S-Curve ใหม่ ๆ ไว้บ้างแล้ว อาทิ เรามี mission ที่จะให้โจนส์สลัดเป็น No.1 Healthy Fast Casual restaurant in Thailand โดยตั้งเป้าจะมียอดขายจากร้านโจนส์สลัด 500 ล้านบาท ในปี 2569 และยังมีโปรเจ็กต์ เพื่อต่อยอดธุรกิจใหม่ ๆ เช่น ผงสลัดชงดื่ม ร้านก๋วยเตี๋ยวสมุนตุ๋น เป็นต้น

จากข้อมูลทั้งหมดที่คุณอาริยะบอกมาน้้น แม้ร้านอาหารเพื่อสุขภาพจะแข่งขันสูง และกลยุทธ์ที่ทางร้านโจรสลัดได้เดินตามแผนธุรกิจ เรายังมองว่า เป้าหมายที่วางไว้ จะประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ในกรณี Best Case เราอาจจะได้เห็นยอดขายได้เร็วกว่าที่ประเมินไว้เสียอีก

กับรางวัลธุรกิจด้านสุขภาพแห่งปี บริษัท โจนส์สลัด จำกัด จึงมีความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง

 

เขียนและเรียบเรียง : วิทยา กิจชาญไพบูลย์
ติดตาม Business+ ได้ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS